พันธุ์แท้พระเครื่อง

ราม วัชรประดิษฐ์

ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้ความหมายของคำว่า “เครื่องรางของขลัง” ไว้ดังนี้ “เครื่องราง” หมายถึง ของที่นับถือว่าป้องกันอันตราย ยิงไม่ออก ฟันไม่เข้า เช่น ตะกรุด ผ้ายันต์ เหล็กไหล “ของขลัง” หมายถึง ของที่มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ ที่เชื่อกันว่าอาจบันดาลให้สำเร็จได้ดังประสงค์

เครื่องรางของขลังเป็นสิ่งที่มีมาตั้งแต่โบราณกาลแล้ว และไม่ได้มีแต่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น ชนชาติอื่นๆ ก็มีเครื่องรางใช้กันมานานแล้วเช่นกัน ถือเป็นความเชื่อทางไสยศาสตร์อย่างหนึ่ง โดยเชื่อว่าของสิ่งนี้จะสามารถปกป้องคุ้มครองภัยอันตรายต่างๆ ให้ได้ รวมทั้งในเรื่องของโชคลาภ ความโชคดีทั้งหลายทั้งปวง

อีกนัยหนึ่งน่าจะถือเป็น “สัญลักษณ์” หรือ “เครื่องชี้นำ” โดยจะสังเกตว่าในยุคโบราณเราจะพบเห็นลูกปัดและหินสีฝังรวมอยู่ในหลุมศพ ซึ่งเชื่อกันว่าจะเป็นเครื่องชี้นำให้ผู้ตายได้ข้ามภพข้ามชาติไปสู่สุคติตามความเชื่อ โดยเฉพาะประเทศอียิปต์ นับเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมหลังความตายทีเดียว

สำหรับประเทศไทยเราเรียกได้ว่าเครื่องรางของขลังมีความผูกพันกับคติความเชื่อของสังคมไทยมายาวนานมาก โดยเฉพาะสังคมไทยที่มีพุทธศาสนาเป็นแกนกลาง บรรดาเครื่องรางของขลังต่างๆ นับเป็นส่วนเสริมให้พุทธาคม กฤตยาคม และไสยาคม สามารถเข้ากันได้และเดินไปด้วยกันอย่างเป็นระบบและเป็นระเบียบ อย่างเวลารบทัพจับศึก “พุทธาคม” อาจจะช่วยให้แคล้วคลาดปลอดภัย เป็นการเสริมสร้างกำลังใจ และความมั่นใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็ล้วนเป็นคติความเชื่อซึ่งฝังรากลึกในสังคมไทยมาแต่โบร่ำโบราณ

นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่า “เครื่องราง” จะเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดนิมิต ลางดี ลางร้ายต่างๆ เปรียบเหมือนการเตือนสติให้ระมัดระวัง ไม่ประมาท จะออกทางไหนซ้ายหรือขวาเครื่องรางก็จะช่วยชี้นำการตัดสินใจ น่าจะคล้ายๆ กับการเสี่ยงทาย

เครื่องรางของขลังโบราณของไทยเรานั้นมีสารพัดชนิด ทั้งประคำ ผ้าประเจียด เบี้ยแก้ ยันต์นานาประเภท ปลัดขิก ตะกรุด ลูกอม กะลาตาเดียว เขี้ยวหมูตัน หนังหน้าผากเสือ รักยม กุมารทอง แหวนพิรอด รูปเคารพต่างๆ เช่น รักยม กุมารทอง นางกวัก แม่โพสพ หรือเสือ สิงห์ วัวธนู ลิง หนุมาน และอีกมากมายนับไม่ถ้วน

สมัยก่อนเวลาชายไทยถูกเกณฑ์ไปรบทัพจับศึก “เครื่องรางของขลัง” ถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากที่จะต้องพกพาไปด้วย อาจารย์ดีมีวิชาก็จะปลุกเสกผ้าประเจียดมั่ง ตะกรุดมั่ง ลงนะอักขระเลขยันต์เอาไว้ ฯลฯ ส่วนกรรมวิธี “จัดสร้าง” ตลอดจนวิธี “อาราธนา” หรือ “ใช้” เครื่องรางของขลังของโบราณก็ต้องดูฤกษ์ดูยาม วัสดุอาถรรพ์ กำลังวัน และอื่นๆ อีกมากมาย

เครื่องรางที่นับเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายก็คือ “ตะกรุด” เป็นหนึ่งในเครื่องรางของขลังที่ผูกพันกับความเชื่อในสังคมไทยมาช้านาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการรบทัพจับศึกเข้าสู่สนามรณรงค์สงคราม ตะกรุดจะติดตัวติดตาม แบบไปไหนไปด้วยช่วยกันรบ “ตะกรุด” โดยทั่วไปมักจะหมายถึงการนำโลหะ แผ่นบางๆ อาจจะเป็นทองคำ เงิน นาก ตะกั่ว หรือโลหธาตุผสมอื่นๆ มาลงอักขระเลขยันต์โดยโบราณาจารย์ ซึ่งจะใช้เหล็กจารเขียนพระคาถาผูกขึ้นเป็นมงคล ก่อนที่จะม้วนให้เป็นแท่งกลมโดยมีช่องว่าง ตรงแกนกลางสำหรับร้อยเชือกติดตัว หรืออาจจะถักด้วยเชือก หญ้า หรือด้ายมงคล แล้วนำไปจุ่มหรือชุบรัก ก่อนร้อยเชือก ตามกรรมวิธีของแต่ละคณาจารย์

บรรดาเกจิอาจารย์ผู้ทรงคุณวิเศษนิยมสร้างตะกรุดและเครื่องรางของขลังอื่นๆ เพื่อป้องกันภยันตรายต่างๆ และเสริมส่งดวงชะตาราศีมาทุกยุคทุกสมัย ปัจจุบันความเชื่อถือและยึดมั่นในพุทธานุภาพแห่ง ?เครื่องรางของขลัง? นั้นยังคงไม่เสื่อมถอย ในทางกลับกันยิ่งนับวันความนิยมยิ่งคึกคักยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจขึ้นๆ ลงๆ ไม่คงที่เยี่ยงนี้ครับผม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน