ถึงแม้ธรรมชาติของคนไทยจะอยู่ร่วมกับสายน้ำมาตลอดโดยเฉพาะในอดีต แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไปวิถีชีวิตย่อมเปลี่ยนแปลง การอยู่ร่วมกับสายน้ำอย่างใกล้ชิดไม่ได้มีบริบทแบบเดิม หลายครั้งที่น้ำกลายเป็นปัญหาสำหรับมนุษย์ จุดลงตัวของการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับน้ำคือการปรับตัว ซึ่งหมายถึงปรับที่ตัวคน และปรับที่ธรรมชาติ ให้ลงตัว

กรณีถ้ำหลวงขุนน้ำ-นางนอน เป็นอีกกรณีที่สะท้อนการปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติและปรับธรรมชาติให้เอื้อต่อการดำรงชีวิต จากปัญหาการตามหาและเข้าช่วยเหลือสมาชิกทีมหมูป่าอะคาเดมีทั้ง 13 คน มีอุปสรรคสำคัญคือ ‘น้ำ’ เกิดจากฝนตกเกือบตลอดเวลา ระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้กรมชลประทานนำโดย นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนจิตอาสา ทำทางเบี่ยงน้ำเพื่อสกัดกั้นและเปลี่ยนช่องทางไหลของน้ำให้พ้นจากแนวรอยรั่วเข้าถ้ำหลวงฯ

ทางเบี่ยงน้ำดังกล่าวคือการทำฝายกั้นลำห้วยน้ำดั้น และอีกจุดคือฝายกั้นลำห้วยผาหมี ร่วมกับท่อส่งน้ำของชาวบ้านที่มีอยู่เดิม จนกระทั่งในวันที่ 2 ก.ค.2561 ระดับน้ำลดลงมากทำให้หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ (ซีล) ดำน้ำไปค้นหาผู้ประสบภัยจนสำเร็จ

นอกจากบทบาทของฝายที่เป็นส่วนสำคัญของการกู้ชีพครั้งยิ่งใหญ่ระดับโลกครั้งนี้ ฝายยังคงมีหน้าที่หลักที่เคยมีเสมอมา อย่างกรณีปัญหาคาบสมุทรสทิงพระ จ.สงขลา ซึ่งประสบปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งมาตลอด

จากการที่ นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ศึกษาดูงานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าเชียด สำนักงานชลประทานที่ 16 กรมชลประทาน อ.บางแก้ว จ.พัทลุง พบว่า ทางด้านคาบสมุทรสทิงพระ จ.สงขลา ครอบคลุม อ.ระโนด อ.สทิงพระ อ.กระแสสินธุ์ และ อ.สิงหนคร พื้นลุ่มต่ำ มีปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งเป็นประจำ จึงได้แก้ไขเพิ่มปริมาณน้ำ ในการเพาะปลูกในฤดูแล้ง ประมาณ 16,000 ไร่ และเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกในฤดูแล้งได้ถึงประมาณ 8,700 ไร่ ด้วยการปรับปรุงฝายท่าเชียดสูงขึ้น 3 เมตร เพื่อให้มีระดับและควบคุมเพื่อการส่งน้ำที่ดีขึ้น เก็บน้ำเพิ่มได้ขึ้นถึง 300,000 ลบ.ม.ส่วนจุดระบายน้ำได้ปรับปรุงคลองระบายน้ำเทศบาลตำบลแม่ขรี เพื่อช่วยลดปัญหาอุทกภัย

สำหรับการสร้างฝายของกรมชลประทาน นายมหิทธิ์ วงศ์ษา นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ (ส่วนสิ่งแวดล้อม) สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน อธิบายว่ามีหลายวัตถุประสงค์ แต่วัตถุประสงค์สำคัญประการหนึ่งคือ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมบริเวณรอบอ่างเก็บน้ำ

“เวลาฝนตกลงมาที่อ่างเก็บน้ำ ถ้าพื้นที่ไหนไม่มีป่า หรือมีป่าแต่สภาพดินไม่ดี เราจึงร่วมกับกรมป่าไม้หรือกรมอุทยาน เราให้งบประมาณเพื่อทำฝายชะลอน้ำ อย่างแรกที่จะได้คือได้ความชุ่มชื้น เมื่อมีความชุ่มชื้น สภาพป่าก็จะกลับมา ทำให้ระบบนิเวศฟื้นฟู

เหตุผลต่อมาคือเพื่อดักตะกอน ถ้าฝนตกแรงๆ สังเกตว่าน้ำจะแดง นั่นเพราะมีตะกอนถูกพัดมาด้วย ตามแนวทางอันเนื่องมาจากพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงวางรากฐานให้เราทำตรงนี้ อย่างน้อยเรื่องการดักตะกอนไม่ให้ไหลลงอ่างเก็บน้ำ จะช่วยยืดอายุของอ่างเก็บน้ำ”

อย่างที่ทราบกันดีว่าอ่างเก็บน้ำถูกสร้างตามชายขอบป่าบ้าง ในป่าบ้าง โครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นจึงมีการศึกษา มีแผนป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ปลูกป่า และหนึ่งในนั้นคือการทำฝายชะลอน้ำ

แม้บ่อยครั้งปัญหาเกี่ยวกับน้ำจะกระทบการดำเนินชีวิต แต่ถ้ารู้จักโอนอ่อนต่อกันระหว่างคนกับธรรมชาติ เหมือนการสร้างฝายเพื่อชะลอหรือปรับเปลี่ยนทิศทางน้ำให้เหมาะสมต่อปัจจัยต่างๆ คำที่ว่า ‘น้ำคือชีวิต’ จะเป็นจริงสมบูรณ์

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน