คนไทยดื่มนมเพียง 18 ลิตรต่อคนต่อปี ซึ่งเป้าหมาย คือ จะต้องเพิ่มอัตราการดื่มนมของคนไทยให้ได้ 25 ลิตรต่อคนต่อปี ภายในปี 2563 เนื่องจากนมมีประโยชน์ มีคุณค่าทางโภชนาการ แต่ที่ต้องตกใจ คือ ของมีประโยชน์อย่างนม คนกลับสนใจดื่มน้อยกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

แม้จำนวนการดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทยในปี 2556 จะอยู่ที่ประมาณ 7.1 ลิตรต่อคนต่อปี ซึ่งอาจจะดูน้อยกว่า แต่หากดูจากสถิติของสวนดุสิตโพลที่สำรวจพฤติกรรมการดื่มนมของคนไทยจะพบว่า คนไทยดื่มนมประจำ 44.10% ดื่มนมบ้าง 42.04% และไม่ดื่มนมเลย 13.86% เมื่อจำแนกตามอายุ พบว่า อายุ 3-12 ปี ดื่มนม 88.89% อายุ 13-20 ปี ดื่มนม 44.17% อายุ 21-35 ปี ดื่มนม 41.39% อายุ 36-50 ปี ดื่มนม 38.56% อายุ 51-60 ปี ดื่มนม 35.29% และอายุมากกว่า 60 ปี ดื่มนม 29.96% จะเห็นได้ว่ายิ่งอายุมากขึ้นยิ่งดื่มนมน้อยลงเรื่อยๆ และเมื่อพ้นอายุ 12 ปี การดื่มนมลดลงถึงครึ่งหนึ่ง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. เป็นหนึ่งใน 7 หน่วยงานที่ลงนามความร่วมมือเป็นเครือข่าย นมดีทุกวัย ดื่มได้ทุกวัน ร่วมกับกรมอนามัย สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า สมาคมนิสิตเก่าสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมาคมนิสิตเก่าอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารนมไทย และนายกสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย ซึ่ง สสส.จะช่วยส่งเสริมการรณรงค์ให้คนไทยดื่มนมมากขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งขณะนี้คนไทยยังดื่มนมน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั้งที่นมมีคุณประโยชน์อย่างมาก มีแคลเซียมและวิตามิน จึงควรให้ได้ดื่มนมทุกวัยดื่มได้ทุกวัน เช่น วันแรกเกิด 0-6 เดือนให้ดื่มนมแม่อย่างเดียว เมื่อโตขึ้นจากนี้ก็กินอาหารตามวัยแล้วเสริมด้วยนมวัววันละ 1-2 แก้ว ส่วนคนอายุมากขึ้นก็ต้องดื่มเพื่อเสริมความแข็งแรงของกระดูก โดยอาจเลือกดื่มนมพร่องมันเนย อย่างไรก็ตาม ควรระมัดระวังการดื่มนมเปรี้ยวเพราะมีน้ำตาลสูง อาจทำให้อ้วนได้

ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า โดยเฉพาะการส่งเสริมการบริโภคนมเพื่อทดแทนการดื่มเครื่องดื่มที่ไม่มีประโยชน์ เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน อาทิ เครื่องดื่มชา และน้ำอัดลม โดยที่ผ่านมาได้มีกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ เช่น กิจกรรมดื่มนมชมบอลที่มีกลุ่มนักศึกษาในสถาบันการศึกษาเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก หรือกิจกรรมปาร์ตี้โนแอลในช่วงเฉลิมฉลองปีใหม่ เป็นต้น สสส.ก็จะเน้นส่งเสริมรณรงค์ในส่วนนี้ และส่งเสริมให้วัยเรียนดื่มนมมากขึ้น เข้าใจประโยชน์ของการดื่มนมมากขึ้น เพราะแม้จะมีนมโรงเรียน ก็ยังมีปัญหาเด็กไม่ยอมดื่มนม ซึ่งต้องแก้ปัญหาในจุดนี้ด้วย

สาเหตุที่เด็กดื่มนมมากกว่าวันอื่นๆ นั่นเพราะในช่วงอายุน้อยหรือเป็นเด็ก ยังถูกบังคับให้ดื่มนมอยู่ แต่เมื่อโตขึ้นมีสิทธิในการเลือกดื่ม ซึ่งวัยรุ่นและวัยทำงานต่างหันมาซดเหล้ามากกว่าเลือกที่จะดื่มนม ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหาที่น่าห่วง

ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า คนไทยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าดื่มนม แม้จะไม่มีตัวเลขที่เทียบปริมาณการดื่มอย่างชัดๆ เพราะแอลกอฮอล์มีการดื่มหลายแบบ ทั้งเหล้า เบียร์ ซึ่งเทียบเป็นลิตรค่อนข้างยาก แต่หากเทียบกับมูลค่าทางการตลาดแล้วจะพบว่า มูลค่าทางตลาดของนมไทยอยู่ที่ 5-6 หมื่นล้านบาท ส่วนตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงถึง 3 แสนล้านบาท ไม่เพียงเท่านั้น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังเป็นที่มาของการเกิดอุบัติเหตุ ตายก่อนวัย ทำให้สูญเสียปีละ 1.5 แสนล้านบาท หากส่งเสริมให้คนดื่มนมแทนดื่มเหล้า โดยเปิดพื้นที่แบบโคเวิร์กกิ้งสเปซ ให้เด็กได้มีพื้นที่มาทำกิจกรรม อ่านหนังสือทำงาน มีไฟฟ้าให้ใช้ และมีอาหารเครื่องดื่มที่เป็นประโยชน์ให้เด็ก โดยเฉพาะบริเวณโดยรอบสถานศึกษา เชื่อว่าจะส่งเสริมให้เกิดการดื่มนมเพิ่มมากขึ้นได้

ภก.สงกรานต์ ระบุว่า นอกจากนี้ ยังต้องแก้ไขค่านิยมความเชื่อที่ว่า การดื่มนมเป็นเรื่องของเด็ก เพราะผู้ใหญ่แล้วจะไม่กินนม ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจของสวนดุสิตโพลที่พบว่า คนวัยผู้ใหญ่ดื่มนมน้อยกว่าวัยเด็ก ซึ่งเหตุผลเพราะคิดว่าได้รับสารอาหารครบถ้วนแล้ว ไม่จำเป็นต้องดื่ม รวมถึงการมองว่าผู้ชายที่หยิบนมมาดื่มเป็นผู้ชายยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนมแบบเด็ก ยังติดแม่ ซึ่งต้องเปลี่ยนค่านิยมว่า การดื่มนมนั้นดีต่อสุขภาพ การดื่มนั้นเป็นประโยชน์ต่อร่างกายและดีต่อทุกวัย มากกว่าจะมองว่าเป็นเรื่องของเด็กที่ต้องดื่ม

นายวิเชียร ผลวัฒนสุข ประธานเครือข่ายนมดีทุกวัยดื่มได้ทุกวัน กล่าวว่า ประเทศไทยมีการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมมากว่า 50 ปี ใน 25 จังหวัด ผลิตน้ำนมดิบได้จำนวนมากส่งให้โรงงานแปรรูปภายในประเทศเพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ แต่กลับพบว่าคนไทยดื่มนมน้อยมากเพียง 18 ลิตรต่อคนต่อปีเท่านั้น จะต้องมีการร่วมกันรณรงค์ให้มีการบริโภคมากขึ้น เพื่มเป็น 25 ลิตรต่อคนต่อปีภายในปี 2563 และค่อยขยับเป็น 35 ลิตรต่อคนต่อปีตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกหรือฮูต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน