เมื่อวันที่ 22 ธค. ที่ศาลจังหวัดสงขลา เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน เข้ารายงานตัวต่อศาล กรณีที่จัดกิจกรรมเดินเท้าจากพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เพื่อยื่นหนังสือต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร เมื่อวันที่ 27 พ.ย.60 ทำให้มีผู้บาดเจ็บและถูกจับกุมดำเนินคดี 16 คน ตามนัดและเครือข่ายจะร่วมอ่านแถลงการณ์อุทธรณ์คำสั่งศาลจังหวัดสงขลาที่ให้เลิกการชุมนุม เพื่อโต้แย้งคำสั่งศาลจังหวัดสงขลาที่มีคำสั่งการชุมนุมสาธารณะของเครือข่ายฯเป็นการชุมนุมที่มิชอบด้วยกฎหมาย
นายดิเรก เหมนคร อ่านแถลงการณ์เนื้อหาความว่า เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยนายเอกชัย อิสระทะ ผู้แจ้ง/และจัดการชุมนุมสาธารณะ ได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลจังหวัดสงขลา ที่มีคำสั่งเมื่อวันที่ 27 พ.ย.60 ว่า “การชุมนุมสาธารณะของเครือข่ายฯ เป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและให้เลิกการชุมนุม” เพื่อยืนยันว่าการชุมนุมของเครือข่าย เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายตาม พระราชบัญญัติการชุมนุมแล้ว โดยมีประเด็นในการอุทธรณ์ดังนี้


1.กระบวนการไต่สวนคำร้องขอให้ศาลสั่งให้เลิกการชุมนุมสาธารณะไม่มีการแจ้งคำสั่งเรียกไต่สวนให้ทราบโดยชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ไม่มีโอกาสในการโต้แย้งสิทธิก่อนศาลชั้นต้นออกคำสั่ง 2.การชุมนุมของเครือข่ายฯ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว 3.คำสั่งไม่อนุญาตให้ผ่อนผันการแจ้งการชุมนุมสาธารณะนั้น ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา มีอำนาจเพียงการสั่งไม่อนุญาตให้มีการชุมนุมเดินขบวนก่อนการแจ้งการชุมนุมสาธารณะล่วงหน้าครบ 24 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ไม่อาจสั่งห้ามการชุมนุมสาธารณะที่มิได้มีลักษณะขัดต่อเงื่อนไขกฎหมายได้ เพื่อยืนยันว่ากิจกรรมการเดินเท้าเพื่อเข้ายื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีของเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งได้รับการรับรองและคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาโดยตลอด

เพื่อยืนยันว่ากิจกรรมการเดินเท้าเพื่อเข้ายื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีของเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งได้รับการรับรองและคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาโดยตลอด รวมถึงตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ทั้งนี้เพราะ เสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงออกนั้น เป็นการเปิดโอกาสให้คนทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในนโยบายต่างๆของรัฐโดยการให้ความเห็น ให้ข้อมูล วิพากษ์วิจารณ์ คัดค้านหรือสนับสนุนในประเด็นต่างๆ ซึ่งเสรีภาพในการชุมนุมยังเป็นเสรีภาพที่ทำให้ประชาชนทุกกลุ่มมีพื้นที่อย่างเท่าเทียมในการเรียกร้องเพื่อเข้าถึงสิทธิอื่นๆ อันพึงมีพึงได้ อาทิเช่น สิทธิชุมชน สิทธิในความเป็นอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี เสรีภาพในการชุมนุมจึงถือเป็นเสรีภาพอันสำคัญในระบอบประชาธิปไตย

ด้านเครือข่ายนักวิชาการ 114 คน ร่วมอ่านแถลงการณ์เครือข่ายนักวิชาการยืนเคียงข้างประชาชนเพื่อหยุดโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา “นายประกัน” ให้แก่การต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิชุมชนของพี่น้องประชาชนชาวเทพา โดยดร.อันฌิชา แสงชัย ความว่า การรณรงค์จัดหานายประกันเพิ่มเติมครั้งนี้ สืบเนื่องจากกรณีคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี วิทยาเขตหาดใหญ่ และมหาวิทยาลัยทักษิณ ได้เป็นนายประกันให้แก่พี่น้องประชาชน อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ผู้เดินเท้าไปหานายกฯ ซึ่งในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 มีการสลายการชุมนุมและจับกุมดำเนินคดีชาวเทพา 16 คน ใน 4 ข้อหา ได้แก่ ร่วมกันเดินหรือเดินแห่อันเป็นการกีดขวางการจราจร ปิดกั้นทางหลวง ขัดขวางการจับกุมและทำร้ายเจ้าหน้าที่ และพกพาอาวุธหรือไม้แหลมไปในเมืองหรือทางสาธารณะ
นักวิชาการที่ร่วมกันเป็นนายประกัน

ทั้งนี้ยังมีการระบุว่าอาจจะมีการดำเนินคดีชาวบ้านเพิ่มเติม เพื่อหยุดชาวเทพาไม่ให้เรียกร้องความยุติธรรมแก่ตนเอง ลำคลอง ทะเล หาดทราย ป่าชายเลน ผืนดิน สัตว์น้ำ และอากาศ ซึ่งส่งผลให้เกิดความกังวลใจและทำลายจิตใจที่จะปกป้องธรรมชาติ จากสถานการณ์ดังกล่าวจึงมีการรวบรวมรายชื่อนักวิชาการซึ่งเป็นเครือข่ายทางวิชาการพร้อมกับนักวิชาการภาคใต้ จากทั่วประเทศ 114 คน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ชีววิทยา ทะเล ทรัพยากรป่าไม้ ประมง ด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ด้านพลังงาน ด้านชายฝั่ง ด้านสังคม เช่น ศาสนาและปรัชญา สังคมประชากรและความมั่นคงของมนุษย์ มานุษยวิทยาวัฒนธรรม สังคมวิทยา รัฐศาสตร์การปกครองท้องถิ่น การมีส่วนร่วมในโครงการขนาดใหญ่ ความเป็นธรรมทางสังคม สันติศึกษา ประวัติศาสตร์ และกฎหมาย เศรษฐศาสตร์

โดยเครือข่ายฯ ได้ส่งตัวแทนนักวิชาการ 5 คนลงพื้นที่เข้าพบชาวเทพาและทำการศึกษาในพื้นที่ตั้งโครงการ มีการนำข้อมูลกลับมาประเมิน เพื่อแสวงหาการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหากรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน จากการศึกษาข้อเท็จจริงในพื้นที่ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2560 พบว่าชาวบ้านจำนวนมากยังคงต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดทำลายสิ่งแวดล้อมจากโครงการไฟฟ้าจากถ่านหิน และท่าเรือขนถ่ายหินที่หาดบางหลิง อ.เทพา ทั้งนี้ที่ตั้งของโครงการมีความอุดมสมบูรณ์และมีความสวยงามของธรรมชาติที่ขาดการประเมินทั้งในเชิงคุณค่าและมูลค่า ซึ่งไม่ปรากฏในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA ดังนั้นความพยายามเร่งรัดโครงการมีเหตุผลที่เชื่อถือได้ว่า มีความบกพร่องในการศึกษาผลกระทบอย่างมาก และจะส่งผลเสียหายแก่ชีวิตของธรรมชาติมนุษย์และภูมิทัศน์ อย่างร้ายแรง จนมิอาจฟื้นฟูให้คืนกลับมาเช่นเดิมได้ ยิ่งกว่านั้นมีแนวโน้มว่าคณะรัฐมนตรีจะอนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งเครือข่ายนักวิชาการไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าวและกังวลว่าจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้น ระหว่างผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการและตัวแทนของโครงการ
เราในฐานะตัวแทนนักวิชาการ 114 คน มีข้อกังวลและข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

1. รัฐบาลมีความเร่งรีบในการตัดสินใจท่ามกลางความขัดแย้ง โดยขาดการศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน และมีความบกพร่องทางการศึกษาในเรื่องของความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์และธรรมชาติ ดังนั้นเพื่อความถูกต้องตามทำนองคลองธรรม รัฐบาลควรที่จะใช้เวลาในการศึกษาถึงผลกระทบที่คนในชุมชนเทพาจะได้รับอย่างถี่ถ้วน การที่รัฐบาลเร่งรีบตัดสินใจอาจเกิดให้คนเข้าใจผิดได้ว่ามีรัฐบาลอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน
2. มีการข่มขู่ที่จะดำเนินคดีแก่ชาวเทพาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งไม่ชัดเจนว่าอันเนื่องมาจากความผิดอะไร การข่มขู่อย่างไม่มีที่มาที่ไปอย่างชัดเจน ถือว่าเป็นการข่มขู่ประชาชนผู้บริสุทธิ์อย่างไร้ความเป็นธรรม ทั้งนี้ถือว่ารัฐบาลชุดนี้ขาดธรรมาภิบาลและขาดจริยธรรมในการบริหารประเทศ
3. ความเพิกเฉยของนายกรัฐมนตรี เห็นได้ชัดว่า นายกรัฐมนตรียังคงเพิกเฉยที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็นของชาวเทพา จนมีเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามเข้าดำเนินการที่จะยุติการเดินเท้าของชาวเทพา ซึ่งโดยแท้จริงแล้วเป็นการเดินทางโดยสันติที่ชาวเทพาตั้งใจจะนำเสนอความจริงของพื้นที่ด้วยเจตจำนงค์อย่างสุจริตใจต่อนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันโอชา

ด้วยความตระหนักถึงปัญหาการพยายาม “ปิดเสียง ปิดปาก” คนที่จะพูดแทนธรรมชาติ เครือข่ายนักวิชาการจึงได้มีมติร่วมกันว่าจะพยายามช่วยเหลือประชาชนที่ลุกขึ้นมาปกป้องฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกรณีพี่น้องประชาชนชาวเทพา ด้วยการรวบรวมรายชื่อนักวิชาการเพิ่มมากขึ้นเพื่อช่วยเป็น “นายประกัน” ให้ประชาชนมีขวัญและกำลังใจในการปกป้องฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป นอกจากนี้เครือข่ายฯ จะทำการศึกษาความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ของพื้นที่ตั้งโครงการรวมถึงผลกระทบทางสังคม เพื่อนำเสนอข้อมูลสู่สาธารณชนต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน