การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2512 เพื่อเป็นองค์กรหลักในการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าของประเทศ ตลอด 48 ปีที่ผ่านมา กฟผ. ให้ความสำคัญทั้งในด้านความเชี่ยวชาญในการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ควบคู่ไปกับการดูแลสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างสังคมไทยให้ยั่งยืน

มุ่งสู่ Energy 4.0

กฟผ. ขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้นโยบาย Energy 4.0 ของกระทรวงพลังงานที่รองรับยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 ของรัฐบาลด้วยการยกระดับประสิทธิภาพของระบบพลังงานในปัจจุบัน และนำนวัตกรรมที่เหมาะสม มาใช้ในการพัฒนากิจการไฟฟ้าในอนาคต ได้แก่

  • การพัฒนาระบบ Smart Grid ที่ผู้ผลิตและผู้ใช้พลังงานสามารถมีปฏิสัมพันธ์กันโดยผ่านระบบสารสนเทศ โดยริเริ่มโครงการนำร่องที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน
  • การพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน Energy Storage เช่น ระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าในรูปแบบไฮโดรเจน (Wind Hydrogen Hybrid System) ณ โครงการกังหันลมผลิตไฟฟ้าลำตะคองระยะที่ 2 จังหวัดนครราชสีมา
  • การเตรียมพร้อมเพื่อรองรับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) ในอนาคต เช่น การพัฒนารถ EV และการพัฒนาสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า

รถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบ โดย กฟผ.-สวทช.

  • การบริหารจัดการพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตไฟฟ้าได้บางช่วงเวลา เพื่อให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอดเวลาโดยจับคู่แหล่งผิตตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป (Hybrid) เช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูยกลับ และพลังงานลมที่ใช้ระบบ Wind Hydrogen Hybrid ควบคู่กับเซลล์เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ที่ลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา เป็นต้น
  • การพัฒนาพื้นที่สำนักงานใหญ่ กฟผ. จังหวัดนนทบุรี ให้เป็นแบบเมืองอัจฉริยะ Smart City บนพื้นที่ 300 ไร่ เพื่อเป็นต้นแบบของชุมชนที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

มุ่งสร้างสังคมไทยที่ยั่งยืน

นอกจากความเชี่ยวชาญด้านภารกิจในการผลิตไฟฟ้าเพื่อก้าวสู่อนาคตแล้ว กฟผ. ยังมุ่งเน้นความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมโดยดำเนินโครงการต่างๆ ได้แก่

  • โครงการ กฟผ. น้อมสืบสานปณิธานงานของพ่อชวนชาวไทยร่วมสานต่อ 9 พระราชปณิธานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจผ่านพระราชปณิธาน 9 ด้าน ได้แก่ 1.การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน 2.การประดิษฐ์และนวัตกรรม 3.การดูแลรักษาป่าและน้ำ 4.ความพอเพียงและการเอาชนะความยากจน 5.การดูแลชาวนา 6 การศึกษา 7.การประหยัด 8.การเสียสละและการให้ทานและ 9.การส่งเสริมให้เป็นคนดี โดยการจัดกิจกรรมเกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในพื้นที่ กฟผ. ทั่วประเทศ

  • โครงการ ชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ กฟผ. ได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาพัฒนาคุณภาพชีวิต ของชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า เขื่อน และใต้แนวสายส่งไฟฟ้าของ กฟผ. ตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบันมีชุมชนต้นแบบทั้งหมด 32 แห่งทั่วประเทศพร้อมทั้งขยายความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษาโดยมีวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ 69 แห่ง

ชุมชนต้นแบบ โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

  • โครงการปลูกป่า ซึ่ง กฟผ. ปลูกป่าไปแล้วทั้งสิ้น 4.6 แสนไร่

โครงการปลูกป่า กฟผ. ปลูกป่าแล้วทั้งสิ้น 4.6 แสนไร่

  • โครงการรณรงค์ให้ประหยัดพลังงาน เช่น การรณรงค์ใช้ผลิตภัณฑ์เบอร์ 5 สามารถลดการใช้พลังงานได้ประมาณ 4,300 เมกะวัตต์ ลดพลังงานไฟฟ้าได้ 25,500 ล้านหน่วย และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 14.6 ล้านตัน
  • โครงการส่งเสริมด้านการกีฬา เพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีให้กับเยาวชน และสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติได้อีกด้วย เช่น กีฬายกน้ำหนัก เรือพาย เปตอง เป็นต้น

กีฬายกน้ำหนัก กฟผ. เป็นผู้สนับสนุนหลัก นำความภาคภูมิใจสู่คนไทย

  • โครงการส่งเสริมด้านการศึกษาและความรู้ความเข้าใจด้านพลังงาน โดย ก่อสร้างอาคารศูนย์การเรียนรู้ทั่วประเทศ 8 แห่ง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาและการอนุรักษ์พลังงานให้แก่ประชาชน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการพัฒนาพลังงานในอนาคตต่อไป

ตลอดระยะเวลา 48 ปี กฟผ. ได้สั่งสมความเชี่ยวชาญบุคลากรและเทคโนโลยี จนเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย

ก้าวสู่ปีที่ 49 กฟผ. ยังคงพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ให้พร้อมก้าวต่อไปสู่อนาคตทางพลังงานที่ยั่งยืนเพื่อคนไทย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน