“วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์” หรือ “วัดเมือง” ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางปะกง ฝั่งตะวันตก ถนนมรุพงษ์ ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์จะใช้เมืองฉะเชิงเทรา เป็นเมืองเขื่อนขัณฑ์ ป้องกันอริราชศัตรูจากการทำศึกสงครามระหว่าง พ.ศ.2376-2390 ซึ่งนักประวัติศาสตร์ให้ชื่อสงครามนี้ว่า “สงครามอานามสยาม” ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงรักษ์รณเรศ (พระองค์เจ้าไกรสร) ซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 33 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ต้นราชสกุล “พึ่งบุญ” เป็นแม่กองยกกำลังไปก่อสร้างกำแพงเมืองและป้อมปราการ โดยมีพระอนุชาร่วมพระโสทร พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอภัยทัต หรือ พระองค์เสือ เป็นผู้ช่วยคุมงาน

ในขณะที่เสด็จในกรมฯ ได้ทรงก่อสร้างป้อมปราการอยู่นั้น พระองค์ได้ทรงสร้างวัดแห่งนี้ขึ้นมาพร้อมกับกำแพงเมือง เพื่อ นอ้มเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระ นั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเรียกกันว่า วัดหน้าเมือง แต่ชาวบ้านนิยมเรียกสั้นๆ ว่า “วัดเมือง”

ต่อมาได้รับพระราชทานนามวัดอย่างเป็นทางการในสมัยรัชกาลที่ 5 ตามพระฐานันดรศักดิ์ของเสด็จในกรมฯ ซึ่งเป็นอาของพระเจ้าแผ่นดินว่า “วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ แปลว่า วัดที่อาพระเจ้าแผ่นดินสร้าง”

วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ หรือ วัดเมือง มีเหตุสำคัญเกิดขึ้นคือ เมื่อวันที่ 8 เม.ย.2391 มีพวกจีนอั้งยี่ “ก๊กเส่งท่ง” เป็นพวกค้าฝิ่นเถื่อน ออกมาปล้นสะดม ฆ่าชาวบ้านตายเป็นจำนวนมาก พระยาวิเศษฤๅชัย (บัว สาริกะภูติ) เจ้าเมืองฉะเชิงเทรา ยกกำลังออกไปจับกุมปราบปราม แต่เสียทีถึงแก่ชีวิตในที่รบ ก๊กเส่งท่ง จึงกำเริบหนัก ตั้งตัวเป็นกบฏออกเผาบ้านเผาเมือง และเข้ายึดป้อมปราการไว้เป็นที่มั่น ต่อสู้กับทางราชการอย่างดุเดือด มีผู้คนตายเป็นจำนวนมาก

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงส่งเจ้าพระยาบดินทรเดชา และเจ้าพระยาคลัง เป็นแม่ทัพหลวงออกไปปราบปรามขั้นเด็ดขาด ในที่สุดพวกอั้งยี่ก็พ่ายแพ้ เป็นที่ทราบกันดี พวกอั้งยี่เสียชีวิตในการก่อกบฏไม่น้อยกว่า 3,000 คน ส่วนที่ถูกจับกุมได้ต้องโทษประหารชีวิตทั้งหมด พบหลักฐานเมื่อครั้งล้างป่าช้าหลังวัดเมือง มีโครงกระดูกหัวขาดและโซ่ตรวนอยู่เป็นจำนวนมาก

ส่วนเจดีย์ บรรจุอัฐิพระยาวิเศษฤๅชัย อดีตเจ้าเมืองฉะเชิงเทรา ตั้งอยู่ในบริเวณรั้วของวิทยาลัยอาชีวศึกษาฉะเชิงเทรา

วัดเมืองได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งแรก เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินประพาสวัดเมือง ปีพ.ศ.2451

วัดเมืองยังมีโบราณสถานที่สำคัญ อาทิ พระอุโบสถ ที่มีมุขเด็จด้านหน้าและด้านหลัง หลังคาลดชั้น ทำให้มีหน้าบัน 2 ชั้น ชั้นบนประดับด้วยกระจกลวดลายปูนปั้น ตรงกลางมีอักษรพระปรมาภิไธย ย่อ จปร (พระปรมาภิไธยย่อของรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 5 ใช้ จปร เหมือนกัน)

ภายในพระอุโบสถ ประดิษฐาน พระพุทธรูปสมเด็จพระมหาพุทธรักษ์รณเรศ หรือ หลวงพ่อเมือง เป็นพระประธานและพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปมีพระ พุทธรูปสมัยสุโขทัย เนื้อทองสำริด และรอยพระพุทธบาทจำลอง หล่อในสมัยรัชกาลที่ 3 ภายนอกระหว่างพระวิหารกับพระอุโบสถ มีกำแพงแก้วล้อมรอบพระอุโบสถและพระวิหาร ซึ่งกำแพงส่วนด้านหน้าพระอุโบสถมีระเบียงคดเล็ก คล้ายศาลาราย สองข้างไม่มีพระพุทธรูปเรียงรายอย่างพระระเบียงคดทั่วไป บริเวณด้านนอกมีต้นจันทน์ขนาดใหญ่สูงเท่าหลังคาพระวิหาร มีอายุมากกว่า 170 ปี

ส่วนวัตถุโบราณที่สำคัญ คือ “ธรรมาสน์บุษบก” สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อปี พ.ศ.2377 และธรรมาสน์เทศ เป็นเครื่องสังเค็ด งานพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ ปี พ.ศ.2453 ซึ่งรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานสำหรับพระอารามหลวง จัดตั้งอยู่บนศาลาการเปรียญ

พ.ศ.2560 วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ จัดทำโครงการ อรหันต์ลานโพธิ์ ที่บริเวณลานวัด เพื่อเฉลิมฉลองพุทธชยันตี 2600 ปี ได้สร้างวัตถุมงคลหลวงพ่อโสธร รุ่นอรหันต์ลานโพธิ์ เพื่อสมทบทุนในการจัดทำโครงการ เป็นเหรียญอาร์ม และรูปหล่อหลวงพ่อโสธร 2560 (ย้อนยุค) โดยได้ใช้สัดส่วนจริงขององค์หลวงพ่อโสธร และปั้นหน้าเป็นโบราณก่อนบูรณะปี 2540 ซึ่งนับว่าเป็นรุ่นแรก ของการใช้สัดส่วนจริงและหน้าโบราณมาให้ทุกท่านได้ระลึกถึงอดีต 100 ปีที่ผ่านมา

สอบถามที่วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ (วัดเมือง) โทร.08-6617-5814, 08-5086-8999

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน