การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม ถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การลงทุนที่สำคัญของประเทศที่มีผลต่อการสร้างพลวัตรการเติบโตให้แก่เศรษฐกิจของประเทศ หากคมนาคมขนส่งมีความสะดวกสบาย รวดเร็ว และมีต้นทุนต่ำ จะมีผลต่อขีดความสามารถการแข่งขันในการดำเนินธุรกิจที่เอื้อต่อการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศได้เป็นไปตามที่คาดหวัง อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีความจำเป็นต้องลงทุนอีกหลายโครงการเพื่อพัฒนาประเทศ ทำให้ต้องจัดชั้นลำดับความสำคัญของการใช้งบประมาณแผ่นดินเพื่อมาลงทุน หลายโครงการจึงต้องชะลอการลงทุนออกไปอันเป็นผลต่อการพัฒนาของประเทศ

นอกจากนี้ การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ผ่านการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล โดยรัฐบาลเป็นผู้กู้หรือเป็นผู้ค้ำประกันให้กับรัฐวิสาหกิจ สิ่งที่ตามมาคือ ระดับหนี้สาธารณะของประเทศไทยเพิ่มขึ้นและจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของความมั่นคงทางการคลัง ซึ่งปัจจุบันพบว่าระดับหนี้สาธารณะของไทยคิดเป็น 41% ต่อจีดีพี ซึ่งการรักษาวินัยทางการคลังที่ดี ระดับหนี้สาธารณะของไทยไม่ควรเกิน 60 % ต่อจีดีพี เพื่อรักษาเสถียรภาพและการเติบโตในระยะยาว ดังนั้น จึงเกิดคำถามว่าแล้วภาครัฐจะมีแนวทางแก้ปัญหาอย่างไร เพื่อมาสนับสนุนการพัฒนาประเทศตามแผนที่วางไว้ภายใต้กรอบวินัยการคลังที่เข้มงวดและรักษาเสถียรภาพทางการคลังอย่างยั่งยืน

ปัจจุบันการลงทุนของภาครัฐนั้นมีหลายเครื่องมือให้เลือกใช้ เช่น ระบบสัมปทานที่เปิดให้ภาคเอกชนเข้ารับสัมปทานการก่อสร้างและบริหารโครงการระยะยาวจากภาครัฐ โดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนและเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ตามระยะเวลาที่กำหนด หรือรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนหรือ Public Private Partnership (PPP) ที่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุนกับภาครัฐ รวมถึงการระดมทุนในรูปแบบกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานหรือInfrastructure Fund ที่เป็นการระดมทุนจากนักลงทุน เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนากิจการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

ปัจจุบัน ด้วยความแข็งแกร่งของตลาดทุนไทย ทำให้เป็นโอกาสที่ดีที่ภาครัฐสามารถใช้ตลาดทุนเป็นช่องทางในการระดมทุนจากภาคประชาชนเพื่อนำไปใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานผ่านการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน โดยข้อดีของการระดมทุนในลักษณะดังกล่าว จะเปิดให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีความเข้มแข็งสามารถนำรายได้จากการให้บริการที่เกิดขึ้นในอนาคต จากสินทรัพย์ที่มีกระแสเงินสดที่มั่นคงเข้ามาไว้ในกองทุน โดยเปิดให้ผู้ลงทุนสามารถเข้ามาลงทุน และรับผลตอบแทนของกระแสรายได้ที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง

และที่สำคัญ ผลตอบแทนที่มอบให้แก่ผู้ลงทุนจะมาจากผลการดำเนินงานของเจ้าของทรัพย์สิน โดยกองทุนหรือเจ้าของทรัพย์สินจะแบ่งรายได้ตามสัดส่วนที่ตกลงไว้ โดยไม่ต้องมีภาระต้องค้ำประกันผลตอบแทนกับผู้ลงทุน ซึ่งในส่วนนี้ผู้ที่ซื้อหน่วยต้องรับความเสี่ยงดังกล่าวด้วยตนเอง แตกต่างจากการกู้ยืมเงินที่ผลการดำเนินงานจะเป็นเช่นไรก็ตาม ผู้กู้จะต้องคืนเงินและจ่ายผลตอบแทนตามกำหนด

จากจุดเด่นดังกล่าว ภาครัฐจึงจัดตั้ง “กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทยหรือ Thailand Future Fund (TFFIF)” โดยมีบริษัทจัดการคือ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) มีที่ปรึกษาทางการเงิน ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน)

จุดมุ่งหมายคือการระดมทุนจากการจำหน่ายสิทธิในการรับรายได้ร้อยละ 45 ของค่าผ่านทางพิเศษ 2 สาย ได้แก่ ทางพิเศษฉลองรัชและทางพิเศษบูรพาวิถี ซึ่งเป็นทรัพย์สินของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นระยะเวลา 30 ปีนับจากวันที่โอนสิทธิ โดยการระดมทุนในรูปแบบดังกล่าวไม่กระทบกับเพดานหนี้สาธารณะของประเทศและยังเป็นทางเลือกที่ดีให้แก่ผู้ออมเงินได้มีทางเลือกในการลงทุนเพื่อรับผลตอบแทนที่ดี

รวมถึงยังทำให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีความแข็งแกร่งสามารถพึ่งพาตนเองได้ และสามารถใช้กองทุนเป็นเครื่องมือในการระดมทุนเพื่อนำไปใช้ในการก่อสร้าง ซึ่ง กทพ. จะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจแรกที่ใช้การระดมทุนผ่านกองทุนดังกล่าว เนื่องจากเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานและบริหารจัดการที่ดี เพื่อนำเงินไปลงทุนก่อสร้างโครงการทางพิเศษ แก้ไขปัญหาการจราจรในย่านพระราม 3 และดาวคะนอง ซึ่งจะช่วยเชื่อมโยงโครงข่ายทางพิเศษให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะสร้างเสถียรภาพการเติบโตของประเทศที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่ภาครัฐมีข้อจำกัดด้านงบประมาณและความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงของตลาดการเงิน ซึ่งจะช่วยประเทศไทยเติบโตอย่าง มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนในระยะยาว

สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากหนังสือชี้ชวนได้ที่เว็บไซต์ https://market.sec.or.th/public/mrap/MRAPView.aspx?FTYPE=I&PID=0659&PYR=2559

หมายเหตุ: บทความนี้ห้ามเผยแพร่ในประเทศสหรัฐอเมริกา, แคนาดา, และญี่ปุ่น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน