ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT จัดโครงการ“SACICT จิตอาสา” เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช 2562 เฉลิมพระเกียรติและถวายความจงรักภักดี น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยผสานพลังครูฯ และทายาทฯ แบ่งปันความรู้งานหัตถศิลป์แก่กลุ่มเยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และคนชายขอบ สร้างอาชีพและรายได้ สร้างรอยยิ้มและความสุขให้สังคมไทย

นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและถวายความจงรักภักดี น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง รัชกาลที่ 10 ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT จึงได้จัดกิจกรรม 10 กิจกรรม ภายใต้ชื่อโครงการ “SACICT จิตอาสา” โดยได้น้อมนำแนวพระราชดำริในด้าน “จิตอาสา”ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการทำประโยชน์ให้แก่สังคมและผู้อื่น รวมทั้งการสืบสานพระราชปณิธานในการส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมไทยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของ SACICT ในการอนุรักษ์ สืบสาน และต่อยอดงานศิลปหัตถกรรมไทย ภายใต้กลยุทธ์ “หัตถศิลป์ของชีวิตปัจจุบัน” กิจกรรมครั้งนี้เป็นการแสดงพลังของชาว SACICT รวมทั้งบุคลากรผู้สร้างสรรค์ผลงานงานศิลปหัตถกรรม ได้แก่ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรมที่ SACICT เชิดชู ในการถ่ายทอดและแบ่งปันองค์ความรู้ด้านศิลปหัตถกรรมให้แก่สังคมไทย แบ่งกิจกรรมเป็น 2 ส่วนคือ “SACICT จิตอาสา พัฒนาอาชีพ”และ “SACICT จิตอาสา นำพาความสุข”

สำหรับ “SACICT จิตอาสา พัฒนาอาชีพ”เพื่อการสร้างอาชีพแก่ผู้ด้อยโอกาสในสังคม เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มคนชายขอบ ผู้พิการ และกลุ่มประชาชนในสามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งจะจัดกิจกรรมทั้งสิ้น 8 ครั้งใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง จ.เชียงราย , กลุ่มชุมชนบ้านคำข่า จ.สกลนคร , ชุมชนหนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี , ชมรมคนพิการทางสติปัญญา จ.สุพรรณบุรี , วัดศรีจันทร์ประดิษฐ์ จ.สมุทรปราการ , กลุ่มชาวเขาแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ , กลุ่มบ้านทอนอามาน จ.นราธิวาส และกลุ่มชุมชนผ้าศรียะลาบาติก จ.ยะลา เพื่อให้เกิดการพัฒนางานศิลปหัตถกรรมที่ยั่งยืน เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยแก้ปัญหาความยากจน สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างความเท่าเทียมในสังคม ลดความเหลื่อมล้ำของกลุ่มผู้ที่ขาดโอกาสทางสังคม เช่น คนชายขอบ กลุ่มชนเผ่าชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีโอกาสในการเข้าถึงองค์ความรู้ด้านศิลปหัตถกรรม รวมทั้งยังเป็นการเสริมสร้างสถาบันครอบครัวให้มีความเข้มแข็ง ไม่ต้องละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด ยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างให้เศรษฐกิจฐานรากให้มีความมั่นคง

ส่วนกิจกรรม “SACICT จิตอาสา นำพาความสุข” เปิดโอกาสให้ผู้คนในสังคมรู้จักการนำงานศิลปหัตถกรรมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต สร้างความสุข ฝึกสมาธิ และช่วยบำบัดความเครียด แก่กลุ่มบุคคลที่ต้องการความช่วยเหลือเยียวยา ที่มูลนิธิมิตรภาพสงเคราะห์บ้านพักคนชราหญิง จ.ปทุมธานี และมูลนิธิออทิสติกไทย ตอกย้ำให้สังคมไทยเห็นในคุณค่าทางจิตใจของงานศิลปหัตถกรรมสามารถช่วยลดปัญหาสังคม บำบัดเยียวยาและสร้างความสุขให้กับผู้คนในยุคปัจจุบัน เกิดการสืบสานภูมิปัญญาดั้งเดิมจากบรรพบุรุษไม่ให้สูญหาย ทำให้เกิดพัฒนางานหัตถศิลป์ที่ครอบคลุมในหลายมิติอย่างรอบด้าน ทั้งมิติทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่สังคมและประชาชนคนไทย

ทุกรอยยิ้มจากผู้ร่วมโครงการนอกจากจะได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้งานศิลปหัตถกรรมไทยไปต่อยอดในมิติของตนเองแล้ว ยังสร้างความสุข สนุกสนาน เพลินใจ ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจของเป็นผู้ให้อย่างแท้จริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน