เวทีประชุมระดับโลกว่าด้วยการป้องกันการบาดเจ็บและการส่งเสริมความปลอดภัย ครั้งที่ 13 (Safety 2018 – The 13th World Conference on Injury Prevention and Safety Promotion) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ และเพิ่งจบลงไปมีการสรุปบทเรียนจากหลากหลายประเทศเพื่อนำมาเป็นแนวทางสำหรับการจัดการกับงานวิกฤติบำบัดกับอุบัติเหตุ โดยเฉพาะในเวทีอภิปรายหลักทั้งสองวัน มีผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และถอดบทเรียนให้กับผู้เข้าร่วมการประชุมกว่า 1,500 คน จาก 90 ประเทศทั่วโลก ตลอดระยะเวลาการประชุม 3 วัน

หนึ่งในหัวข้อที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนมากคือ การอภิปรายภาพรวมความก้าวหน้าและความสำเร็จระดับโลกด้านการป้องกันการบาดเจ็บและความรุนแรง ดร.เทอรี เรย์โนลด์ (Teri Reynolds) จากองค์การอนามัยโลกกล่าวว่า อุบัติเหตุทางรถคือสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของเด็กและคนวัยหนุ่มสาว ตั้งแต่ 5-29 ปี สำหรับอัตราการเสียชีวิตจากการบาดเจ็บหลังเกิดอุบัติเหตุทางรถในประเทศรายได้ปานกลางและรายได้น้อย อยู่ที่ 18.4 และ 24.1 ต่อผู้บาดเจ็บ 100 คน ซึ่งมากกว่าประเทศที่มีรายได้สูงที่มีอัตราผู้เสียชีวิตเพียง 9.2 ต่อผู้บาดเจ็บ 100 คน

“การลดปัญหาอุบัติเหตุ และการเจ็บตายบนท้องถนนซึ่งเกี่ยวเนื่องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ถึง 5 เป้าหมายด้วยกันคือ เป้าหมายที่ 3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ เป้าหมายที่ 11 เมืองและถิ่นฐานมนุษย์ที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 16 สังคมสงบสุขยุติธรรมไม่แบ่งแยก และเป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน อย่างไรก็ตามพบว่า ทุก ๆ 100 ดอลลาร์ของความช่วยเหลือด้านการพัฒนาด้านสุขภาพเมื่อปี 2560 มีเพียง 50 เซ็นต์เท่านั้นที่ลงทุนไปกับงานพัฒนาวิกฤติบำบัด” คุณเทอรี่กล่าว

ประเทศจีน เป็นหนึ่งในประเทศที่การเจริญเติบโตของสังคมเมืองและวัตถุกำลังก้าวไปถึงขีดสุด จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางรถของจีนจะเป็นปัญหาทางสุขภาวะอันดับ 1 สาเหตุหลักมาจากการไม่ใส่หมวกกันน็อค ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ง่วงแล้วขับ ดร.ตวน เหลย เหลย (Duan LeiLei) ผู้แทนจากศูนย์ควบคุมโรคจีน (China CDC) กล่าวในเวทีกรณีศึกษาประเด็น: ความก้าวหน้า ความท้าทาย และความสำเร็จในระดับประเทศ กับกรณีศึกษาด้านความปลอดภัยบนท้องถนนว่า จีนสามารถลดปัญหาเหล่านี้ได้ถึงสามเท่าตัว สาเหตุหลักมาจากการพัฒนากฎหมาย โดยในปี 2546 มีการออกกฏหมายระดับชาติให้การดื่มแล้วขับเป็นคดีอาญา และยังมีบทบัญญัติเฉพาะเกี่ยวกับความปลอดภัยทางรถ เพื่อสุขภาวะที่ดีของประชาชน และลดผู้พิการจากอุบัติเหตุ

อย่างไรก็ตาม ดร.เหลย เหลย ยอมรับว่า การบังคับใช้กฏหมายมีความท้าทายอย่างยิ่ง เนื่องจากการเพิ่มตัวของจำนวนรถยนต์อย่างรวดเร็วตลอดระยะเวลา 6 ปี เมื่อถนนและคนขับมีจำนวนมากขึ้นย่อมส่งผลกระทบกับประเด็นความปลอดภัย ทางการจีนจึงพยายามรวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลเพื่อเป็นโมเดลสำหรับมาตรการทางกฏหมายและการปฏิบัติงานความปลอดภัยของการใช้รถใช้ถนน

“บทเรียนที่จีนต้องการแบ่งปันให้กับประเทศที่กำลังเดินหน้าทำงานเรื่องความปลอดภัยทางท้องถนนให้ประสบความสำเร็จ ปัจจัยสำคัญคือการประสานความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วนในสังคมให้ช่วยกันขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมาย อีกทั้งยังต้องประเมินและจัดลำดับความสำคัญว่าประเด็นความปลอดภัยทางท้องถนนด้านใดที่ต้องการทำก่อนเช่นการรณรงค์คาดเข็มขัดนิรภัย เมาไม่ขับ ฯลฯ โดยมีข้อมูลและงานศึกษาวิจัยรองรับ เพื่อช่วยชีวิตและเพื่อความปลอดภัยทางท้องถนนที่ยั่งยืน” ดร.เหลย เหลย กล่าว

เคลลี ลาร์สัน (Kelly Larson) ผู้แทนจากมูลนิธิบลูมเบิร์ก เพื่อสาธารณประโยชน์ (Bloomberg Philanthropies) กล่าวว่า การเก็บข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญมากโดยเฉพาะในประเทศที่ยังมีรายได้น้อย เพราะทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจลักษณะของปัญหาความปลอดภัยทางรถที่เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ผ่านการวัดผลเพื่อเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ถือเป็นหนึ่งในเงื่อนไขหลัก ๆ สำหรับการพิจารณาให้ทุนของมูลนิธิ

สำหรับประเทศไทย นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลกด้านวิกฤติบำบัดและอุบัติเหตุ และประธานคณะทำงานป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ไทยมีผู้ป่วยจำนวน 24 ล้านคนที่มาโรงพยาบาลทั่วประเทศทุกปี และในจำนวนนี้ มี 20% ที่เป็นคนไข้ในภาวะวิกฤติ เหตุผลดังกล่าวนำมาสู่การจัดระบบดูแลผู้ป่วยในภาวะวิกฤติอย่างเป็นระบบ โดยให้มีระบบการตรวจซีทีสแกนในทุกโรงพยาบาล เพื่อช่วยลดอัตราการเสียชีวิต ปัจจุบันสอจร. มีเจ้าหน้าที่กว่า 100,000 ทำงานอยู่ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินและภาวะวิกฤติได้ภายใน 8 นาทีโดยเฉลี่ยหลังจากได้รับรายงาน นอกจากนี้ยังมีการจัดทำรายงานวิชาการด้านความปลอดภัยทางท้องถนนระดับชาติในทุกปี

อุบัติเหตุทางถนนจัดอยู่ใน 10 ประเภทของอุบัติเหตุที่เกิดโดยไม่ตั้งใจ และเป็นสาเหตุอันดับ 1 ของการเสียชีวิตในประชากรไทย สถิติล่าสุดพบว่ามีอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ย 32 คน ต่อประชากร 100,000 คน ขณะที่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ภายในปี 2020 กำหนดให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกลดอัตราการสูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้ครึ่งหนึ่งของตัวเลขเดิม นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับไทย เนื่องจาก 90% ของการเกิดอุบัติเหตุมีสาเหตุมาจาก “พฤติกรรมคน” ที่ควบคุมได้ยาก

การสร้างพฤติกรรมการขับขี่อย่างถูกต้องปลอดภัยนั้น Vision Zero เน้นความสำคัญกับการให้ความรู้ตั้งแต่วัยเด็ก ขณะที่วัยผู้ใหญ่ควรได้รับการรณรงค์ชี้ให้เห็นโทษการทำผิดวินัยจราจร ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น โดยอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย เช่นการติดตั้งกล้องตรวจจับความเร็วทุกจุดเสี่ยง และเก็บสถิติการกระทำความผิด เพื่อป้องกันการทำผิดซ้ำ ซึ่งสวีเดนพิสูจน์แล้วว่ามาตรการเหล่านี้มีผลกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนมากที่สุด

“เกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ผ่านมา สสส. ได้สนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายในประเด็นสำคัญ เช่น ลดความเร็วของการขับขี่ในเขตเมือง เพิ่มโทษผู้ดื่มแล้วขับและเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต และสนับสนุนให้เกิดการเชื่อมข้อมูลการกระทำความผิดซ้ำ และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี เช่น เครื่องตรวจจับความเร็ว ป้ายดิจิทัลแสดงความเร็ว กล้องติดหน้ารถ และการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย ตลอดจนสนับสนุนพัฒนาเครือข่ายเฝ้าระวังระดับพื้นที่ (Road Safety Watch) โดยเชื่อม สอจร. กับ เครือข่ายสื่อภูมิภาค ให้เป็นผู้นำให้ความรู้และสื่อสารกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อร่วมกันสร้างความปลอดภัยทางถนน รวมถึงเกาะติดและสะท้อนปัญหาอุบัติเหตุทางถนนให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” นพ.วิทยา กล่าว

ขณะที่การทำงานของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งล่าสุดได้ร่วมมือกับ International Road Assessment Programme (iRAP) ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลด้านความปลอดภัยทางถนน ในการพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศ (Centre of Excellence) เพื่อสนับสนุน และผลักดันมาตรฐานความปลอดภัยทางถนนในประเทศไทยสู่ระดับสากล โดยจะเป็น 1 ใน 10 ศูนย์ความเป็นเลิศของ iRAP ของโลกในการให้คำแนะนำด้านเทคนิคเกี่ยวกับความปลอดภัยของโครงสร้างพื้นฐานทางถนนนับเป็นอีกความสำเร็จของงานด้านวิชาการและนวัตกรรมเทคโนโลยี

ในฐานะศูนย์ความเป็นเลิศของ iRAP และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มุ่งเน้นการเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรในประเทศไทย เพื่อสร้างแผนที่ความเสี่ยง (Risk Mapping) ในการเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงการประเมินถนนแบบดาว (Star Ratings) และเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพสำหรับถนนในประเทศไทย นอกจากนี้ คณะวิศวฯ จุฬาฯ จะร่วมมือกับภาคีเครือข่ายความปลอดภัยทางถนน อาทิ กระทรวงคมนาคม กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กรุงเทพมหานคร และมหาวิทยาลัยเครือข่าย รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ เพื่อร่วมสร้างมาตรฐาน ThaiRAP ซึ่งจะช่วยลดจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตบนท้องถนนได้” รองศาสตราจารย์ ดร.เกษม ชูจารุกุล รองคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว

โครงการ ThaiRAP ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิบลูมเบิร์กเพื่อสาธารณประโยชน์ (Bloomberg Philanthropies) ภายใต้โครงการความคิดริเริ่มเพื่อความปลอดภัยทางถนนทั่วโลก (BIGRS) โดยความร่วมมือกับธนาคารโลก และ iRAP รวมทั้งประเทศต่าง ๆ กว่า 90 ประเทศทั่วโลก ในการผลักดันและขับเคลื่อนเป้าหมายของสหประชาชาติในการลดความเสี่ยงของอุบัติเหตุทางถนน

จากรายงานขององค์กรอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนสูงเป็นอันดับสองของโลก โดยมีผู้เสียชีวิตกว่า 24,000 คน ในแต่ละปี คิดเป็นความสูญเสียมากถึง 66 รายในแต่ละวัน โดยร้อยละ 83 เกิดขึ้นกับกลุ่มคนเดินเท้า ผู้ใช้จักรยาน และผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ คิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 3-5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ

“ความเชี่ยวชาญจากคณะวิศวฯ จุฬาฯ และหน่วยงานภาคีเครือข่ายในประเทศไทย เพื่อสร้างมาตรฐาน ThaiRAP จะช่วยลดจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในประเทศไทยได้ สิ่งสำคัญที่สุดได้แก่การปรับปรุงแก้ไขถนนที่อยู่ในระดับ 1 ดาว และ 2 ดาวสำหรับผู้เดินเท้า ผู้ใช้จักรยาน และผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ เป้าหมายของสหประชาชาติได้กำหนดให้การเดินทางอย่าง น้อยร้อยละ 75 สำหรับผู้ใช้ทางทุกประเภท ต้องอยู่บนถนนตั้งแต่ 3 ดาวขึ้นไป หากประเทศไทยสามารถบรรลุค่าเป้าหมายดังกล่าว จะช่วยลดจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตได้มากกว่า 1 ใน 3 โดยจะเกิดผลประโยชน์อย่างน้อย 34 บาท สำหรับงบประมาณทุก ๆ 1 บาทที่ลงทุน” Mr. Rob McInerney, CEO ของ iRAP กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน