ขึ้นชื่อว่ากรมชลประทาน ภาระหน้าที่หลักจะเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากเรื่อง ‘น้ำ’ และน้ำที่อยู่ภายใต้การดูแลก็หมายถึงสิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนและสิ่งมีชีวิตอื่น คุณภาพน้ำจึงเป็นเรื่องที่กรมชลประทานให้ความสำคัญมาก

กระบวนการเพื่อควบคุม ดูแล และรักษาคุณภาพน้ำ เริ่มต้นตั้งแต่การพัฒนาแหล่งน้ำ โดยกรมชลประทานได้ออกแบบอย่างดี การสร้างอ่างเก็บน้ำ ก่อนที่จะกักเก็บน้ำ ต้องทำให้บริเวณอ่างเก็บน้ำค่อนข้างสะอาด โดยการตัดต้นไม้ออกจากพื้นที่แล้วกำจัดอย่างถูกวิธี เพื่อไม่ให้ต้นไม้เหล่านี้เน่าเสียในน้ำ ช่วง 1-2 ปีแรกของการกักเก็บน้ำ ต้องยอมรับว่าเป็นช่วงปรับคุณภาพน้ำ คือ จะยังไม่ค่อยดีเท่าไรนัก แต่หลังจากนั้นคุณภาพน้ำจะดีขึ้นเรื่อยๆ

ซึ่งสิ่งที่จะทำให้รู้ว่าคุณภาพน้ำดีขึ้นแล้ว คือ การติดตามตรวจสอบตลอด ตั้งแต่ช่วงก่อนกักเก็บน้ำ และหลังกักเก็บน้ำ จะต้องมีการเก็บตัวอย่างน้ำไปเข้าห้องแล็บเพื่อตรวจสอบอย่างละเอียด

นายมหิทธิ์ วงศ์ษา นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ (กลุ่มสิ่งแวดล้อมโครงการ) สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน เปิดเผยว่าน้ำที่นำไปตรวจมาจากหลายจุด ทั้งน้ำที่ก่อนลงอ่างเก็บน้ำ น้ำในอ่างเก็บน้ำ น้ำที่ถูกปล่อยไปท้ายน้ำ และน้ำที่ปล่อยไปในระบบชลประทาน เป็นต้น

“สิ่งที่เราดูมีตั้งแต่ความสกปรก เรื่องโลหะหนัก และอีกหลายเรื่อง ดูว่าคุณภาพน้ำเป็นอย่างไร ถ้ามีปัญหาก็จะมาหาสาเหตุเพื่อแก้ปัญหาต่อไป”

อุปสรรคใหญ่ของการควบคุมคุณภาพน้ำอย่างหนึ่ง คือ การใช้สารเคมีในการเกษตร เพราะบริเวณใกล้เคียงมักทำเกษตรกรรม และอีกสาเหตุคือบริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำขึ้นไปมีแหล่งชุมชนหรือโรงงานอุตสาหกรรม น้ำเสียและสารพิษจะถูกปล่อยลงมายังอ่างเก็บน้ำได้

กรมชลประทานจึงต้องติดตามสังเกตการณ์ว่ามีการปล่อยน้ำเสียลงมาหรือเปล่า ซึ่งมีอ่างเก็บน้ำหลายแห่งมีความเสี่ยงแบบนี้ แต่ด้วยอำนาจของกรมชลประทานไม่ครอบคลุมถึงการจัดการกับผู้ลักลอบปล่อยน้ำเสีย แต่ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมควบคุมมลพิษ หรือฝ่ายปกครอง ให้ติดตามและจัดการ

แต่ นายมหิทธิ์ ก็อธิบายเพิ่มว่า “กรมชลประทานมีกฎหมายเหมือนกัน เช่น น้ำทิ้งที่ไม่ได้มาตรฐานของเรา ถ้าเขาทิ้งน้ำลงมาในระบบชลประทาน เราดำเนินคดีได้ตามกฎหมาย ถ้าทางน้ำนั้นเป็นทางน้ำชลประทาน ส่วนโรงงานอุตสาหกรรมเราจะแจ้งกรมควบคุมมลพิษหรือทางฝ่ายปกครองให้ดำเนินการ”

ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ยกตัวอย่างแถบภาคกลางเช่น ละแวกจังหวัดนครปฐม ซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมค่อนข้างเยอะ กรมชลประทานได้รับแจ้งหลายครั้งจากกรมควบคุมมลพิษว่ามีการทิ้งน้ำเสียลงลำน้ำชลประทาน แน่นอนว่ากรมชลประทานไม่นิ่งนอนใจ แล้วจัดการอย่างถึงที่สุด

การจัดการ ควบคุม ดูแลอย่างเข้มข้นจริงจัง ช่วยให้ปัจจุบันปัญหาคุณภาพน้ำทุเลาลงมาก แม้จะมีบ้างประปรายทว่าก็จัดการได้อย่างดี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน