คอลัมน์ วิถีแห่งการปฎิบัติ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

เสถียร จันทิมาธร

ภายใน ‘คำชี้แจง’ ของ พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสโส) ในหนังสือ ชีวประวัติ ธรรมเทศนา บทประพันธ์และธรรมบรรยาย ของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ทำให้เห็นฐานที่มาของ ‘มุตโตทัย’ ได้เป็นอย่างดี

นั่นก็คือ

ธรรมเทศนาชุดแรกนี้ พระภิกษุวิริยังค์ กับ พระภิกษุทองคำ เป็นผู้บันทึกในสมัยท่านอาจารย์อยู่จำพรรษาและเสนาสนะป่าบ้านโคกนามน ตำบลตองโขบ อำเภอเมืองสกลนคร และตอนแรกไปอยู่เสนาสนะป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร

ข้าพเจ้ารับเอาบันทึกนั้นพร้อมกับขออนุญาตท่านอาจารย์พิมพ์เผยแผ่ ท่านก็อนุญาตและสั่งให้ข้าพเจ้าเรียบเรียงเสียใหม่ให้เรียบร้อย ตัดส่วนที่ไม่ควรเผยแผ่ออกเสียบ้าง

ข้าพเจ้าก็ได้ปฏิบัติตามนั้นทุกประการ

ธรรมเทศนาของท่านอาจารย์ที่ พระภิกษุทองคำ ญาโณภาโส กับ พระภิกษุวัน อุตตโม จดบันทึกไว้ในปัจฉิมสมัย คือ ระหว่างพ.ศ.2491-2492 ก่อนหน้ามรณสมัยเพียงเล็กน้อยนั้น ได้รวบรวมนำมาเรียบเรียงเข้าหมวดหมู่เช่นเดียวกับครั้งก่อน

เป็นอันเด่นชัดว่าการพิมพ์ มุตโตทัย ผ่านการรับรู้ ผ่านการอนุญาตแล้วโดย พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นเบื้องต้น

มิได้เป็นการกระทำอย่างพลการแต่อย่างใด

นั่นก็ตรงกับที่ พระอาจารย์ทองคำ จารุวัณโณ เล่าเมื่อปีพ.ศ.2451

ผ่านจากไปประมาณสัก 3 เดือนก็มีห่อหนังสือส่งมาในนามของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ผู้เล่า (คือ พระอาจารย์ทองคำ จารุวัณโณ) นำไปถวายท่าน

‘อะไรนั่น’ ท่านพระอาจารย์ถาม

‘กระผมก็ยังไม่ทราบเพราะยังไม่ได้เปิดดู แต่ว่าคล้ายๆ กับหนังสือ’

‘เปิดดูซิ’

หลังจากท่านรับหนังสือมาแล้วจึงเปิดดู ‘เอ เราเคยได้ยินเจ้าคุณอุบาลีฯ พูดว่า คุณมั่นเธอเทศนาด้วยภาษามุตโตทัย ภาษามุตโตทัยเป็นคำพูดของเจ้าคุณอุบาลีฯ แล้วทำไมจึงมาเป็นชื่อหนังสืออันนี้ล่ะได้มาจากไหน’

‘ท่านเจ้าคุณอริยคุณาธารไปค้นพบจากที่นอนของกระผม’

‘ใครเขียนล่ะ’

‘เขียนหลายรูป โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือท่านอาจารย์วิริยังค์เพราะท่านเป็นผู้นำในการเขียน พวกกระผมก็ได้เขียน ท่านวันก็ได้เขียน ผิดถูกขอโอกาสครูบาอาจารย์กระผมยอมรับผิดทุกอย่าง’

หลังจากท่านฉันจังหันเสร็จท่านก็เข้าห้อง

ผู้เล่าก็ขึ้นไปปฏิบัติท่านนำห่อหนังสือขึ้นไปถวาย เป็นเวลาที่ท่านจะต้องพักแต่ท่านไม่พัก อ่านต่อจนกระทั่งถึงเวลาที่ท่านฉันน้ำชา ผู้เล่าขึ้นไปทำข้อวัตร ท่านก็บอกว่า

‘เออ ดีเหมือนกันนะ เป็นเทศนาคำย่อผู้มีปัญญาพิจารณาได้’

ในการบอกเล่าเมื่อปีพ.ศ.2541 อันปรากฏเป็นหนังสือ รำลึกวันวาน นั้น พระอาจารย์ทองคำ จารุวัณโณ เน้นอีกคำรบหนึ่งว่า

หนังสือ มุตโตทัย ที่พิมพ์แจกในงานถวายพระเพลิงศพของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต มีของท่านอาจารย์วิริยังค์เป็นบทนำ ต่อจากนั้นก็เป็นของ หลวงตาทองคำ เป็นอันดับ 2 ลำดับ 3 คือ พระอาจารย์วัน อุตตโม

‘ท่านทั้งหลายที่ได้อ่านหนังสือ มุตโตทัย ก็คือ หนังสือที่ท่าน พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้ตรวจทานแล้ว เป็นของที่ท่านยอมรับแล้วว่าดีอยู่ เทศนาเป็นคำย่อแต่ผู้มีปัญญาก็พิจารณาได้’

กระนั้น ยังมีบางตอนที่ พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสโส) พยายามชี้แจงเมื่อปีพ.ศ.2493

‘ข้อที่ว่า พระสัทธรรมเมื่อเข้าไปประดิษฐานในสันดานของปุถุชนแล้วย่อมกลายเป็นของปลอมไปนั้น หมายความว่าไปปนเข้ากับอัธยาศัยอันไม่บริสุทธิ์ เมื่อแสดงออกแก่ผู้อื่นก็มักมีอัธยาศัยอันไม่บริสุทธิ์ปนออกมาด้วย

‘เพื่อรักษาให้พระสัทธรรมให้บริสุทธิ์สะอาดคงความหมายเดิมอยู่ได้ ควรมีการปฏิบัติกำจัดของปลอมคืออุปกิเลสอันแทรกซึมอยู่ในอัธยาศัยนั้นให้หมดไปซึ่งเป็นความมุ่งหมายของท่านผู้แสดงที่จะชักจูงจิตใจของผู้ฟังให้นิยมในสัมมาปฏิบัติยิ่งๆ ขึ้นไป

ถ้าผู้ฟังมีใจสะอาดและเป็นธรรมแล้วย่อมจะให้สาธุการแก่ท่านผู้แสดงแน่แท้’

ไม่ว่าจะจาก พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ไม่ว่าจะจาก พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสโส) มีความแจ่มชัด

ยิ่งที่เล่าบอกกล่าวโดย พระอาจารย์ทองคำ จารุวัณโณ ยิ่งเห็นได้ตลอดตั้งแต่เริ่มต้นจดบันทึก กระทั่ง พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้ตรวจสอบเมื่อ มุตโตทัย สำเร็จเป็นรูปเล่มหนังสือ

ครานี้น่าจะศึกษาผ่านสำนวนเขียน พระอาจารย์วิริยังค์ บ้าง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน