คอลัมน์ พันธุ์แท้พระเครื่อง

วันนี้มาพูดกันเรื่องเหรียญต่อนะครับ เหรียญ ยุคต้นก่อนปี พ.ศ.2470 นั้นยังมีลักษณะพิเศษอื่นๆ อีก เช่น เวลาปั๊มเหรียญเขาจะกระแทกให้ตัวเหรียญหลุดออกมาเป็นเหรียญจากโลหะเลย โดยไม่ต้องนำมาเลื่อยฉลุอีกทีหนึ่ง ขอบเหรียญจึงไม่มีรอยฟันเลื่อย แต่จะเรียบเพราะเครื่องปั๊มจะมีบล็อกบังคับตัดในตัว และขอบเหรียญจะบางกว่าเหรียญรุ่นหลัง ส่วนเหรียญตั้งแต่ พ.ศ.2470 จะเริ่มพบมีการเลื่อยฉลุ หมายถึงปั๊มเกินขอบแล้วมาเลื่อยทีหลัง แต่บางเหรียญก่อน พ.ศ.2470 ก็มีหลุดออกมาทั้งแผ่นหลังจากปั๊มกระแทกแล้วบ้าง เช่น เหรียญพระพุทธชินสีห์เคยพบเป็นวงกลมใหญ่กว่าใบโพธิ์แล้วนำมาเลื่อยฉลุทีหลัง ซึ่งจะมีบางเหรียญเท่านั้นไม่ใช่ส่วนใหญ่

หากว่ากันถึงเนื้อโลหะของเหรียญเก่าแล้ว จะมีความแห้งซีด ไม่มันวาว เนื่องจากโลหะผ่านอายุอานามมาเป็นเวลานาน หากจับๆ ต้องๆ ดูอาจจะมันวาวขึ้นมาบ้าง แต่ทิ้งไว้ซักพักก็จะกลับแห้งซีดอีก อันนี้เป็นข้อสังเกตสำคัญอีกอย่างหนึ่ง นอกเหนือจากการดู ‘ขี้กลาก’ ที่เกิดจากอากาศทำปฏิกิริยากับเนื้อโลหะที่เป็นหลุมเป็นบ่อ เคยเห็นเซียนคนหนึ่งดูเหรียญ หากมีรอยขี้กลากจะไม่เล่นทันที ซึ่งความจริงแล้วอาจเกิดขี้กลากได้ หากนำแม่พิมพ์เดิมมาปั๊มซ้ำ หรือเกิดนิดๆ หน่อยๆ แต่ถ้ามีเยอะแยะต้องสวัสดีท่านทีหนึ่งแล้วรีบๆ คืนไป แล้วบางทีถ้าเก็บรักษาไม่ดีอาจเกิดรอยพรุนคล้ายรูเข็มบนพื้นเหรียญได้ แต่ไม่ใช่เก๊นะครับ เป็นเพราะเก็บไม่ดีทำให้โดนอากาศ
3
ส่วนเหรียญสมัยหลังต้องนับประมาณ พ.ศ.2500 ลงมา ตอนนี้วิทยาการและเทคโนโลยีการผลิตเข้าขั้นเทพแล้ว ไม่ต้องเขียนลายลงบนกระดาษสาแล้วแกะแม่พิมพ์ทั้งๆ ยังร้อน หากแต่ใช้วิธีการถ่ายฟิล์มแล้วแกะหรือกัดบล็อกตามถนัด ทำให้ได้เส้นลวดลายที่คมชัดลึกกว่าเหรียญรุ่นเก่า ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะทำเป็นหูในตัวเพราะสะดวกดีเวลาปั๊มไม่ต้องมาคอยเชื่อมห่วงอีก ที่สำคัญคือ เนื่องจากเครื่องมือทันสมัยจะส่งผลให้ผิวเหรียญเรียบตึงมาก สามารถปั๊มโลหะทั้งแข็งทั้งอ่อนได้เป็นอย่างดี

วิธีการสังเกตเวลาเขาทำปลอม ก็จะใช้ซิลิโคนถอดพิมพ์ทั้งด้านหน้าด้านหลัง แต่มีหลักง่ายๆ ไว้คอยป้องกันตัวทั้งเหรียญรุ่นเก่ารุ่นใหม่คือ ถ้าถอดแม่พิมพ์รับรองได้ว่าเหรียญจะเล็กลงกว่าเดิม ดังนั้น ต้องเห็นเหรียญแท้เหรียญจริงบ่อยๆ พอเห็นเหรียญขนาดเล็กจะได้รู้ว่าไม่ใช่ ส่วนเหรียญ ‘บล็อกนอก’ นี่ดูง่ายเพราะจะสวยงามได้มาตรฐานคมกริบ บ้านเราทำคุณภาพยังไม่ถึง แล้วถ้าเจอเหรียญที่นำมาฉลุปิดพื้นเข้าไปให้ระวังให้จงหนัก เพราะเล็กกว่าปกตินี่แหละ เลยต้องเอามาฉลุยกหน้ายกหลัง แต่เหรียญฉลุแท้ก็มีนะครับต้องสังเกตให้เป็น

มีคนสงสัยว่าแล้วเส้นตำหนิในแม่พิมพ์ประเภทเส้นแตก เส้นเกินใต้ตัวอักษร เส้นขนแมวอะไรพวกนี้ทำปลอมได้ไหม ขอเรียนว่าทำได้ เพราะยุคไฮเทคเขาเอาเหรียญจริงเข้าสแกนคอมพิวเตอร์ก่อนไปทำบล็อก เลยเรียกกันว่า ‘บล็อกคอมพิวเตอร์’ เหมือนเราสแกนภาพนั่นแหละครับมีเท่าไหร่ออกมาหมด แต่จะติดเต็มหรือไม่เต็มต้องดูฝีมือช่างด้วย ซึ่งเหรียญพวกนี้มักจะใช้ทำปลอมเหรียญหลัง พ.ศ.2500 เพราะถ้านำวิธีนี้ไปปลอมเหรียญก่อนหน้าจะสังเกตได้ง่าย เนื่องจากกระบวนการผลิตใช้หลักต่างกัน ส่วนการปลอมเหรียญรุ่นเก่านิยมใช้การถอดด้วย ซิลิโคน ซึ่งนอกจากจะเล็กแล้วบางส่วน เช่น เส้นขนแมว หรือร่องเล็กๆ จะไม่ติด ซึ่งวิธีการศึกษาต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจสภาพเหรียญแต่ละยุคและจดจำตำหนิหรือเอกลักษณ์ของแต่ละเหรียญแต่ละหลวงพ่อให้ชัดเจน
2
ทีนี้มาถึงคำถามประเภท ‘แฟนพันธุ์แท้’ ที่ถามเข้ามามากมายเหลือเกิน เช่น เหรียญหลักๆ ทำไมเนื้อทองแดงถึงแพงมากกว่าเนื้ออื่น ก็ต้องถึงบางอ้อแล้วละครับ เพราะผมบอกแล้วว่าเหรียญรุ่นก่อนนิยมใช้ทองแดงเป็นหลัก ส่วนเนื้อทอง เนื้อเงินอะไรนั่นต้องมีหลักฐานนะครับถึงจะเล่นได้ เหตุเพราะโลหะทอง เงิน ทำปลอมง่ายกว่าทองแดงเยอะ ยิ่งแต่งเรื่องเป็นถวายเจ้าถวายนาย แจกกรรมการยิ่งไปกันใหญ่

บางคนเห็นเหรียญมีคราบมีไคลมีสนิมก็มือไม้สั่นต้องล้างให้ได้ ถ้าเป็นเหรียญเก๊ก็ไม่เป็นไรหรอก ก่อนล้างก็ดูกันแท้ดี แต่พอล้างเสร็จเท่านั้นแหละตัวใครตัวมัน แล้วล้างนะครับเขาใช้แช่ลงในเครื่องดื่มชูกำลัง รับรองที่ดูเก่าเก็บกลายเป็นใหม่เอี่ยมอ่อง จากเหรียญรุ่นเก่ากลายเป็นเหรียญใหม่ทันสมัยกว่าเดิมเลยทีเดียวเชียวครับผม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน