เด็กรุ่นใหม่ ถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศในรูปแบบที่สร้างสรรค์ สร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้ไม่น้อยไปกว่าผู้ใหญ่

เมื่อไม่นานมานี้ จังหวัดอุบลราชธานี เปิดงานมหกรรมพลังเด็กอุบลเปลี่ยนโลก ครั้งที่ 1 ภายใต้แนวคิด ตุ้มโฮม แต้มฮัก ตามแผนพัฒนานโยบายการทำงาน เพื่อขับเคลื่อนพัฒนานโยบายด้านเด็กและเยาวชนในระดับท้องถิ่นและระดับจังหวัด ให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชนใน 10 พื้นที่ โดยใช้กระบวนการศึกษาต้นทุนการดำเนินงานและกระบวนการจัดเวทีประชาคมในระดับตำบล พร้อมทั้งการนำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายผลักดันให้ท้องถิ่นบรรจุในเทศบัญญัติหรือข้อบัญญัติ ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ.มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ภายในงานประกอบไปด้วยบูธกิจกรรมจากพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการ เช่น บูธกิจกรรมเมืองพื้นที่สร้างสรรค์ของสภาเด็กและเยาวชนขององค์การบริหารส่วนตำบล ที่มากกว่า 20 บูธ จากหลากหลายพื้นที่ เช่น บูธสภาเด็กและเยาวชนตำบลโพธิ์ไทร ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อให้เด็กและเยาวชนตำบลได้รวมกลุ่มกันพัฒนาตนเอง และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและเปิดพื้นที่ในการพัฒนาตนเองและชุมชน โดยในปี พ.ศ. 2561 กลุ่มเยาวชนมีเป้าหมายในการสืบสานงานสาน ซึ่งอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น และเป็นการระดมทุนจากการขายของฝาก ของที่ระลึกจากงานสานเพื่อช่วยเหลือเพื่อนผู้ขาดโอกาส เช่น เด็กกำพร้ายากจน ผู้พิการ คนชราที่อยู่บ้านคนเดียว เป็นต้น ซึ่งนายชัยอนันต์ พิมพ์พรมมา (น้องชัย) อายุ 18 ปี ประธานสภาเด็กและเยาวชนตำบลโพธิ์ไทร เล่าว่า เยาวชนรักท้องถิ่น เป็นชื่อโครงการที่ริเริ่มมาจากการรวมกลุ่มของเด็กเยาวชนใช้ทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การสานพวงกุญแจปลาตะเพียน ที่ได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย สสส. องค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ไทร โรงเรียนโพธิ์ไทรพิทยาคาร โรงเรียนบ้านดอนเย็นใต้ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการแบ่งปัน (มสป.) จากการดำเนินงานพบว่า ตนได้เรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ภายในท้องถิ่นของตนเอง ซึ่งตอนแรกเป็นเรื่องปกติที่ต้องเจอปัญหาหรืออุปสรรคในการรวมตัวและทำงานร่วมกัน แต่ทุกๆ กิจกรรมจะค่อยๆ สอนให้ตนปรับตัวและช่วยกันทำกิจกรรมพัฒนาชุมชนของตนเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ จนประสบผลสำเร็จและได้ออกมาเป็นสินค้าที่เกิดจากการระดมความคิดของกลุ่มเด็กและเยาวชนในท้องถิ่น ซึ่งสร้างรายได้ให้ชุมชนได้ช่วยเหลือคนในท้องถิ่นด้วยกันได้

นอกจากนี้ยังมีห้องวิชาการ เพื่อให้ความรู้ในเรื่องการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน ผ่านการสร้างนวัตกรรมทางสังคมในพื้นที่ โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างเสริมนวัตกรรม ที่อธิบายหลักการสร้างนวัตกรรมว่า การจะสร้างสรรค์ชิ้นงานที่จะเป็นประโยชน์ต้องมีการคิดวิเคารห์อย่างละเอียดในหลากหลายด้าน ทั้งด้านสังคมศาสตร์ จะเชื่อมโยงในเรื่อง กฎหมาย จิตวิทยา และด้านวิทยาศาสตร์ จะเกี่ยวกับเครื่องกล พลังงาน การแพทย์ และเทคโนโลยี เป็นต้น โดยการสร้างนวัตกรรมแบ่งออกเป็น 3 ระดับ 1.ขนาดเล็ก อยู่ในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป 2.ขนาดกลาง เป็นเชิงสถาบัน และ 3.ขนาดใหญ่เป็นนวัตกรรมที่สามารถพลิกโฉมสังคมได้ ดังนั้นการสร้างนวัตกรรมในแต่ละครั้งต้องมีการวิเคราะห์ถึงปัญหาจริงที่เกิดในชุมชน สาเหตุ ผลกระทบ ความแปลกใหม่ ความเป็นไปได้ มีแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ คำนึงถึงส่วนรวมเป็นที่ตั้ง เช่น โครงการนวัตกรรมทางสังคมที่ สสส. และภาคีเครือข่ายในจังหวัดร่วมมือจัดทำขึ้น คือ ‘โครงการส่งเสริมนวัตกรรมทางสังคม สร้างเสริมสุขภาวะ สภาเด็กและเยาวชน จังหวัดอุตรดิตถ์’ ที่เล็งเห็นปัญหาสุขภาพของพระสงฆ์ที่ป่วยด้วยโรคความดัน เบาหวาน จึงเกิดเป็นกิจกรรมตักบาตรอาหารคลีนในวันสำคัญทางศาสนา และให้ความรู้เรื่องโภชนาการกับชาวบ้านพร้อมจัดทำคู่มือโภชนาการสำหรับการตักบาตร สิ่งเหล่านี้เป็นนวัตกรรมที่สร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ชาวบ้านและพระสงฆ์ในชุมชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น และเข้าใจกระบวนการสร้างสุขภาพที่ดีอย่างถูกต้องจนสามารถถ่ายทอดไปยังพื้นที่ต่างๆ ต่อไป

การเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้เด็กและเยาวชนในจังหวัดต่างๆ เพื่อให้ทุกส่วนของสังคมได้มีส่วนร่วม ส่งเสริมพัฒนาการเด็ก สืบทอดศิลปวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามของไทย เพราะเด็กคือผ้าขาวที่รอให้ผู้ใหญ่มาแต่งเติมเพิ่มโอกาสให้เป็นกำลังในการพัฒนาชาติบ้านเมืองต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน