ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ที่สูงเกิดมาตรฐาน ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และในบางพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ เอง ได้เผชิญปัญหานี้เป็นเวลากว่า 1 เดือน และคาดว่าจะยาวนานจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ แล้วสาเหตุของ PM2.5 นั้นมาจากไหน? เราจะแก้ไขหรือรับมือกับปัญหานี้ได้อย่างไรบ้าง?

รศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำ เนื่องจากน้ำมัน (กปน.) ให้ความรู้ว่าปัญหา PM 2.5 ที่กำลังเผชิญกันอยู่นี้ เกิดจาก 4 สาเหตุ คือ 1. แหล่งกำเนิด 2.สภาพอากาศ 3.สภาพพื้นที่ และ 4.พื้นที่สีเขียว

  1. แหล่งกำเนิด 4 แหล่ง ที่ก่อให้เกิด PM 2.5
  1. การจราจร เป็นแหล่งกำเนิดใหญ่มีสัดส่วน 40% ของแหล่งกำเนิดทั้งหมด โดยเฉพาะเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ แล้ว เรียกว่าเป็นสัดส่วนหลัก เพราะกรุงเทพฯ รถติด และรถที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วต่ำหรือหยุดนิ่งอยู่กับที่ จะทำให้เกิด PM 2.5 เป็นจำนวนมาก
  2. การเผาไหม้ในที่โล่ง อาทิ เผาไร่ เผากระดาษ หรือแม้แต่การเผาไหม้ทางการเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้าน ก่อให้มลพิษข้ามแดน จากปัจจัยนี้ทำให้เกิด PM 2.5 ไม่น้อยกว่า 30-40%
  3. ภาคประชาชน กิจกรรมในชีวิตประจำวันบางประเภทที่เกิดเผาไหม้ ไม่ว่าจะเป็น สูบบุหรี่ ปิ้งย่าง สำหรับในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ที่มีประชากรกว่า 15 ล้านคน กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ก็มีส่วนทำให้เกิดเช่นกัน
  4. ภาคอุตสาหกรรม ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อม โรงงานต่างๆจะต้องมีระบบบำบัดมลพิษทางอากาศ ก่อนจะปล่อยออกสู่ภายนอก องค์ประกอบที่จะทำ ให้เกิด PM 2.5 อย่างซัลเฟอร์ออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ ไฮโดรคาร์บอนที่เผาไม่สมบูรณ์ และความร้อน จึงเกิดขึ้นได้น้อย อย่างไรก็ตาม โรงงานนั้นก็มีที่ปฏิบัติตามมาตรฐานและที่บกพร่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องตรวจสอบต่อไป
  1. สภาพอากาศ “สภาวการณ์ผันกลับของอุณหภูมิ (Temperature Inversion)” ที่มักเกิดขึ้นในฤดูหนาว ที่ชั้นความเย็นอยู่ภายใต้ถูกกักอยู่ภายใต้ชั้นความร้อน แปลงสภาพเป็นฝาชี กักกั้นให้ฝุ่นไม่สามารถลอยสูงได้ เป็นภาวะที่ประเทศเกาหลีและญี่ปุ่นประสบเช่นกัน
  2. สภาพพื้นที่ ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นแอ่งของกรุงเทพฯ ไม่เอื้อต่อการเจือจางมลพิษ ร่วมด้วยผังเมือง การวางตัว การก่อสร้างที่ทำให้การระบายอากาศไม่ดี
  3. พื้นที่สีเขียว ตามองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุให้สัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากร 1 คน คือ 9 ตร.ม. แต่สำหรับกรุงเทพฯ แล้ว กลับมีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวไม่ถึง 3 ตร.ม. ต่อประชากร 1 คน น้อยกว่ามาตรฐานของ WHO ถึง 3 เท่า

รศ.ดร.พิสุทธิ์ แนะนำว่า ปัญหาทางสภาพพื้นที่ของกรุงเทพฯ สิ่งที่ต้องมาศึกษาต่อจากนี้ คือ ความสามารถในการกระจายอากาศของเมือง

“อาจต้องมีการศึกษา ทำโมเดลจำลอง เพื่อดูทิศทางลม เป็นอย่างไร พื้นที่ไหน จุดไหนที่มีตึกขวางทางลม แล้วทำอย่างไรให้สอดคล้องกับผังเมืองในอนาคต ควรมีการจัดโซนนิ่งหรือควรระบุลงใน EIA (รายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม) ก่อนที่จะอนุญาตให้สร้างตึกสูง เป็นต้น สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อมาคือ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว เป็นมาตรการที่ต้องเร่งทำในวันนี้ เพราะในอนาคตอีก 1 ปีข้างหน้า จะช่วยบรรเทาปัญหา PM 2.5 ให้เบาบางลงได้” อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม กล่าว

รวมไปถึงการแก้ที่ต้นเหตุ แหล่งกำเนิด PM 2.5 โดยเฉพาะ การจราจร ปัจจัยยหลักของการเกิด PM 2.5 ปัญหารถติดที่สะสมเรื้อรังมานานของกรุงเทพฯ รวมถึงชนิดเชื้อเพลิงที่ใช้ในการขับเคลื่อนยานพาหนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้ำมันดีเซล ของไทยที่ยังต่ำกว่ามาตรฐานและก่อให้เกิดมลพิษ

“อาจจะออกมาตรการให้ประชาชนร่วมมือ ลดจำนวนรถโดยสารส่วนบุคคล โดยเฉพาะในช่วงธันวาคม-กุมภาพันธ์ผลคือ รถติดน้อยลง การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงที่จะก่อให้เกิด PM 2.5 ก็ลดน้อยลงด้วยเช่นกัน” รศ.ดร.พิสุทธิ์กล่าว

ในภาวะที่ PM 2.5 ยังคงเข้มข้นเช่นนี้ ไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก แต่ต้องเรียนรู้วิธีป้องกันตัวเองให้ถูกต้อง อาทิ วิธีการใช้หน้ากาก N95 ที่ถูกต้อง มี Fit testing เพื่อให้การสวมใส่หน้ากากนั้นเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ดูแลความสะอาดของพัดลมเครื่องปรับอากาศ ปิดหน้าต่างให้มิดชิด งดออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือปลูกพืชที่ช่วยดูดซับฝุ่น อย่างพลูด่าง วาสนา หรือลิ้นมังกร ในบ้าน เป็นต้น

รวมถึงศึกษา ทำความเข้าใจ ไม่สับสนระหว่าง PM 2.5 กับดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) โดย อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมระบุว่า PM 2.5 คือ ค่าความเข้มข้นของฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ชี้วัดด้วยหน่วยไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่าเกณฑ์ความเข้มข้นของ PM 2.5 ไว้ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หากสูงกว่าเกณฑ์จะเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ส่วน AQI นั้น เป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศที่ไม่มีหน่วยกำกับ ซึ่งวัดคุณภาพอากาศในช่วงเวลานั้น ๆ และแสดงผลออกมาเป็นตัวเลขและสี

“มลพิษอากาศ ไม่ได้มีเพียง PM 2.5 แต่ยังมี PM 10 คาร์บอนมอนนอกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ และโอโซน ซึ่งมลพิษแต่ละตัวจะมีค่า AQI ของตัวเอง และค่า AQI ที่แสดงผลเห็นนั้น คือ ค่า AQI ของมลพิษที่อยู่ในสภาวะที่แย่ที่สุดดังนั้นแล้วค่า PM 2.5 และ AQI จึงไม่ใช่ค่าเดียวกัน” รศ.ดร.พิสุทธิ์กล่าว แนวทางในการแก้ไขทั้งหมดนี้ไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยใครคนใดคนหนึ่ง แต่ประชาชนผู้อยู่ร่วมสังคม ต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน เรียนรู้ เข้าใจ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่ออากาศดี สูดลมหายใจได้อย่างมั่นใจ ของทุกๆ คน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน