คอลัมน์ เปิดตลับพระใหม่

วัดโล่ห์สุทธาวาส จ.อ่างทอง ได้จัดสร้าง “พระพุทธประจำตระกูล” ออกแบบปั้นพุทธศิลป์สามยุคสมัยขึ้น โดยนำศิลปะของแต่ละยุคสมัยที่มีความเจริญรุ่งเรืองที่สุดมาเป็นต้นแบบ โดยมียุคเชียงแสน สุโขทัย รัตนโกสินทร์ มารวมเป็นหนึ่งเดียวในองค์พระพุทธประจำตระกูลนี้

เริ่มที่เศียรพระ พระพักตร์(หน้า) ดูมีความสุขุมสงบนิ่ง ดูมีความเมตตา สง่างามสมเป็นเอกบุรุษของโลกโดยหาผู้เปรียบเสมือนไม่ได้อีกแล้ว ช่างปั้นได้ขึ้นรูปพระพักตร์พระพุทธรูปยุคเชียงแสนผนวกรวมกับยุคสุโขทัยเข้าด้วยกัน
1
ส่วนรูปทรงขององค์พระนั้นนำศิลปะของยุคสุโขทัย เป็นพระพุทธรูปต้นแบบมาจากวัดศรีชุมที่สวยงามที่สุด ดูสง่า โดยเฉพาะ แขนและนิ้วมือดูมีความอ่อนช้อย แฝงด้วยความสงบ สมกับเป็นยุคที่รุ่งเรืองสมัยนั้น แสดงให้เห็นว่า ประชาชนอยู่ดีกินดีมีความสุข ไม่มีศึกสงครามจึงทำให้ช่างปั้นสมัยนั้นไม่มีความรีบเร่ง มีความคิดสร้างสรรค์งานออกมาได้สวยงาม

ส่วนจีวรที่ห่ม(สังฆาฏิ) นำศิลปะยุคสมัยรัตนโกสินทร์ซึ่งเป็นยุคที่รุ่งเรืองในปัจจุบัน ผู้คนมีความสุขอยู่ดีกินดีมีอิสระในการคิดสร้างสรรค์ และเพื่อให้พุทธศิลป์ของ “พระพุทธประจำตระกูล” เปรียบเสมือนพระพุทธเจ้าท่านยังประทับองค์อยู่กับเราเฝ้าดูเราตลอดเวลาเพื่อให้พุทธศาสนิกชนหรือมนุษย์อย่างพวกเราเฝ้าทำแต่ความดีไว้ตลอดเวลา โดยได้กำหนดขนาดหน้าตักขององค์พระไว้ที่ความกว้าง 9.9 นิ้ว ความสูงจากฐานถึงยอดเกศพระ 18 นิ้ว

ส่วนฐานพระพุทธประจำตระกูล องค์พระประทับนั่งอยู่บนดอกบัว ดอกบัวในที่นี้คือเปรียบเสมือนดอกบัวที่พ้นจากน้ำและเบ่งบานเต็มที่ ดั่งที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ เปรียบเทียบมนุษย์เราเหมือนดั่งดอกบัว 4 เหล่า 1.ดอกบัวที่อยู่ใต้โคลนตม 2.ดอกบัวที่เลยโคลนตม 3.ดอกบัวที่กำลังจะเลยพ้นน้ำ 4.ดอกบัวที่เลยพ้นน้ำและเบ่งบานเต็มที่ ความหมายของดอกบัวที่บานแล้ว เปรียบเหมือนคนเราได้เกิดมาดูโลกแล้ว ได้สร้างบุญ สร้างกุศล ได้มีสติปัญญาที่ดี มีสิ่งที่ดีๆ ก็เปรียบเหมือนดอกบัวที่บานแล้วและเพื่อให้สมกับเป็นพระพุทธรูปประจำตระกูลของผู้ร่วมสร้างบุญบารมี เสริมมหามงคลให้กับวงศ์ตระกูล

กำหนดจำนวนสร้างไว้เพียง 84 องค์ โดยจะสลักอักษรนามสกุลของแต่ละครอบครัวไว้ที่ด้านหลังขององค์พระ โดยจะเขียนเลข ๙ ไทยก่อนและหลังของนามสกุลไว้เปรียบเสมือนการก้าวหน้าและรู้จักก้าวหลังตามเหตุและผล และพึงระลึกว่าได้ดำเนินการสร้างพระพุทธประจำตระกูลไว้ในรัชกาลที่ 9 เพื่อไว้ให้ลูกหลานสืบทอดวงศ์ตระกูล

พระพุทธประจำตระกูลรุ่นนี้ ได้รับความเมตตาวิสุทธิคุณจากพระ ราชวชิราภรณ์ (เจ้าคุณศรี) ป.ธ.9 วัดพระเชตุพนฯ ตั้งชื่อขานพระนามว่า “พระสุโขทัยชัยวัฒน์” อันมีความหมายว่า “พระพุทธรูปที่นำความสุขและความเจริญชัยชนะมาให้แก่วงศ์ตระกูล” ซึ่งพระสุโขทัยชัยวัฒน์ นี้จักได้เข้าร่วมพุทธาภิเษกในพิธีมหามงคลครอบมงคลดวงมหาชินบัญชร 108 คาบ ในวันที่ 22 มิ.ย.2555 และปรกอธิษฐานจิตโดยสุดยอดพระเกจิคณาจารย์แห่งยุค อาทิ พระราชญาณดิลก(เจ้าคุณทอง) วัดปลดสัตว์, พระราชวชิราภรณ์ (เจ้าคุณศรี) วัดพระเชตุพนฯ, หลวงพ่อเพี้ยน วัดเกริ่นกฐิน, หลวงพ่อเอียด วัดไผ่ล้อม, หลวงพ่ออุดม วัดพิชัยสงคราม, หลวงพ่อเพิ่ม วัดป้อมแก้ว, หลวงพ่อแม้น วัดหน้าต่างนอก, หลวงพ่อสม วัดโพธิ์ทอง เป็นต้น

พระพุทธรูปบูชาที่มีความหมายลึกซึ้งและมีวิธีการสร้างเช่นนี้ ใช่ว่าจะหาบูชากันได้ง่ายๆ ในปัจจุบัน อีกทั้งชนวนมวลสารที่ใช้ในการสร้างก็ยังเป็นมงคล และผนวกด้วยบุญกุศลจากการทำบุญบูชา ที่ทางวัดจะได้นำปัจจัยไปดำเนินการสร้างกุฏิพระสงฆ์ ก็ย่อมเป็นมหากุศลผลบุญติดตัวไปทุกภพทุกชาติโดยแท้ ขณะนี้ได้เปิดให้สาธุชนผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมทำบุญเพื่อจองบูชาพระพุทธประจำตระกูล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน