สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปัญโญ) กรรมการมหาเถรสมาคม และเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร พร้อมด้วย นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณ สุข, นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และ นพ.สมนึก อร่ามเธียรธำรง ผอ. โรงพยาบาลสงฆ์ ร่วมแถลงข่าวกิจกรรม ” 1 วัด 1 โรงพยาบาล วันวิสาขบูชา” เนื่องในวันวิสาขบูชาโลก เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2561 ที่โรงพยาบาลสงฆ์ กรุงเทพฯ

สมเด็จพระพุฒาจารย์กล่าวว่า พระสงฆ์ มีชีวิตอยู่ด้วยศรัทธาของประชาชน จากการถวายภัตตาหารหรือน้ำปานะ ซึ่งมาจากความเชื่อและเลื่อมใสจริงๆ แต่อยากให้คำนึงถึงความเป็นจริงว่าบางสิ่งบางอย่างที่ตั้งใจทำบุญแต่ไม่ได้บุญก็มีเพราะไปกระทบโรคภัย ไข้เจ็บประจำตัวของพระสงฆ์ ดังนั้น ขอให้พุทธศาสนิกชนคิดให้รอบคอบ อย่าคิดแต่ว่าบุพการีเสียชีวิต ชอบกินอะไรก็ถวายสิ่งนั้นเท่านั้น เพราะอาจจะกระทบสุขภาพ โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ความดัน ดังนั้นอยากให้คิดถึงการถวายภัตตาหารที่ดีต่อสุขภาพพระสงฆ์จริงๆ

นพ.เจษฎากล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้น้อมนำพระคติธรรมของ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานแก่การจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 10 พ.ศ.2560 ที่ทรงสอนให้เข้าใจว่า สุขภาพมนุษย์ย่อมเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ 5 ประการ คือ สุขภาพ ประกอบด้วยปัจจัยทั้งทางกายภาพ ชีวภาพ จิตใจ พฤติกรรม และปัจจัยตามธรรมชาติที่ควบคุมไม่ได้ ในทางศาสนาอาจจะเน้นเรื่องจิตและกรรม ส่วนหมอมักเน้นแต่เรื่องทางกายและตัวโรค ดังนั้น เมื่อนำมารวมกัน โดยทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ ก็จะมีสุขภาวะที่ยั่งยืนได้ทั้งทางโลกและทางธรรม

ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดกิจกรรม “1 วัด 1 โรงพยาบาล” โดยใช้วันวิสาขบูชาโลกเป็นวันดีเดย์พร้อมกันทั่วประเทศ ให้ทุก โรงพยาบาลกำหนดเป้าหมายวัดในพื้นที่ เพื่อติดตามดูแลส่งเสริมสุขภาพพระภิกษุอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง รวมทั้งขอให้พระสงฆ์ช่วย เผยแพร่ความรู้ในการดูแลสุขภาพไปสู่ประชาชน ผ่านการเทศนาธรรมเพื่อลดโรคที่เกิดจากพฤติกรรม โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด ที่กำลังเป็นปัญหาของประชากรโลก ทั้งนี้ เป็นไปตามธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.2560 และเป็นไปตามนโยบายของ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข

ด้าน นพ.โอภาสกล่าวว่า การดำเนินงานกิจกรรม “1 วัด 1 โรงพยาบาล วันวิสาขบูชา” เพื่อให้พระสงฆ์มีสุขภาพดี ลดการเกิดโรค ไม่ติดต่อเรื้อรัง ประกอบด้วย การจับคู่อุปถัมภ์วัดอย่างน้อยโรงพยาบาล ละ 1 วัด และจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันควบคุมโรค ในวันวิสาขบูชา และต่อเนื่อง โดยถวายความรู้ในการดูแลสุขภาพแก่พระสงฆ์ เช่น ภัตตาหารที่ดีต่อสุขภาพ การออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับพระสงฆ์ ชุดความรู้สำหรับพระสงฆ์ใช้ในการเทศนาแสดงธรรมแนะนำประชาชน การถวายธูป-เทียนไร้ควัน เพื่อลดมลภาวะในวัด การจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการขยะ การควบคุมสัตว์นำโรค การตรวจคัดกรองสุขภาพพระสงฆ์ สนับสนุนการจัดอบรมอาสาสมัครประจำวัด (อสว.) และรณรงค์ให้ความรู้อาหารถวายพระ ใส่บาตรพระ ลด หวาน มัน เค็ม แก่ประชาชนที่รอรับบริการ ผู้ป่วยนอก (OPD)

นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า กรมการแพทย์มี โรงพยาบาลสงฆ์ทำหน้าที่ให้การดูแลรักษาพระภิกษุอาพาธทั่วประเทศ ฟรี ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว และไม่มีใบเสร็จ ข้อมูลการให้บริการย้อนหลัง 3 ปี มีผู้ป่วยนอก เฉลี่ย 100,000 รูปต่อปี ผู้ป่วยในเฉลี่ย 5,000 รูปต่อปี อัตราครองเตียงค่อนข้างนานกว่าผู้ป่วยทั่วไป เพื่ออำนวยความสะดวกพระสงฆ์ในการดูแลรักษาและการเดินทาง สำหรับ 5 อันดับ โรคที่มาตรวจรักษาผู้ป่วยนอก เป็นโรค ไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคไตวายเรื้อรัง และข้อเข่าเสื่อม

ส่วนผู้ป่วยใน คือโรคต้อกระจก โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ ท้องร่วง และเบาหวาน และข้อมูลสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พบว่า ในปี 2560 มีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาพระสงฆ์ ที่เป็นผู้ป่วยนอก จำนวน 631,258,360 บาท และผู้ป่วยใน จำนวน 288,587,931 บาท

นอกจากนี้ ข้อมูลการสำรวจสุขภาพพระสงฆ์ของโรงพยาบาลสงฆ์ ล่าสุดในปี 2559 คัดกรองสุขภาพพระสงฆ์ สามเณรทั่วประเทศคัดกรอง 138,715 รูปจากทะเบียนพระสงฆ์ที่มี 348,433 รูป จากวัดทั่วประเทศ 41,142 วัด พบว่า พระสงฆ์กลุ่มสุขภาพดีลดลงเหลือร้อยละ 52.3 จากร้อยละ 60.3 ในปี 2549 พระสงฆ์อาพาธกลับเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 28.5 จากร้อยละ 17.5 ในปี 2549

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน