เพื่อรองรับความต้องการการใช้ไฟฟ้าของชาว กทม. ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต พร้อม ๆ กับเป็นแนวทางแก้ไขความเสียหายของเสาและสายไฟจนถึงสายสื่อสารที่เกิดขึ้นจากทั้งลมพายุซึ่งเป็นภัยธรรมชาติ และจากฝีมือมนุษย์อย่างกรณีรถพุ่งชนเสาไฟฟ้าจนอาจทำให้ล้มและส่งผลเดือดร้อนต่อเนื่องไปยังบ้านเรือนหรือผู้ที่สัญจรในบริเวณนั้น เป็นที่มาของ “โครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน” ที่ “การไฟฟ้านครหลวง” ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

ก่อนที่จะเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินได้นั้น ทาง กฟน. เริ่มต้นจากการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลระบบสาธารณูปโภค หาวิธีแก้ปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชน เข้าสู่ขั้นตอนการวางแผนและออกแบบเพื่อเปลี่ยนระบบจากสายไฟฟ้าสายอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน จากนั้นถึงจะลงมือก่อสร้างบ่อพัก จนถึงขั้นตอนการก่อสร้างโครงการ 4 วิธี ได้แก่ การขุดเปิด (Open Cut) การดึงท่อ (Horizontal Directional Drilling) การดันท่อ (Pipe Jacking) และการก่อสร้างอุโมงค์ (Tunnelling) และในขั้นตอนต่อจากนั้นก็จะเป็นการติดตั้งสายไฟฟ้าใต้ดินและอุปกรณ์ไฟฟ้า เปลี่ยนระบบจำหน่ายไฟฟ้าจากสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน และสุดท้ายคือ การรื้อถอนเสาและสายไฟฟ้าอากาศ รวมทั้งสายสื่อสารออกจากพื้นที่

เนื่องจากโครงการนี้ กฟน. ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง หลายคนก็คงได้เห็นถนนบางสายที่สวยงาม ไร้เสาสายกันจนชินตา แต่ก็ยังมีถนนใน กทม. อีกมากมายที่อยู่ในระหว่างดำเนินการ เนื่องจากว่าโครงการนี้จำเป็นต้องใช้งบประมาณลงทุนที่สูงมาก ขั้นตอนและกระบวนการทำงานที่ค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อน ข้อจำกัดในการดำเนินงานได้เฉพาะช่วงกลางคืน รวมถึงอุปสรรคอื่น ๆ ที่พบในช่วงขั้นตอนการขุดเจาะ จึงไม่สามารถดำเนินโครงการได้ครบทุกพื้นที่ในเวลาเพียงไม่กี่ปี โดยจำเป็นต้องเลือกแนวถนนสายหลักซึ่งเป็นย่านธุรกิจ ที่ตั้งของโครงการอสังหาริมทรัพย์ แนวการก่อสร้างรถไฟฟ้า รวมถึงสถานที่สำคัญต่าง ๆ

ทั้งนี้ โครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินของ กฟน. มีที่ดำเนินการไปแล้ว ได้แก่ ถนนสีลม ระยะทาง 2.7 กม., ย่านปทุมวัน ระยะทาง 6.7 กม. ได้แก่ ถนนพระรามที่ 4 ถนนพญาไท ถนนพระรามที่ 1 ถนนเพลิตจิต ถนนราชดำริ, ย่านจิตรลดา ระยะยทาง 6.8 กม. ได้แก่ ถนนพระราม 9 ถนนศรีอยุธยา ถนนราชวิถี ถนนสวรรคโลก ถนนสุโขทัย ถนนพิชัย ถนนอู่ทองใน ถนนราชดำเนินนอก ฯลฯ, ย่านพหลโยธิน ระยะทาง 3.8 กม. ได้แก่ ถนนพญาไท ถนนโยธี ถนนศรีอยุธยา ถนนเพชรบุรี, ย่านสุขุมวิท ระยะทาง 12.6 กม. ได้แก่ ถนนสุขุมวิทตั้งแต่เพลินจิตถึงสุขุมวิท 81 (มีบางซอยแยกที่ได้ปรับเปลี่ยนระบบจ่ายไฟไปแล้วแต่ยังไม่ได้รื้อถอนเสาสาย), ย่านปทุมวัน จิตรลดา และพญาไท ระยะทาง 5 กม. เช่น ถนนราชวิถี ถนนโยธี ถนนศรีอยุธยา ถนนเพชรบุรี ฯลฯ รวมระยะทางที่ดำเนินไปแล้วทั้งสิ้น 45.6 กม.

และที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างโดยมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2564 ได้แก่ ย่านนนทรี ระยะทาง 8.3 กม. ประกอบด้วย ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ซอยสว่างอารมณ์ ถนนเลียบทางด่วนเฉลิมมหานคร ถนนสาธุประดิษฐ์, ย่านพระราม 3 ระยะทาง 10.9 กม. นอกจากนี้ ยังมีย่านรัชดาภิเษก-อโศก ระยะทาง 8.2 กม. ที่กำลังอยู่ระหว่างการขออนุญาตก่อสร้างจาก กทม. และย่านรัชดาภิเษก-พระราม 9 ระยะทาง 14.3 กม. ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง

สำหรับโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินเพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน รวมระยะทาง 127.3 กม. กฟน. ได้เร่งรัดให้แล้วเสร็จในปี 2564 จำนวน 39 เส้นทาง อาทิ ถนนอังรีดูนังต์ ถนนชิดลม ถนนสาทร ถนนเพชรบุรี ถนนดินแดง ถนนแจ้งวัฒนะ ถนนจรัญสนิทวงศ์ ถนนลาดพร้าว ฯลฯ เรียกว่าเกือบครอบคลุมทุกถนนสายหลักเลยทีเดียว

มาถึงตรงนี้ บางคนอาจจะสงสัยว่าเมื่อนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินแล้ว ถ้าเกิดปัญหาจะมีวิธีตรวจสอบอย่างไร กฟน. แจ้งว่า สายไฟฟ้าใต้ดินนั้นจะมีโอกาสเกิดปัญหาน้อยมากเมื่อเทียบกับระบบสายไฟฟ้าอากาศ เพราะมีสิ่งรบกวนจากภายนอกน้อยกว่า แต่เมื่อใดที่เกิดปัญหา ก็จะใช้เครื่องทดสอบ Time Domain Reflection ทำการส่งคลื่นเข้าไปยังจุดที่มีปัญหา เพื่อสะท้อนกลับมาเป็นระยะทาง ทำให้ทราบตำแหน่งและดำเนินการแก้ไขได้อย่างตรงจุด

“โครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน” นอกจากจะช่วยให้ระบบไฟฟ้ามีความมั่นคง ปลอดภัยมากขึ้นแล้ว ยังช่วยทำให้ทัศนียภาพโดยรวมของกรุงเทพมหานครสวยงามสะอาดตายิ่งขึ้นสมกับเป็น “เมืองฟ้าอมร”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน