โรคลมชักเป็นอาการที่เกิดจากความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าในสมอง เช่น อาจมีจุดที่ไฟฟ้าในสมองช็อต หรือลัดวงจรอาการชักมีได้หลายแบบ ซึ่งบางคนอาจมีอาการแค่เหมือนเหม่อ กระพริบตาไม่รับรู้โลกภายนอก ขยับเครี้ยวปากนิดหน่อย บางคนรับรู้มีสติอยู่เพียงแต่ควบคุมอาการกระตุกหรืออาการสั่นที่เกิดขึ้นไม่ได้ มีการกระตุกหรือสั่นเป็นจังหวะบางคนเดินพูดซ้ำๆ เบลอๆ หมุนไปหมุนมา หรือไม่ก็มีน้ำลายไหลอย่างรุนแรง หลายคนเรียกโรคนี้ว่า “ลมบ้าหมู” เพราะมีอาการเกร็งชักกระตุก ชักทั้งตัว หมดสติ หรือวูบล้มทันที

ทำไมถึงเป็นโรคลมชัก

สาเหตุของอาการชักนั้นมาจากหลายปัจจัย เช่น ปัญหาด้านสมอง บางคนมีโรคความพิการทางสมองมาแต่กำเนิด หรือเป็นโรคทางพันธุกรรม คนในครอบครัวเคยมีอาการชัก มีเนื้องอกในสมองหรือเคยมีเลือดออกในสมอง หรือเกิดจากการติดเชื้อเนื้อสมองอักเสบหรือเป็นฝีในเนื้อสมองก็ทำให้เกิดอาการชักได้

ส่วนคนที่ไม่มีความผิดปกติในเนื้อสมองโดยตรง แต่มีไฟฟ้าในสมองลัดวงจรก็เกิดอาการชักหรืออาจเกิดจากการมีตัวกระตุ้น เช่น ความเครียด อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือได้รับสารกระตุ้นบางอย่าง เช่น สารเสพติด ดื่มแอลกอฮอล์ ยาบางชนิด ก็ทำให้เกิดอาการชักได้เช่นกัน


ความอันตรายของโรคลมชัก

สิ่งที่น่ากลัวของอาการชักคือ ผู้ป่วยจะไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ไม่รู้สึกตัว จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุแทรกซ้อนต่างๆ ตามมาได้ เช่น กำลังทำอะไรอยู่บนที่สูงและเกิดอาการชักก็อาจล้มหรือพลัดตก หรือชักขณะว่ายน้ำก็อาจทำให้จมน้ำหรือกำลังถือของร้อน ของแหลม ของมีคม แล้วชักก็อาจเกิดอันตรายตามมาได้

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคลมชัก

แพทย์จะทำการตรวจร่างกายว่ามีสาเหตุที่เกิดจากเนื้อสมองโดยตรงหรือไม่ โดยการเจาะเลือดไปตรวจ ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองเพื่อดูลักษณะว่ามีคลื่นที่แสดงถึงอาการชักหรือไม่ หรือในบางคนอาจต้องได้รับการวินิจฉัยด้วยการสแกนสมองด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) และในบางคนอาจจำเป็นต้องเจาะหลังเพื่อตรวจน้ำไขสันหลังร่วมด้วย

โรคลมชักรักษาอย่างไร?

เมื่อตรวจพบสาเหตุที่ชัดเจน เช่น ในคนที่เป็นเนื้องอกในสมอง เป็นฝีในสมอง ก็อาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด แต่ส่วนใหญ่ในการควบคุมอาการชักจะเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการดูแลตัวเอง หลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความเครียด ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงสารกระตุ้น สารเสพติดต่างๆ รวมทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการชัก

ในรายที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคลมชักต้องได้รับยารักษา ซึ่งควรทานต่อเนื่องและปฎิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และห้ามหยุดทานยาเองโดยเด็ดขาด

ชักบ่อยๆ อันตรายต่อสมอง

การชักแต่ละครั้งจะทำให้เกิดความเสียหาย หรือการบาดเจ็บเกิดขึ้นกับเซลล์สมอง และในคนที่มีอาการชักซ้ำๆ บ่อยๆ ในระยะยาวจะเกิดผลเสียต่อสมองในเรื่องของความจำ ทำให้ความจำถดถอยช้าลง อาจทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง และในที่สุดเกิดภาวะสมองเสื่อมได้

เมื่อเจอคนเป็นโรคลมชัก ทำอย่างไร?

การดูแลผู้ป่วยที่มีอาการชักที่สำคัญคือต้องเรียนรู้วิธีการปฐมพยาบาลที่ถูกต้อง หลีกเลี่ยงหรือห้ามเด็ดขาดสำหรับการใช้ของแข็งไม่ว่าจะเป็นไม้ ตะเกียบ ช้อน หรือส้อม งัดปากไม่ให้กัดลิ้น เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายบาดเจ็บที่ลิ้นหรือใบหน้าได้ อีกอย่างที่ต้องระวังคือ การสำลักหากมีเศษอาหารในปาก ให้พยายามเอาออกด้วยการจับนอนตะแคงเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยล้ม แล้วปล่อยสักพักเพราะปกติส่วนใหญ่อาการชักจะหยุดได้เองภายใน 1-2 นาที หากยังไม่ดีขึ้นให้รีบพาไปโรงพยาบาล

โรคลมชักหรือลมบ้าหมู http://bit.ly/2HfFAQc

ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลรามคำแหง
สายด่วนสุขภาพโทร 0 2743 9999 ต่อ 2999

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน