แจกอย่างไรให้ถูกด่า

คอลัมน์ ใบตองแห้ง

แจกอย่างไรให้ถูกด่า – ฮาวทูแจก แจกเงินอย่างไรให้ถูกด่า มันน่าฉงน รัฐบาลทั่วโลกแจกเงินประชาชน เขามีแต่ได้คะแนนนิยม แต่ทำไมรัฐบาลประยุทธ์ ใจป้ำแจกห้าพันกลับถูกด่า นี่เป็น case study เลยนะ ทำอะไรก็ไม่ขึ้น

คำตอบง่ายๆ รัฐบาลนี้ไม่รู้จักคำว่า “ถ้วนหน้า” รังเกียจคำว่า “ถ้วนหน้า” พยายามกำหนดโควตาคนที่จะสงเคราะห์ ทั้งที่โควิด 19 กระทบไปหมด ไม่ใช่แค่กิจการที่รัฐสั่งปิด หรืออาชีพที่รัฐกำหนด มันกระทบเป็นลูกโซ่ ทำให้คนตกงานหรือขาดรายได้ทั้งประเทศ

ถ้าย้อนดูวิธีคิดตั้งแต่แรก ก็น่าฉงน คลังเอาตัวเลขมาจากไหนจะช่วย 3 ล้านคน แล้วพอลงทะเบียนล้น ก็ขยายเป็น 9 ล้านคน เป็นวิธีคิดหดได้ยืดได้ตั้ง 3 เท่า

ตอนนั้นประยุทธ์ก็บ่น กฎเกณฑ์ไม่ชัดเจน ไม่รู้ใครได้บ้างไม่ได้บ้าง แหม่ ขนาดท่านผู้นำยังงง แล้วชาวบ้านที่ไหน(วะ)จะเข้าใจ

มันสะท้อนว่าคลังไม่ได้ประเมินสถานการณ์ ไม่ทันความเดือดร้อนที่เป็นจริง พอเห็นคนล้นก็ค่อยขยาย แล้วอธิบายว่า 9 ล้านคนคือแรงงานนอกระบบ เดี๋ยวจะช่วยเกษตรกร 17 ล้านคนอีกขยัก

แต่กลับทำให้คนเดือดพล่าน ด่ากันขรม กับ AI ซึ่งคงไม่ใช่สมองกล แต่เป็นสมองคนในระบบราชการ คนขับแท็กซี่กลายเป็นเกษตรกร แม่ค้าริมฟุตปาธเป็นผู้ประกอบการ ขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างเรียน กศน.กลายเป็นนักศึกษา

ไม่ใช่เรื่องขำนะ เพราะประชาชนโกรธจนฮือบุกกระทรวงการคลัง อย่างไม่เกรงใจโควิด อย่างไม่กลัว พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

อันที่จริง ฟังที่บางคนระบาย ก็ไม่เข้าข่ายได้เงินห้าพัน ทั้งที่เขาเดือดร้อนจริงๆ นั่นแปลว่า “โควตา” ที่คลังกำหนด ไปไม่ถึงคนเดือดร้อนทั้งหมด ยังมีอีกมากที่อยู่นอกระบบ เช่น พนักงานบริการ แรงงานรายวันหาเช้ากินค่ำ

รัฐบาลอาจโทษว่าประเทศนี้ไม่เคยจัดระบบ แต่ทำไมไม่คิดกลับกัน ถ้าแยกแยะไม่ได้ทำไมไม่แจก “ถ้วนหน้า” อย่าง TDRI หรือคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ มธ.เสนอ ซึ่งดัดแปลงได้

นั่นคือแยกข้าราชการรัฐวิสาหกิจออกไป แยกแรงงานในประกันสังคมออกไป (ช่วยต่างหาก) แยกคนอายุต่ำกว่า 18 (หรือ 15) แยกคนอายุเกิน 60 แล้วที่เหลือก็ “แจกถ้วนหน้า” โดยอาจตัดคนรายได้สูงออกตามฐานภาษี เติมเงินผู้สูงอายุชั่วคราว ช่วยค่าดูแลบุตรชั่วคราว

ตัวเลขจะออกมาเกิน 9 ล้าน+เกษตรกร 17 ล้าน ไม่เท่าไหร่ ไม่น่าเกิน 27 ล้านคนไปมากนัก ไม่ถึงกับ “กู้ยันตาย” อย่างที่สมคิดบอกปัด แต่ข้อดีคือช่วยคนจนได้หมด ไม่ตกหล่น บางคนอาจเถียงว่าจะมีคนไม่เดือดร้อนได้ด้วย ก็ใช่ แต่ระบบที่ใช้อยู่นี้ก็มีเหมือนกัน

ให้ย้อนดูอารมณ์ประชาชนที่บุกกระทรวงการคลัง สะท้อนอะไร มันคือการตะโกนว่า “เอาเงินห้าพันของกูมา”

เพราะประชาชนถือว่าเงินห้าพันเป็น “สิทธิ” ที่พึงได้ ทำงานเสียภาษีมาทั้งชีวิต ไม่ว่าทางตรงทางอ้อม ลำบากอย่างนี้รัฐต้องให้ มันไม่ใช่การสงเคราะห์ เมตตา หรือบุญคุณอะไรทั้งนั้น แต่เป็น “สิทธิถ้วนหน้า”

รัฐบาลประเทศต่างๆ เขาคิดอย่างนี้ สิงคโปร์แจกเงินเยียวยาทุกคน 600 ดอลลาร์ ช่วยจ่ายเงินเดือนให้บริษัทเพื่อไม่ให้ปลดคน อเมริกาแจก 1,200 ดอลลาร์ทุกคน ที่รายได้ต่ำกว่า 75,000 ดอลลาร์ต่อปี แถมแจกลูกหัวละ 500 ดอลลาร์

นายกฯ มาเลย์ไลฟ์สด มีแต่คนกดเลิฟ เพราะทั้งพักหนี้ผ่อนรถผ่อนบ้าน ลดค่าไฟ 15-50% ให้เงินเยียวยาคนละ 5,600 บาทนาน 6 เดือน ช่วยครอบครัวรายได้น้อยต่างหาก นักศึกษาให้อยู่หอพักกินข้าวฟรี ฯลฯ

แต่นายกฯ ประเทศไหนนะ มีแต่คนกดโกรธ เอาแต่พูดจาขึงขังยังกับทำรัฐประหาร พูดแต่จะใช้อำนาจเด็ดขาด ปราบคนไม่เชื่อฟัง ประเทศต่างๆ เขาประกาศมาตรการบังคับ หรือฉุกเฉิน เหมือนกันทั้งโลก แต่เวลาผู้นำพูดกับประชาชน เขาต้องใช้วาทศิลป์สร้างภราดรภาพ ดึงความร่วมมือร่วมใจกันฝ่าฟัน ไม่ใช่เอาแต่โทษชาวบ้านไม่รับผิดชอบตัวเอง

ประเทศไทยเยียวยาไม่ถ้วนหน้า ยังไล่ขู่เอาผิด ทำให้คนกลัว ให้คนถอนชื่อ งัดมาทั้ง พ.ร.บ.คอมพ์ แจ้งความเท็จ ด่ารัฐบาลก็จะเอาผิดดูหมิ่นเจ้าพนักงาน

ปัญหามันอยู่ที่วิธีคิด อยู่ในสมอง มองเห็นประชาชนเป็นคนข้างล่าง เป็นผู้รอรับความเมตตา รอการสงเคราะห์ บางทีก็มองเป็นภาระ น่าเบื่อ ไม่ได้มองว่านี่คือสิทธิของประชาชน

เช่นเดียวกับที่มองประชาชนเป็นเด็ก ต้องอบรมสั่งสอน ต้องใช้ไม้เรียว โดยมีคนชั้นกลางระดับบนคนมั่งมี ที่คิดว่าตนเป็นคนดีย์ เป็นคนที่ยังไงก็รอด (ตามทฤษฎีชาร์ลส์ ดาร์วิน) มองรัฐเป็นผู้ปกป้องจากโควิดและคนชั้นล่าง ที่ไม่รู้จักรับผิดชอบต่อสังคม ไม่รับผิดชอบตัวเอง หัดพึ่งตัวเองเสียบ้าง

เพราะอย่างนี้ จึงทำอะไรไม่ขึ้น แจกเงินก็ยังถูกด่า พูดไม่เข้าหูคนแล้วเที่ยวบ่นว่าพูดอะไรก็ถูกบิดเบือน

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน