ด้วยความต้องการอยากให้คนไทยมีไฟฟ้าใช้ในราคาที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพในระบบไฟฟ้าไม่ให้เกิดไฟตกหรือดับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะหน่วยงานที่มีความรับผิดชอบดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ จึงได้คิดค้นนวัตกรรมที่สามารถบริหารจัดการปัจจัยสำคัญของประเทศทั้ง 2 ประการไปพร้อมกัน

‘ระบบสั่งการโรงไฟฟ้าอัจฉริยะ’ เป็นนวัตกรรมที่คิดค้นโดยผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. โดยการนำเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) มาใช้ในการรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้า เพื่อให้สามารถสั่งการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนผลิตไฟฟ้าต่ำ ซึ่งระบบสั่งการโรงไฟฟ้าอัจฉริยะมีต้นทุนในการจัดทำเพียงชุดละ 30,000 บาท แต่กลับช่วยชาติและช่วยคนไทยประหยัดค่าไฟฟ้าได้มากถึง 2,600 ล้านบาท หรือลดลงครัวเรือนละ 0.03 สตางค์/หน่วย นับตั้งแต่เริ่มใช้งานมา

“เพื่อให้สามารถเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนในการผลิตราคาต่ำได้เต็มที่ เช่น ในช่วงฤดูฝน โรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว มีน้ำที่สามารถใช้ผลิตไฟฟ้าเป็นปริมาณมาก ซึ่งทรัพยากรน้ำมีราคาต้นทุนในการผลิตถูกกว่าก๊าซธรรมชาติ หรือ ถ่านหิน จึงต้องการให้โรงไฟฟ้าเดินเครื่องได้อย่างเต็มที่ เพื่อทำให้ภาพรวมด้านต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของประเทศต่ำลง” สิริกัลยา พัชนี วิศวกรสาวจาก กฟผ. พูดถึงแรงบันดาลใจในการคิดค้นนวัตกรรมนี้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้มาก แต่ในทางเทคนิคแล้วไม่สามารถส่งไฟฟ้าได้เกินกว่าขีดความสามารถของสายส่ง เพราะระบบส่งไฟฟ้าก็เปรียบเสมือนกับท่อน้ำ ที่หากปริมาณน้ำที่ส่งมากเกินกว่าความจุของท่อ ก็อาจจะเกิด ‘ท่อแตก’ ได้ เช่นเดียวกับสายส่งไฟฟ้าที่สามารถรับไฟฟ้าได้จำกัด ซึ่งหากมีการผลิตและส่งไฟฟ้ามากเกินกว่าที่ประสิทธิภาพของสายส่งไฟฟ้าจะรับได้ จะทำให้เกิดการขัดข้องของสายส่งไฟฟ้าแรงสูง และส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า และนำไปสู่การเกิดไฟฟ้าดับในบริเวณกว้างได้

หรืออธิบายให้เข้าใจแบบง่ายๆ คือ สมมติว่า มีสายส่ง 2 เส้น โดยแต่ละเส้นสามารถรองรับปริมาณไฟฟ้าได้เส้นละ 200 เมกะวัตต์ รวมเป็น 400 เมกะวัตต์ หากเกิดเหตุการณ์ที่สายส่งเส้นหนึ่งขัดข้องไม่สามารถส่งไฟฟ้าได้ ระบบนี้จะสั่งการอัตโนมัติให้ตัดปริมาณไฟฟ้าจากแหล่งผลิตไม่ให้ส่งไฟฟ้าจำนวน 400 เมกะวัตต์ เข้าสายส่งที่เหลือเพียงเส้นเดียว ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดไฟฟ้าดับได้

ระบบสั่งการโรงไฟฟ้าอัจฉริยะนี้จึงมีหน้าที่เข้ามาบริหารจัดการ และตัดสินใจแทนมนุษย์ในเวลาเสี้ยววินาที เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ และสร้างเสถียรภาพในระบบไฟฟ้า

หลักการทำงานของระบบสั่งการโรงไฟฟ้าอัจฉริยะเป็นการผสานกันระหว่างซอฟต์แวร์ กับฮาร์ดแวร์ โดยที่ซอฟต์แวร์ จะเป็นระบบที่สามารถประมวลผลสภาพระบบไฟฟ้าที่เกิดขึ้นแบบ Real time และสามารถตัดสินใจควบคุมระบบแทนมนุษย์ได้อย่างรวดเร็ว ในเวลาเพียง 30 มิลลิวินาที ในขณะที่ฮาร์ดแวร์ เป็นกล่องควบคุมที่ติดตั้งอยู่ที่สถานีไฟฟ้า (Substation) ทำหน้าที่สั่งการควบคุมระบบไฟฟ้าให้เหมาะสมกับการใช้ไฟฟ้าในสถานการณ์นั้นๆ เพื่อความมั่นคงของระบบและการรักษาเสถียรภาพ

“การสั่งการของระบบสามารถทำได้เร็วกว่าโอเปอร์เรเตอร์ที่เป็มนุษย์ และรวดเร็วกว่าการกะพริบตาของคนเสียอีก”วิศวกรจาก กฟผ. กล่าวถึงความอัจฉริยะของระบบนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน