สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับพ่อแม่ทุกคนนอกจากต้องการให้ลูกน้อยมีพลานามัยสมบูรณ์ และพัฒนาการตามวัยที่เหมาะสมแล้ว ไม่พ้นการคาดหวังให้ลูกน้อยมีความเฉลียวฉลาด จนทำให้นักวิทยาศาสตร์และแพทย์ทั่วโลกพยายามศึกษาค้นคว้ามาเป็นระยะเวลานาน ว่าจะมีวิธีใดให้เด็กมีพัฒนาการเต็มศักยภาพ ได้มากกว่าการปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ

สมองถือว่าเป็นอวัยวะที่มีบทบาทสำคัญในการรับรู้ การคิดวิเคราะห์ ความสามารถทางสติปัญญา การสื่อสาร และการเคลื่อนไหวของร่างกาย สมองจึงมีบทบาทสำคัญในการเรียนรู้ พัฒนาสติปัญญา

ข้อมูลจาก ผศ.นพ.วรสิทธิ์ ศิริพรพาณิชย์ กุมารแพทย์ด้านโรคสมอง และผู้เชี่ยวชาญสาขาประสาทวิทยาศาสตร์ ได้กล่าวถึงพัฒนาการด้านสมองของเด็กพบว่า ระบบประสาทของมนุษย์มีวงจรประสาท ((Neural circuit)1,2 เป็นกระบวนการที่เซลล์ประสาทจะส่งแขนงประสาทนำออก (Axon) ไปยังเซลล์ประสาทอีกเซลล์ เพื่อส่งสัญญาณบอกว่าเซลล์ประสาทตัวถัดไปต้องตอบสนองอย่างไร

แขนงประสาทนำออกทำหน้าที่เหมือน “ถนน” สื่อสารระหว่างเซลล์ประสาท และเมื่อแขนงประสาทนำออกจากเซลล์ประสาทหลายๆ เซลล์มารวมกันก็จะกลายเป็นวงจรประสาทเชื่อมโยงสมองแต่ละส่วนเข้าด้วยกัน

การสร้างวงจรประสาทของลูกน้อยไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมๆ กันในสมอง แต่เกิดขึ้นตามความจำเป็นในการทำงานของช่วงเวลานั้นๆ เช่นวงจรประสาทในด้านหน้าที่พื้นฐานเพื่อการมีชีวิตรอด เช่น การมองเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว จะเริ่มมีการพัฒนาตั้งแต่ช่วงอยู่ในครรภ์มารดาไปจนถึงช่วงปีแรกๆ หลังคลอด

วงจรประสาทด้านการทำงานขั้นสูงจะพัฒนาอย่างมากในช่วงวัยเรียนไปจนถึงวัยรุ่น และไปสิ้นสุดในช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น หลังจากนั้นโครงสร้างสมองและวงจรประสาทจะค่อนข้างคงที่ แต่ก็ยังสามารถปรับเปลี่ยนได้บ้างตามการเรียนรู้และประสบการณ์ที่ได้รับ ทำให้คนเราสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไปได้ตลอดชีวิต เพียงแต่การปรับโครงสร้างสมองและวงจรประสาทในวัยผู้ใหญ่จะเกิดได้ยากกว่าช่วงวัยเด็ก จึงเป็นที่มาว่าหากต้องการจะส่งเสริมการสร้างวงจรประสาทในส่วนใด ควรต้องทำตั้งแต่ช่วงวัยเด็กนั่นเอง

จากการศึกษาของแพทย์และนักวิทยาศาสตร์พบว่าสมองประกอบด้วยไขมันสูงถึง 60%3 โดยไขมันเป็นส่วนประกอบหลักของ ไมอีลิน’ (Myelin) หรือ ปลอกไมอีลิน’ (Myelin sheath) ในสมอง4 โดยไมอีลินเป็นส่วนของเซลล์สนับสนุนเซลล์ประสาทที่มาพันรอบส่วนของแขนงประสาทนำออก เส้นใยประสาทที่มีไมอีลิน จะส่งสัญญาณประสาทเร็วกว่าที่ไม่มีไมอีลินถึง 60 เท่า5 ไมอีลินจึงมีความจำเป็นต่อการพัฒนาสมองของลูกน้อยเป็นอย่างยิ่ง

ปัจจุบันแม้ว่าแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถปรับหรือควบคุมการสร้างไมอีลินให้เกิดขึ้นตามต้องการได้โดยตรง แต่สามารถส่งเสริมการสร้างไมอีลินได้ ผ่านการหาสิ่งกระตุ้น เช่น การให้เด็กฟังเสียงที่หลากหลายและฟังเสียงดนตรี จะช่วยส่งเสริมการสร้างวงจรประสาทและการสร้างปลอกไมอีลินในส่วนของการรับเสียงและการแปลความหมายของเสียง การฝึกแก้โจทย์ปัญหาช่วยพัฒนาวงจรประสาทและการสร้างไมอีลินในสมองส่วนหน้าที่มีบทบาทในด้านการเรียนรู้ ซึ่งจะเกิดขึ้นมากในช่วงวัยเรียน

นอกจากการจัดหาสิ่งกระตุ้นเพื่อสร้างไมอีลินในสมองของเด็กแล้ว สารอาหารหลายชนิด เช่น DHA โคลีน โปรตีน เป็นต้น มีส่วนสำคัญในการสร้างไมอีลินเช่นกัน โดย สฟิงโกไมอีลิน’ (Sphingomyelin) หนึ่งในสารอาหารในการสร้างไมอีลิน6 เจ้าไมอีลินนี่เองที่ช่วยให้สมองส่งต่อข้อมูลถึงกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ7 นอกจากนี้เด็กสามารถได้รับสารอาหารสฟิงโกไมอีลิน จากแหล่งอื่นๆ เช่น ไข่ ครีม ชีส นม รวมถึงผลิตภัณฑ์นม8

รู้อย่างนี้แล้วพ่อ-แม่ทุกคนคงทราบถึงเคล็ดลับการสร้างเลี้ยงดูลูกน้อยเพื่อให้เป็นเด็กฉลาด และสมองไวได้ เพราะการฝึกให้เด็กเรียนรู้ตามวัยอันควร ควบคู่ไปกับการให้สารอาหารที่เหมาะสมสามารถช่วยกระตุ้นพัฒนาการสมอง เพื่อการเรียนรู้-พัฒนาการได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

อ้างอิง

  1. Robert Stufflebeam. Neurons, Synapses, Action Potentials, and Neurotransmission – The Mind Project. http://www.mind.ilstu.edu/curriculum/neurons_intro/neurons_intro.php
  2. Adrienne L. Tierney, et al. Brain Development and the Role of Experience in the Early Years. Zero Three. NIH Public Access Author manuscript; available in PMC 2013 July 25
  3. Chang CY, KE DS, Chen JY. Essential Fatty Acids and Human Brain. Acta Neurol Taiwan. 2009 Dec; 18(4): 231–41
  4. R. Douglas Fields. White matter in learning, cognition and psychiatric disorders. Trends Neurosci. 2008 July ; 31(7): 361–370
  5. Susuki k.Nature Education 2010, 3(9):59
  6. Siegel GJ, Agranoff BW, Albers RW, et al., editors. Characteristic Composition of Myelin. Basic Neurochemistry: Molecular, Cellular and Medical Aspects. 6th edition. Philadelphia: Lippincott-Raven; 1999
  7. Stiles&Jernigan.2010; Prado & Dewey 2014
  8. Vesper et al., Sphingolipids in Food and the Emerging Importance of Sphingolipids to Nutrition. 1999

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน