‘เป็นเลิศ’ หมายถึง ความยอดเยี่ยม เช่น ความเป็นเลิศด้านการแพทย์ ความเป็นเลิศด้านการบริการ ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรม เป็นต้น แต่คงน่าภูมิใจอยู่ไม่น้อย หากความเป็นเลิศนั้นได้รับการการันตีจากหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ดังเช่น รางวัลเลิศรัฐ Public Sector Excellence Awards : PSE Awards)

โดย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 16 เพื่อมอบรางวัลให้แก่หน่วยงานที่มุ่งมั่นปฏิบัติราชการจนประสบความสำเร็จจนมีความเป็นเลิศใน 3 สาขา ทั้ง สาขาบริการภาครัฐ สาขาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ และสาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ทั้งหมด 440 รางวัล จากทั้งหมด 584 ผลงาน

ภายในงาน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในพิธีเปิดว่า การมอบรางวัลเลิศรัฐ ไม่ใช่แค่การให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่ปฏิบัติภารกิจ แต่ยังเป็นการเผยแพร่แนวทางการดำเนินงานของตนให้หน่วยงานอื่นรับรู้ร่วมกัน เป็นแรงจูงใจให้แต่ละหน่วยงานได้พัฒนาตามขีดความสามารถของตนเอง โดยการริเริ่ม มุ่งมั่นในการขับเคลื่อนงาน อันจะเป็นการทำให้เกิดระบบรัฐบาล 4.0 เนื่องจากทุกๆ ผลงานที่ได้รับรางวัลต่างก็มีผลงานโดยรวมต่อภาคประชาชน ภาคสังคม ไปจนถึงระดับประเทศ ซึ่งหน่วยงานที่ได้รับรางวัลเกียรติยศจากการที่ได้รับรางวัลเลิศรัฐทั้ง 3 สาขา ได้แก่ กรมควบคุมโรค กรมปศุสัตว์ กรมพัฒนาที่ดิน กองบัญชาการกองทัพไทย กรมบัญชีกลาง และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ที่ขึ้นรับรางวัลเกียรติยศ “หน่วยงานที่ได้สร้างชื่อเสียงให้แก่ภาครัฐไทย จากการได้รับรางวัล United Nations Public Service Awards 2018 ขององค์การสหประชาชาติ

ซึ่ง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานของรัฐที่คว้ารางวัลเลิศรัฐ ประเภทรางวัลสัมฤทธิ์ผลประชาชนมีส่วนร่วม (Effective Change) ระดับชมเชย จากโครงการพัฒนาเครือข่ายเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงงดเหล้าเข้าพรรษา ในพื้นที่ อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ

โดย นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก (สำนัก 1) สสส. กล่าวว่า กิจกรรมรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา ที่ สสส. เครือข่ายองค์กรงดเหล้า และชาวบ้านในพื้นที่ อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ ร่วมกันขับเคลื่อนตลอด 10 ปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าความสำเร็จจะไม่เกิดขึ้นหากขาดพลังการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่ร่วมกันขับเคลื่อน 13 งานบุญปลอดเหล้าในพื้นที่จนเป็นรูปธรรม ถือเป็นเครื่องยืนยันการขับเคลื่อนงานในอนาคตของพื้นที่อื่นๆ และโค้งสุดท้ายของกิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษาในปี 2561 มีแนวทางการดำเนินงานด้วยการเน้นการสร้างกระแสสังคมและเน้นการทำงานในพื้นที่ โดยจะดึงเอาการทำงานในพื้นที่ ต.เสียว อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ มาขยายผลใน 155 อำเภอ ครอบคลุม 74 จังหวัด ในการ ‘ชวน-ช่วย-เชียร์-ชม’ ในการงดเหล้าตลอด 3 เดือน และชวนงดต่อหลังออกพรรษาหรือลดปริมาณการดื่มลง กิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษาถือเป็นจุดสำคัญที่ทำให้หลายๆ ครอบครัวประสบเลิกเหล้าได้สำเร็จ

ด้าน นายวิษณุ ศรีทะวงษ์ ผู้จัดการแผนนโยบายสาธารณะ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนงานงดเหล้าในพื้นที่ ต.เสียว อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ เป็นรูปแบบปฏิบัติการณ์ที่เข้าถึงพื้นที่ ดึงการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนของชุมชนจนสามารถเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในชุมชนให้เอื้อต่อการงดเหล้าในช่วงเข้าพรรษา ตั้งแต่ระดับครอบครัว ร้านค้าในชุมชน ระดับหน่วยงาน โดยมีกระบวนการที่เข้มแข็งในการดูแล บำบัด เยียวยาในฐานะเพื่อนดูแลเพื่อนในผู้ติดสุราเรื้อรัง ซึ่งการงดเหล้าเข้าพรรษาเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้คนลด ละ เลิกดื่มสุราได้ด้วยทุนทางวัฒนธรรม ต่อยอดสู่การจัดงานบุญประเพณีปลอดเหล้าต่างๆ ทั้ง งานบวช งานแต่ง งานศพ งานสงกรานต์ งานปีใหม่ ที่ค่อยๆ ฉายภาพให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น

สำหรับหนึ่งในผู้ร่วมขับเคลื่อน อย่าง ครูจันทร์ โต๊ะสิงห์ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า จ.ศรีสะเกษ เล่าให้ฟังว่า อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ เริ่มขับเคลื่อนกิจกรรมงดเหล้าตั้งแต่ปี 2555 ด้วยการพลิกแนวคิดให้ชาวบ้านเข้าใจว่า การมีเหล้าไม่ได้แปลว่าคนจะมาช่วยงานเยอะ หรือคนจะให้ซองเยอะ แต่ผลดี คือการลดรายจ่าย จากที่จัดงานเสร็จต้องขายควายไปใช้หนี้ ก็เปลี่ยนเป็นเอาเงินที่เหลือไปซื้อวัวซื้อควายเพิ่ม มีการทำประชาคมชุมชน สร้างการรับรู้ร่วมกัน เก็บข้อมูลและคืนข้อมูลสู่ชุมชนทุกๆ วันที่ 14 ธันวาคมของทุกปี ขยายผลสู่การจัดตั้งธรรมนูญตำบล จัดงานบุญประเพณีปลอดเหล้าปลอดการพนัน ทั้ง 13 งาน ได้แก่ งานศพ งานกฐิน งานอัฐิ งานบวช งานปีใหม่ งานผ้าป่า งานผะเหวด งานสงกรานต์ งานบุญบั้งไฟ ประเพณีลำอ้อ งานเข้าพรรษา งานออกพรรษา และงานแต่ง โดยในช่วงเข้าพรรษาจะมีชมรมคนหัวใจเพชรติดตามให้กำลังใจ ชวน เชียร์ ช่วย ชม และเชิดชูคนที่สามารถเลิกเหล้าได้ครบพรรษา ตลอดจนห้ามดื่ม ห้ามขายในสถานที่ราชการ วัด โรงเรียน โรงพยาบาล และให้จำหน่ายตามเวลาที่กำหนดเท่านั้น

ครูจันทร์ กล่าวต่อถึงความสำเร็จในการดำเนินงานว่า จากข้อมูลประมาณการจากแบบรายงานฯ ของ รพ.สต.สังกัด อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ พบว่า กิจกรรมงานบุญประเพณีปลอดเหล้าตั้งแต่ปี 2551-2560 ในพื้นที่ สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 109 ล้านบาท สามารถยกระดับเป็นศูนย์เรียนรู้งานบุญประเพณีปลอดเหล้า ถอดบทเรียนเป็นคู่มือ คนพันธุ์เสียว งดเหล้าเข้ากระดูกดำและ ชุมชนคนสู้เหล้าตำบลเสียวซึ่งมีผู้แวะเวียนมาศึกษาดูงานกว่า 1,000 คน นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างสุขให้ชุมชน ลดการทะเลาะวิวาททั้งในครัวเรือนและเพื่อนบ้าน ลดปัญหาลักจี้ชิงปล้น ลดอุบัติเหตุ ตามวิสัยทัศน์ชุมชนที่ว่า ในปี 2562 ต.เสียว จะเป็นตําบลที่น่าอยู่ มีสิ่งแวดล้อมสมบูรณ์ เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ปลอดเหล้า ปลอดอบายมุข มีความพอเพียง สุขภาพดีและมีความสุข

“รางวัลเลิศรัฐ ประเภทรางวัลสัมฤทธิ์ผลของประชาชนมีส่วนร่วมฯ เป็นรางวัลที่ให้ความภูมิใจแก่คนทำงานงดเหล้าในพื้นที่ เป็นการการันตีว่ายังมีอีกหนึ่งหน่วยงาน อย่าง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ที่มองเห็นว่าการขับเคลื่อนงานของเรามีประโยชน์ต่อสังคมครูจันทร์ เล่าถึงคุณค่าของการได้รับรางวัล

รางวัลนี้ ถือเป็นพลังใจที่หล่อเลี้ยงให้นักขับเคลื่อนกิจกรรมงดเหล้าที่เหมือนเป็นการว่ายน้ำทวนกระแส ได้ฮึดสู้ครั้งใหญ่ และมีพลังเพิ่มเป็นเท่าตัวในการขับเคลื่อนงานรณรงค์งดเหล้า เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยและสังคมปลอดเหล้า รวมถึงลดจำนวนนักดื่มทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ เพื่อเป้าหมายในการสังคมแห่งการมีสุขภาวะดีต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน