ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน หรือ Research & Innovation for Sustainability Center: RISC คือศูนย์การวิจัยชั้นนำที่มุ่งค้นคว้าหาแนวทางในการใช้ทรัพยากรทุกชนิดให้คุ้มค่ามากที่สุด เพื่อนำไปสู่ระบบนิเวศที่มีสุขภาพดีอย่างยั่งยืนทั้งในเชิงสิ่งแวดล้อมและสังคม ลดผลกระทบจากพฤติกรรมของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการร่วมแบ่งปันองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ออกแบบอุตสาหกรรม และศิลปกรรมศาสตร์กับหน่วยงานจากในประเทศและต่างประเทศ โดยอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น (MQDC) ผู้ดำเนินธุรกิจการพัฒนา ลงทุน และจัดการอสังหาริมทรัพย์ระดับสากล ทั้งนี้ RISC นับเป็นศูนย์การวิจัยแห่งแรกของเอเชียที่มุ่งเน้นด้านการส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของทุกสรรพสิ่งบนโลกผ่านการวิจัยและนวัตกรรมด้วย

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะผลักดันความตั้งใจของศูนย์ฯ ให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และอยากจุดประกายความคิดนี้ให้พี่น้องคนไทยจากทุกภาคส่วนตื่นตัวกับนวัตกรรมเปลี่ยนชีวิต จึงได้เกิดเป็นงานเสวนาระดับนานาชาติสุดยิ่งใหญ่ “WATS Forum 2019” ขึ้น เมื่อวันจันทร์ ที่ 3 มิถุนายน ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์

ซึ่งมีความน่าสนใจตั้งแต่ชื่องานกันเลยทีเดียว ‘WATS’ มีความหมายดีๆซ่อนอยู่

W – Well-being (ความเป็นอยู่ที่ดี)
A – Architecture (สถาปัตยกรรม)
T – Technology (เทคโนโลยี)
S – Sustainability (ความยั่งยืน)

รวมๆแล้วออกมาเป็นธีมหลักของงานและจุดประสงค์หลักของศูนย์ฯนั่นก็คือ “Well-Being Sustainability model” การสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน เพื่อดูแลรักษาโลกให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น

ภายในงานมี 4 สุดยอดกูรูชั้นนำระดับโลก มาร่วมแบ่งปันไอเดีย แชร์ประสบการณ์ และส่งต่อองค์ความรู้ในการพัฒนาการออกแบบงานสถาปัตยกรรม และเทคโนโลยี เพื่อก้าวสู่โลกนวัตกรรมการเปลี่ยนชีวิตกันอย่างเต็มอิ่ม ตลอดระยะเวลากว่า 3 ชั่วโมง

ดาโช เชอริง ต๊อบเกย์ อดีตนายกรัฐมนตรีประเทศภูฏาน ผู้ให้ความสำคัญกับความสุขของประชาชนมากกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ จนทำให้ภูฏานกลายเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีปริมาณคาร์บอนสุทธิติดลบถึง 2 ล้านตัน เกิดจากการผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้เองจากแม่น้ำ และมีพื้นที่ป่ามากกว่า 72% ของพื้นที่ทั้งหมด (รัฐธรรมนูญของประเทศฯกำหนดให้มีผืนป่ามากกว่า 60% เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง)

“เน้นย้ำเรื่องการให้ความสำคัญของความสุขมวลรวมประชาชาติ Gross National Happiness (GNH) มากกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ Gross Domestic Product (GDP) และใช้ความสุขของประชากรเป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จของประเทศ โดยเริ่มต้นจากผู้นำ ที่ต้องหยิบยื่นความสุขพื้นฐาน อาทิ สวัสดิการสาธารณะ การอนุรักษ์วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม การสร้างนโยบายด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กับประชาชน การพัฒนาเศรษฐกิจโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด เป็นการพัฒนาแบบองค์รวม เพื่อทำให้คนในประเทศมีความสุขก่อนเป็นลำดับแรก และความยั่งยืนของสภาพแวดล้อมจะตามมา”

ศาสตราจารย์ ไมเคิล สวีเตน สตราโน นักวิศวกรรมเคมี ผู้เชี่ยวชาญด้านนาโนไบโอนิค จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) มีผลงานตีพิมพ์ด้านการวิจัยและประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมกว่า 50 ฉบับ และเป็นผู้ก่อตั้งสาขาวิชา Plant Nanobionics ซึ่งศึกษาและพัฒนาพืชให้มีความสามารถแปลกๆ เช่น พืชที่มีเซนเซอร์บนใบไม้ ซึ่งสามารถบอกได้เมื่อต้องการน้ำ, พืชที่ตรวจหาระเบิดใต้น้ำได้, พืชที่สามารถบันทึกภาพโดยรอบได้แบบ 3 มิติ เป็นต้น ซึ่งได้รับการยอมรับในฐานะนักประดิษฐ์ว่ามีอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งของโลก นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้ไขความลับการพัฒนาสิ่งมีชีวิตเรืองแสงที่น่าสนใจ ด้วยการนำเอนไซม์และโมเลกุลแบบหิ่งห้อยมาพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับต้นไม้ให้สามารถส่องสว่างได้เอง โดยได้รับแรงบันดาลใจสุดว้าว!ครั้งนี้จากภาพยนตร์เรื่องอวาตาร์ (Avatar) ที่มีฉากต้นไม้เรืองแสงได้โดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้า

ต้นไม้ส่องสว่างนี้ เกิดจากการนำเอาเอนไซม์ Luciferase ที่ทำให้หิ่งห้อยเกิดแสงได้มาใส่ในผักสลัดน้ำ (วอเตอร์เครส) ซึ่งสามารถเรืองแสงได้เป็นระยะเวลาสูงสุด 4 ชั่วโมง และมีความเข้มข้นของแสงประมาณ 6% ของหลอดไฟ LED เป้าหมายต่อไปคือการพัฒนาให้พืชส่องสว่างจนสามารถนำมาใช้แทนโคมไฟอ่านหนังสือหรือเสาไฟตามท้องถนน เพื่อสร้างแหล่งกำเนิดแสงจากธรรมชาติโดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าหรือแบตเตอรี่

“วิสัยทัศน์ของผมคือการทำให้พืชสามารถผลิตแสงไฟได้จากการเผาผลาญพลังงานของพืชเอง ในโอกาสก็ได้ร่วมกับ RISC ต่อยอดโครงการต้นไม้เรืองแสงให้สามารถส่องสว่างได้มากยิ่งขึ้น เพื่อลดการใช้พลังงาน เพิ่มปริมาณพื้นที่สีเขียว และช่วยสร้างออกซิเจนให้มากขึ้น : Using nanoscience to expand the role of living plants to help humanity”

รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมการแพทย์จากม.มหิดล ผู้ได้ชื่อว่าเป็น ‘นักซ่อมสมองมนุษย์’ ซึ่งนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีทางด้านคลื่นไฟฟ้าสมองกับวิศวกรรมศาสตร์มาผนวกรวมกันเป็นสิ่งประดิษฐ์ชิ้นเอก ที่จะสามารถเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้ป่วยอัมพาต และทุพพลภาพไปตลอดกาล

ด้วยความฝันในวันเยาว์ที่อยากช่วยเหลือคนในครอบครัวที่ป่วยเป็นอัมพาต สู่แรงผลักดันในการศึกษาค้นคว้าเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการมายาวนานกว่า 10ปี เกิดเป็นสิ่งประดิษฐ์อาทิ รถวีลแชร์และอุปกรณ์ควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าด้วยคลื่นสมองเพื่อผู้พิการขั้นรุนแรง ที่จะทำให้ผู้ป่วยอัมพาตสามารถทำกิจกรรมบางอย่างได้ด้วยตัวเอง เช่น รับประทานอาหาร เปิดปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า และเคลื่อนที่ไปยังที่ต้องการ โดยอาศัยองค์ความรู้ BCI หรือ Brain-Computer Inter face ซึ่งใช้เซนเซอร์จับคลื่นไฟฟ้าสมองเพื่อนำมาสั่งการเคลื่อนไหว ได้รับรางวัลการันตีจากม.มหิดลประจำปี 2556 และรางวัลนักประดิษฐ์โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติในปี 2559


“เข้าใจมุมมองผู้ทุพพลภาพ ที่เวลาอยากทำอะไรแล้วไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามต้องการ ผมไม่อยากให้ผู้ป่วยอัมพาตรู้สึกไม่ดีอีกต่อไป และมีเป้าหมายสำคัญคือคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ทุพพลภาพ ให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างเป็นสุข เพราะฉะนั้นร่างกายพัง แต่สมองยังใช้ได้ ก็อย่าเพิ่งสิ้นหวัง”

สเตฟาน เดอ โคนิง สุดยอดสถาปนิกชาวดัตซ์ผู้นำนวัตกรรมเข้ามาผสมผสานในงานออกแบบเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น (Well-being) จาก MVRDV สำนักงานออกแบบสถาปัตยกรรมและผังเมืองชื่อดังระดับโลก ผู้เชี่ยวชาญด้านการเสนอการแก้ไขปัญหาสถาปัตยกรรมร่วมสมัยและการฟื้นฟูเมือง ที่ฝากผลงานการออกแบบไว้อย่างมากมาย อาทิ ศูนย์การค้าดีไซน์สุดล้ำ ‘The Gyre’ บนถนนโอโมเตะซันโด ใจกลางกรุงโตเกียว ‘Peruri88’ โครงการมิกซ์ยูสใจกลางกรุงจาร์กาตา ที่ประกอบด้วยที่พักอาศัย สำนักงาน พื้นที่เชิงพาณิชย์ และพื้นที่สาธารณะที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการพื้นที่สีเขียวท่ามกลางความหนาแน่นของชุมชนเมืองที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง


“การออกแบบที่อยู่อาศัยทุกครั้งจะต้องร่วมสมัยและใส่ใจสิ่งแวดล้อม จัดให้มีพื้นที่สาธารณะและ
พื้นที่สีเขียว เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนที่แท้จริง”

รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษา RISC กล่าวสรุปว่า จากกระแสการตอบรับที่ดีมากในครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่าทุกภาคส่วนทั้งจากภาครัฐและเอกชน เกิดการตื่นตัวและเริ่มให้ความใส่ใจในการแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น RISC ในฐานะที่เป็นสถานที่แห่งการแบ่งปันและกระจายองค์ความรู้สู่สังคมที่ทุกคนเข้าถึงได้ พร้อมที่จะเป็นตัวกลางในการสร้างเครือข่ายร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผ่านการวิจัยและนวัตกรรมต่างๆ โดยจะเดินหน้าขับเคลื่อนงาน WATS Forum ที่จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ให้กลายเป็นเวทีสำคัญของการรวมตัวและเชื่อมโยงกลุ่มคนที่มีแนวคิดเดียวกัน มุ่งหวังให้ทุกคนเกิดแรงบันดาลใจ มีความเข้าใจในเรื่องการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน (Well-Being Sustainability model) เกิดการนำไปใช้จริงในการดำเนินชีวิต และช่วยกันดูแลรักษาโลกให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ที่ไม่ใช่เฉพาะกับมนุษย์เท่านั้น แต่รวมถึงทุกสรรพสิ่งบนโลกนี้ (for all well-being) ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขอย่างเป็นรูปธรรม ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลก

“มนุษย์เพียงอย่างเดียวไม่อาจแก้ไขปัญหาของโลกได้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกับธรรมชาติด้วย เพื่อเดินไปข้างหน้าพร้อมๆกันอย่างยั่งยืน”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน