สัมพันธภาพที่ดีในครอบครัวเป็นปัจจัยป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ของวัยรุ่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ มีแฟน ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หรือใช้ยาเสพติด การสื่อสารและใช้เวลาว่างในครอบครัวร่วมกันอย่างมีคุณภาพ เสมือนได้เติมวิตามิน เป็นยาบำรุงที่ทุกครอบครัวควรมี

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ในงานประชุมวิชาการระดับชาติครั้งที่ 15 “ประชากรและสังคม 2562” เรื่อง ครอบครัวไทย สะท้อนอะไรในสังคม The Reflection of Thai Families to Society โดย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวตอนหนึ่งในการปาฐกถาในหัวข้อ “ครอบครัวคือจุดคานงัดของสังคมไทย”ว่า ครอบครัวเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้ประชากรไทยมีสุขภาวะ แต่การจะไปถึงเป้าหมายต้องอาศัยความร่วมมือของทุกสถาบันและทุกคนในสังคม ซึ่งครอบครัวถือเป็นแหล่งเรียนรู้ลำดับแรก ๆ ของมนุษย์ แต่ด้วยการพัฒนาของสังคมในด้านต่าง ๆ ทำให้ถูกละเลยความสำคัญ ส่งผลให้สิ่งที่ลูกหลานจะเรียนรู้จากพ่อแม่ หรือปู่ย่า ตายายลดน้อยลง และหันไปให้ความสำคัญกับการเรียนรู้สิ่งใหม่รอบตัวในสังคม ท่ามกลางสิ่งยั่วยุต่างๆ มากขึ้น

ดร.สุปรีดา กล่าวว่า เป้าหมายการทำงานของ สสส. คือพัฒนาให้เกิด “ครอบครัวสุขภาวะ” ซึ่งองค์ประกอบของครอบครัวสุขภาวะประกอบไปด้วย 1) สัมพันธภาพของคนในครอบครัว ที่ราบรื่น สร้างสรรค์ 2) บทบาทหน้าที่ที่เหมาะสม ชัดเจน แต่ละคนปฏิบัติต่อกันได้อย่างเหมาะสม 3) พึ่งพาตนเองได้ ทั้งเรื่องของเศรษฐกิจ สุขภาพ ข่าวสารที่พึงรู้ 4) ทุนสังคม อยู่ในชุมชนและสังคมที่อบอุ่น มีสวัสดิการพื้นฐานที่ช่วยดูแล มีความรู้ในขั้นที่อยู่ในสังคมได้ 5) สามารถเผชิญความเสี่ยงต่าง ๆ ในภาวะยากลำบากได้ ไม่ว่าจะภัยธรรมชาติ ภัยการเมือง ก็สามารถปรับตัวและเอาตัวเอาตัวรอดได้

ด้าน ศ.เกียรติคุณ ดร.อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์ หัวหน้าโครงการครอบครัวสำคัญ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึงคู่มือสร้างภูมิคุ้มกันให้ครอบครัวว่า คู่มือวิตามิน F13 มาจากคำว่า Family ที่แปลว่าครอบครัว ส่วน 13 คือช่วงวัยรุ่นอายุ 13 เป็นวัยทองที่พ่อแม่ต้องหาจังหวะสำคัญที่สุดในการพูดคุยกับลูก ซึ่งคู่มือดังกล่าวจะช่วยให้พ่อแม่รู้วิธีในการสื่อสารกับลูกง่ายขึ้น

“วิตามิน F13 เป็นคู่มือที่จะช่วยให้พ่อแม่สื่อสารกับลูกวัยรุ่นได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องเพศ เหล้า บุหรี่ ซึ่งถือเป็นเรื่องของการป้องกัน เพราะหากสื่อสารช้าจะทำให้วัยรุ่นไม่สนใจและหันไปฟังเพื่อนมากกว่า” ศ.เกียรติคุณ ดร.อภิชาติ อธิบายเพิ่ม

ทางด้าน ผศ.ดร.จรัมพร โห้ลำยอง นักวิจัยโครงการครอบครัวสำคัญ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าถึงที่มาของ วิตามิน F13 ว่า จากการสำรวจลักษณะและช่องว่างของการสื่อสารภายในครอบครัวที่มีบุตรอายุ 13-14 ปี พบปัญหาในการสื่อสารกับลูกในเรื่องที่พ่อแม่ห่วงมากที่สุดคือ เรื่องเพศสัมพันธ์และยาเสพติด โดยไม่รู้จะพูดหรือสอนลูกอย่างไร หรือไม่ได้พูด ไม่มีโอกาสได้พูด ในมุมกลับกันเรื่องที่สามารถสื่อสารกับลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพคือเรื่องของการใช้เงินและการคบเพื่อน ที่ออกมาในรูปแบบของการบ่น หรือการพูดคุยอย่างสร้างสรรค์ จึงเป็นที่มาของวิตามิน F13

ปิดท้ายด้วย รศ.ดร.ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต ที่ปรึกษาผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ด้านพัฒนากิจการเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พูดถึงความหลากหลายของการสร้างครอบครัวให้มีความอบอุ่นว่า บทบาทหน้าที่ การสื่อสาร วิธีคิด และแนวคิดที่เป็นบวก เป็นพลังสำคัญที่จะทำให้ทุกครอบครัวเข้มแข็งและสามารถก้าวไปข้างหน้า โดยครอบครัวที่มีลูกลักษณะเฉพาะที่มีรูปแบบการสอนให้เข้มแข็ง และดึงจุดเด่นออกมาเพื่อให้เกิดความเคยชินในการใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสังคมภายนอก ขณะที่ครอบครัวเพศเดียวกันที่เน้นมุมมองในเรื่องของความรัก และมุ่งมั่นที่จะทำในสิ่งที่ตนไม่ได้มองว่าผิดหรือมุมมองที่ควรอับอาย เป็นต้น

“ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวแบบไหนก็ตาม หากให้ความเคารพบทบาทซึ่งกันและกัน สื่อสารกัน มองกันในแง่มุมที่ดี ก็จะเกิดความรัก มีครอบครัวหนึ่งให้ความเห็นว่า‘ถ้าแม้จะไม่มีเงิน แต่หากมีความรักก็สามารถทะลุทะลวงปัญหาเศรษฐกิจได้’ เพราะในหลายครั้งความรักและความอบอุ่นของครอบครัวมีค่ามากกว่าเงิน”รศ.ดร.ศิรินันท์ กล่าวสรุป

วิตามิน F13 เป็นคู่มือที่จะบำรุงครอบครัวในเรื่องการสื่อสารเพื่อให้เด็กไม่ตกเป็นเหยื่อของสภาพแวดล้อมที่มีภัยรอบตัว อย่างไรก็ตามครอบครัวไทยในปัจจุบันอาจไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าความรักและความอบอุ่นที่จะนำพาไปสู่การเป็นครอบครัวที่เข้มแข็ง และมีสุขภาวะที่ดีต่อไปในอนาคต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน