คอลัมน์ วิถีแห่งการปฏิบัติพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

หากศึกษาจากหนังสือ ประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทัตเถร ฉบับสมบูรณ์ จากการเรียบเรียงของ พระอาจารย์วิริยังค์ จะมองเห็นถึงความต่อเนื่องและสัมพันธ์

เริ่มจาก “ธรรมปรารภ” ณ บ้านหนองขอน อำนาจเจริญ อุบลราชธานี เมื่อปีพ.ศ.2470

ประสานกับ “ธรรมนิมิต” ในเรื่องของการปฏิบัติกัมมัฏฐานระหว่างที่ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พักอยู่ในอรัญวิเวก

“เราได้เดินไปตามทาง ซึ่งทางนั้นโล่งเตียนสะอาด ขณะที่เราเดินไปนั้น ปรากฏว่ามีพระภิกษุสามเณรเดินตามมาเป็นอันมาก ดูเป็นแถวยาวเหยียด เมื่อเดินไปและเดินไปก็ปรากฏต่อไปว่า พระภิกษุสามเณรเหล่านั้นเป็นพระเถระผู้ใหญ่และผู้น้อยต่างก็เดินไปคนละทาง บ้างก็แยกทางไปทางซ้าย บ้างก็ล้ำหน้าเดินไปอย่างไม่เกรงใจดูพลุกพล่านไป”

ในที่สุดก็เป็น “ธรรมนิมิต” อันมีจุดเริ่มต้นจากบ้านหนองขอนนั้นเอง

การเดินทางมาแสวงวิเวกในภาคเหนือบริเวณเชียงใหม่ เชียงราย จึงมิได้มุ่งเพื่อปฏิบัติเพื่อยกระดับความรับรู้อย่างด้านเดียว

หากแต่ยังได้พิจารณาในเรื่องความเจริญ ความเสื่อมของการปฏิบัติทางกัมมัฏฐานด้วย

น่ายินดีที่เมื่อได้รับคำบอกเล่า พระอาจารย์วิริยังค์ จึงได้ปฏิบัติรับใช้ใกล้ชิดได้กราบเรียนถามว่า

“ธรรมนิมิตนี้หมายถึงอะไร”

“พิจารณาเอาเองสิ” พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ตอบ

“กระผมเองไม่สามารถจะเข้าใจได้ลึกซึ้งและการตีความหมายอาจจะไม่ตรงจุดสำคัญจึงขอให้ท่านอาจารย์จงได้กรุณาไขปัญหานี้ให้แก่กระผมด้วย”

คำอธิบายจาก พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต คือ

ในกาลต่อไปข้างหน้าจะมีผู้นิยมการทำกัมมัฏฐานภาวนากันมาก การตั้งตนเป็นอาจารย์สอนก็จะมีทั้งมีคุณภาพและไม่มีคุณภาพ คือ ต่างก็จะสอนไปตามความเข้าใจของตน

จนถึงกับนำเอาการตั้งตนเป็นอาจารย์บังหน้าแล้วดำเนินการไม่บริสุทธิ์ประการต่างๆ ผลที่เกิดขึ้นจึงไม่เป็นผลเท่าที่ควร

แต่บางพวกก็ดีเพราะยังเดินตามเราอยู่ มิได้หมาย ความว่าเราเป็นผู้วิเศษแต่การดำเนินของเรานั้นได้ทำไปโดยบริสุทธิ์ใจ มุ่งเพื่อความพ้นทุกข์ โดยปฏิปทานี้ก็ทำให้ได้ผลทั้งตนเองและศิษยานุศิษย์ตลอดมา

การต่างคนต่างตั้งตนเป็นอาจารย์นั้นย่อมทำให้เสียผล เพราะทำให้เกิดความลังเลแก่ผู้จะเข้ามาเรียนกัมมัฏฐานภาวนาว่าจะถือเอาอาจารย์ไหนจึงจะถูก

การหวนกลับภาคอีสานของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต จึงเท่ากับเป็นการตรวจสอบ “ธรรมนิมิต” และการครุ่นคิดอย่างต่อเนื่องจากปีพ.ศ.2470 จนถึงปีพ.ศ.2482 เป็นจริงหรือไม่

แน่นอน เป็นความจริง

ความจริงในที่นี้เป็นไปตามกฎแห่งอนิจจัง เพราะว่าพืชอัน พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้มาจากองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและได้หว่านเอาไว้

ได้งอกงามขึ้นเป็นอย่างมาก

ความจริงไม่ว่า พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ก็เติบใหญ่ ความจริงไม่ว่า พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี ก็เติบใหญ่ ความจริงไม่ว่า พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล ก็เติบใหญ่ ความจริงไม่ว่า พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ก็เติบใหญ่

แม้ พระอาจารย์แหวน สุจิณโณ ก็ปักหลักอยู่ดอยแม่ปั๋ง ทางภาคเหนือ

กล่าวสำหรับ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต นับจากปีพ.ศ.2485 เป็นต้นมาก็อยู่ในห้วงแห่งการปักหลักมิได้เคลื่อนย้ายเหมือนกับในห้วงแห่งพ.ศ.2460 ถึง พ.ศ.2482

นั่นก็คือ พ.ศ.2485-2487 จำพรรษาบ้านโคก

นั่นก็คือ พ.ศ.2487 จำพรรษาบ้านนามน และพ.ศ.2488 จนถึงพ.ศ.2492 ก็จำพรรษาบ้านหนองผือ

ทั้งหมดนี้อยู่ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร

หากถือเอา “ท่านเล่าว่า” ผ่าน พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี ครั้งอยู่เชียงใหม่ ก็ต้องยอมรับว่า พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ย่อมรู้เป็นอย่างดีทุกครั้งที่ตัดสินใจเลือก

นั่นก็คือ ที่ปรากฏผ่านหนังสือ อัตตโนประวัติ พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี ถึงเรื่องเมื่อปี 2479

“พรรษานี้ท่านอาจารย์ได้พยากรณ์อายุของท่านได้อย่างถูกต้อง บางครั้งท่านก็พยากรณ์ลูกศิษย์ของท่านองค์นั้นบ้าง องค์นี้บ้าง ต่างๆ นานา ตามนิมิตและความรู้อันเกิดเองเป็นเองในภาวนาของท่าน”

อย่าลืมเป็นอันขาดว่า อัตตโนประวัติ เขียนเสร็จเมื่อเดือนมีนาคม 2517

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน