ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย หลายฝ่ายกำลังเร่งแก้ปัญหาและยกระดับความสามารถ รวมถึงพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยในมิติต่างๆ ทั้งสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ แต่ปัญหาที่ใกล้ตัวและสามารถป้องกันได้ เห็นจะเป็นเรื่องของการปรับปรุงสภาพแวดล้อม หนึ่งในนั้น คือ การปรับปรุงบ้าน ให้เข้ากับวัยเกษียณของสมาชิกในบ้านนั่นเอง

เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดตัว ศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน หรือ ศูนย์ Chula UDC (Chulalongkorn Universal Design Center) เพื่อบริการประชาชน ให้คำแนะนำในการปรับปรุงบ้านและสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมเพื่อความปลอดภัยและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขสำหรับทุกคนในยุคสังคมสูงวัย

สำหรับศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน หรือ ศูนย์ Chula UDC ตั้งอยู่ที่ ซอยจุฬา 42 แต่เดิมที่ตรงนี้เป็นโรงหนังสามย่าน และปรับปรุงพัฒนาจนกลายเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ฝั่งสามย่าน

รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ หัวหน้าศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ศูนย์แห่งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นศูนย์รวบรวมข้อมูล พัฒนาองค์ความรู้ การวิจัย นวัตกรรมท้องถิ่น เป็นที่รวบรวมเครื่องมืออุปกรณ์ที่เหมาะสม ซึ่งเป็นการร่วมมือกันของ สสส.กับ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ของ 5 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งคาดว่าในปี 2562 นี้ จะเปิดครบทั้ง 5 ศูนย์ เพื่อบริการประชาชนทั้ง 5 ภูมิภาค โดยให้ประชาชนตระหนักถึงการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ซึ่งศูนย์แห่งนี้ จะเป็นศูนย์ประสานงานกลางและศูนย์หลักประจำกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงภาคตะวันออกและภาคตะวันตก

รศ.พรรณชลัท สุริโยธิน รองคณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการสนับสนุนของคณะฯ ต่อศูนย์ดังกล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตระหนักถึง ความสำคัญในการเตรียมพร้อมด้านสภาพแวดล้อมสำหรับสังคมสูงวัย โดยเริ่มจากการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการวิจัยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้สูงวัยและคนพิการในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เพื่อเป็นศูนย์รวบรวมข้อมูล การศึกษาและวิจัยองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้สูงวัยและคนพิการ มายาวนาน กว่า 10 ปี และต่อมาทางมหาวิทยาลัยได้ร่วมลงนามข้อตกลง กับ สสส. ในการจัดตั้งศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อเพื่อทุกคน และสนับสนุนโครงการวิจัย เพื่อรองรับสังคมสูงวัย ซึ่งทางคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ได้สนับสนุนพื้นที่ ในการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการวิจัย ศูนย์บริการประชาชน และสนับสนุนบุคลากร และคาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนในการดูแลผู้สูงวัย

“คนไทยเสียชีวิตจากการหกล้ม ปีละ กว่า 1,000 คน เท่ากับว่า เราต้องเสียบุคคล ที่สำคัญ อย่างน้อยวันละ 3 ท่าน” นี่คือ เหตุผลหลัก ที่ สสส. เล็งเห็นถึงปัญหาและความสำคัญในการให้ความรู้เพื่อป้องกันและลดจำนวนอุบัติเหตุของผู้สูงวัยที่เกิดขึ้น” นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงความสำคัญของศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อม

นางภรณี กล่าวอีกว่า สสส.ทำงานเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ และเล็งเห็นว่าปัญหาการหกล้มในผู้สูงวัยและทุกช่วงวัยเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ และ สสส.เอง ก็เป็นส่วนหนึ่งในการลุกขึ้นมาป้องกันปัญหาดังกล่าว และสนับสนุน ทั้ง 5 มหาวิทยาลัย โดยมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นแกนหลักในการทำงานประสานกับทั้ง 5 มหาวิทยาลัย ที่กระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ ซึ่งถือว่าเรื่องนี้จำเป็นที่คนทุกภาค จะได้รับโอกาสในการแนะนำที่ถูกต้อง และเหมาะสมในการปรับปรุงบ้าน สสส.จึงสนับสนุนให้เกิดแกนกลางทางวิชาการในการให้คำปรึกษาในเรื่องนี้

“สสส.ทำงานหลายส่วน ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับเรื่องความรู้ เรื่องวิชาการ เช่น จัดทำคู่มือเกี่ยวกับการปรับปรุงบ้าน สนับสนุนให้เกิดหลักสูตรต่างๆ นอกจากนี้ สสส.ยังสนับสนุนนโยบายของรัฐ และงานประชารัฐเพื่อสังคมในการทำแผนแม่บทเรื่องที่อยู่อาศัยที่ดี ในระดับประเทศ ในพื้นที่กทม. สสส.ก็สนับสนุนให้เกิดต้นแบบเรื่องที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ สสส.ยังสนับสนุนเรื่องการเดินทางของผู้ใช้วีลแชร์ และมีเครือข่ายของคนพิการและผู้สูงวัย ในการเฝ้าระวังท่ามกลางการคมนาคมที่กำลังจะเกิดขึ้น เรื่องสุดท้ายที่ สสส.ร่วมสนับสนุนในงานนี้คือ การสื่อสาร ทั้งเป็นการกระตุ้นเตือนประชาชน และ นิทรรศการการสร้างการเรียนรู้ “ชราแลนด์” ที่จะหมุนเวียนไปให้ความรู้ตามเมืองหลักต่างๆ เพื่อให้ทุกคนเรียนรู้และเข้าใจถึงปัญหาและการปฏิบัติตนเมื่อย่างเข้าสู่สูงวัย” ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ กล่าว

นางสุธารัตน์ จันทร์รุจิพัฒน์ วัย 59 ปี หนึ่งในผู้เข่าร่วมงานครั้งนี้ เล่าให้ฟังว่า ได้รับคำแนะนำจากอาจารย์และนักศึกษาจาก คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ในการสร้างบ้านเพื่อเตรียมเข้าสู่วัยเกษียณ และตอนนี้บ้านเสร็จสมบูรณ์ตามคำแนะนำเรียบร้อยแล้ว โดยรู้สึกว่าคุ้มค่าและมีความปลอดภัยในการใช้ชีวิตมากขึ้น และฝากเตือนถึงทุกคนว่า อย่ารอที่จะแก้ไข เพราะคนส่วนใหญ่รอให้เกิดอุบัติเหตุก่อนจึงจะเริ่มปรับปรุงบ้าน และอยากให้ทุกคนไม่ประมาทกับชีวิต อุบัติเหตุเกิดขึ้นกับเราได้ทุกเมื่อ เราควรที่จะเริ่มหันมาดูแลตัวเรา ครอบครัว บ้าน สิ่งเหล่านี้เราควรปรับปรุงเผื่ออนาคต และเชื่อว่าสิ่งที่เราปรับปรุงมันไม่ได้สิ้นเปลืองเยอะ แต่สิ่งที่ได้เป็นประโยชน์มหาศาล แค่เราเปลี่ยนบ้านบางจุด ก็สามารถอยู่ได้ทุกช่วงวัย และจากการเข้าร่วมกิจกรรมวันนี้ ทำให้เกิดไอเดียในการไปปรับปรุงและต่อยอดพื้นที่เพิ่มเติมได้อีกด้วย

อุบัติเหตุ สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ไม่ใช่เฉพาะผู้สูงวัยเท่านั้น แต่ยังหมายถึงสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนในครอบครัว โดยผู้สนใจสามารถเข้าชมห้องตัวอย่าง และขอคำแนะนำการปรับปรุงบ้านเพื่อผู้สูงวัย ได้ที่ ศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น1 อาคารสถาปัตยกรรมศาสตร์ (โรงภาพยนตร์สามย่านเดิม) ซอยจุฬา 42 โดยสามารถเข้าชมได้ ในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 18.30 -17.00 น. หรือ โทร.084-5549301 รู้อย่างนี้แล้ว อย่ารอให้เกิดแล้วค่อยแก้ไข หากมีความพร้อมในการแก้ไขปรับปรุงบ้านและสภาพแวดล้อม ก็เร่งดำเนินการก่อนที่คนในครอบครัวจะกลายเป็นหนึ่งในตัวเลขสถิติของการเกิดอุบัติเหตุภายในบ้านอย่างทุกวันนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน