คอลัมน์ อริยะโลกที่6

“พระเมตตาวิหารี” (ปัด ธัมมธโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดคูหาสวรรค์ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ พระเกจิชื่อดัง

เดิมชื่อ ปัด รัตนาคม เกิดเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2426 ที่บ้านเตาอิฐ ต.บางงาม อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี เป็นบุตรคนโต

เมื่อเติบโตได้ช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพค้าข้าวขึ้นล่องระหว่างสุพรรณบุรี อยุธยา ปทุมธานี และกรุงเทพฯ

จนเมื่อบิดาถึงแก่กรรมและท่านมีอายุครบบวชพอดี จึงอุปสมบท ณ วัดพร้าว ต.โพธิ์พระยา อ.ท่าพี่เลี้ยง (ปัจจุบันคือ อ.เมือง) จ.สุพรรณบุรี ในปี พ.ศ.2447 โดยมี พระครูปลื้ม วัดพร้าว พระเกจิชื่อดังแห่งสุพรรณบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายา “ธัมมธโร”

จำพรรษาที่วัดพร้าว 3 พรรษา ศึกษาร่ำเรียนกับหลวงพ่อปลื้ม พระอุปัชฌาย์ และหลวงพ่อพริ้ง วัดวรจันทร์ พระเกจิชื่อดังยุคเก่าของสุพรรณ ก่อนเดินทางเข้ากรุงเทพฯ มาจำพรรษาที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย

เป็นพระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัยและถือธุดงค์เป็นนิจ เคยเดินธุดงค์ไปไกลถึงเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า เพื่อศึกษาพระไตรปิฎกอยู่ 1 พรรษา ก่อนเดินทางกลับมา ในครั้งนั้น ท่านอาพาธจนเกือบสิ้นชีวิต ถึงแม้จะหายดี แต่ทำให้เสียงของท่านแหบแห้งจนดูเหมือนเป็นคนดุ

ความเคร่งครัดในพระธรรมวินัยและความเชี่ยวชาญทางด้านวิปัสสนากัมมัฏฐานของท่าน แม้แต่สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น) วัดโพธิ์ ท่าเตียน ยังกล่าวชมเชยต่อพระสงฆ์ผู้อื่นอยู่เสมอ

ต่อมา ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดชัยฉิมพลี ภาษีเจริญ พัฒนาวัดตลอดจนการศึกษาของลูกหลานละแวกนั้น จนเป็นที่พอใจของคณะสงฆ์ ยิ่งนัก เมื่อมีการคัดเลือกผู้ครองวัดคูหาสวรรค์ จึงให้ท่านมารับตำแหน่งเจ้าอาวาส

ทั้งนี้ “วัดคูหาสวรรค์” เดิมชื่อ “วัดศาลาสี่หน้า” เป็นวัดเก่าแก่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ในสมัยพระวิสุทธิสารเถร (ผ่อง) พระเกจิผู้มีชื่อเสียงโด่งดังด้านวิปัสสนากัมมัฏฐานรูปหนึ่งของเมืองไทย เจ้าของ “พระเนื้อผงพิมพ์เล็บมือ” เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ 8 ปกครองดูแล สร้างความเจริญรุ่งเรืองสู่วัดและชุมชน จนเป็นที่เคารพศรัทธา

ต่อมาเมื่อมรณภาพในปี พ.ศ.2471

สมเด็จพระวันรัต (เผื่อน) แห่งวัดพระเชตุพนฯ มอบหมายให้ พระเมตตา วิหารี รับตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบแทน ในปี พ.ศ.2472 เนื่องด้วยท่านเป็นพระเถระที่ทรงคุณวุฒิทางวิปัสสนากัมมัฏฐานเช่นกัน ทั้งยังเคร่งครัดในพระธรรมวินัยและมีเมตตาธรรมสูง เมื่อมาปกครองวัด สามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของสาธุชนอย่างสูง

หลังจากนั้น ท่านบูรณปฏิสังขรณ์จนวัดคูหาสวรรค์เจริญรุ่งเรืองสืบมา นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับชาวบ้านสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมสำหรับพระภิกษุสามเณร และโรงเรียนประชาบาลเพื่อเยาวชนในท้องถิ่น รวมทั้งสาธารณประโยชน์ต่างๆ อาทิ สะพานข้ามคลอง และบ่อเก็บน้ำฝน เป็นต้น

ยังเป็นพระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาธุระองค์สุดท้าย ที่ได้รับพระราชทาน “พัดงาสาน” พัดยศพระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาธุระ (อรัญญวาสี)) เป็นพัดหน้านาง พื้นงาสาน ขอบงาคาบตับงา ด้ามงา โดยได้รับพระราชทาน เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2493 ขณะอายุได้ 68 ปี หลังจากนั้น ไม่พระราช ทานพัดยศงาสานให้พระสงฆ์องค์ใดอีกเลย

มรณภาพในวันที่ 10 เม.ย.2507 สิริอายุ 81 ปี 60 พรรษา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน