คอลัมน์ คติ-สัญลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย

ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์

พระพุทธเจ้าองค์ที่ 4 ในภัทรกัปตามคติของฝ่ายเถรวาท มีชื่อเรียกกันหลาย ชื่อ เช่น

– พระโคตมพุทธเจ้า หมายถึง ผู้ประเสริฐแห่งหมู่ศากยะ

– พระสมณโคดม พระศากยมุนีหรือพระศากยบุตร

– พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฯลฯ

ตามชื่อทั้งหมดนี้ก็คือ พระพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาของพุทธศาสนาในปัจจุบัน ทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายาน

พุทธศิลปะของพระพุทธเจ้านั้นมีหลากหลายรูปแบบ ที่เรียกกันว่า ปางพระพุทธรูป ว่ากันว่ามีถึง 67 ปาง

ในแต่ละปางนั้นพุทธศิลปะจะมีความหมายหรือคติในการแสดงธรรมหรือพุทธประวัติเป็นเรื่องๆ ไป เช่น ปางมารวิชัย ที่พวกเราพบเห็นกันอยู่ทั่วไปนั้น ในคติหรือความหมายในแบบหนึ่งก็คือ ชัยชนะที่มีต่อมารหรือในอีกความหมายทางธรรมะ คือการแสดงถึงภาวะที่อยู่เหนือโลก หรือพ้นโลก หรือพ้นไปจากสังสารวัฏ

ปางปรินิพพานที่พวกเราเรียกกันทั่วไปว่าพระนอนนั้น ในคติหรือความหมายที่แสดงออกทางพุทธศิลปะก็คือ คำตรัสสุดท้ายที่ว่า “เมื่อตถาคตสิ้นไป ธรรมะที่ได้ตรัสไว้แล้วจักเป็นศาสดา”

ในอีกความหมายก็คือ “สังขารทั้งปวงย่อมล่วงไป” หรือสิ้นไป คือความแน่นอนมั่นคงของสังขารนั้นไม่มี มีแต่ความเปลี่ยนแปลงอยู่เป็นนิจ และในความเปลี่ยนแปลงนี้ก็คือ ความทุกข์ ถ้าเห็นว่าความทุกข์เป็นภัยหรือเบื่อหน่ายในทุกข์ก็ต้องหนีทุกข์ด้วยการปฏิบัติ เป็นต้น

ซึ่งจะได้บรรยายสัญลักษณ์ คติธรรมตามรูปแบบปางพุทธศิลป์ในตอนต่อไปว่าพุทธศิลป์ตอนนั้นหรือปางนั้นมีความหมาย มีคติ มีสัญลักษณ์ใด แสดงธรรมกับผู้ใด หรือเรื่องใด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน