พระปางสมาธิ

คอลัมน์ คติ-สัญลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย

ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์

การสร้างพระพุทธรูปมิได้เป็นเพียงเครื่องระลึกถึงพระพุทธองค์เท่านั้น พระพุทธรูปปางต่างๆ 52 ปาง ที่พวกเราชาวพุทธเคารพกราบไหว้นั้น ศิลปินผู้สร้างพระพุทธรูปได้แฝงคติ สัญลักษณ์ของความหมายของธรรมะ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้ เพื่อเป็นคำสอนแก่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้รับรู้ ได้ศึกษา พระพุทธรูปจึงมีความหมายมากกว่ารูปเคารพธรรมดา

เมื่อพระพุทธเจ้าจะปรินิพพานได้ตรัสว่า “ธรรมทั้งหลายที่ได้ตรัสแสดงไว้แล้วนั้น จักเป็นศาสดาแห่งพวกเธอ”

พระพุทธรูปทั้งหลายจึงซ่อนหลักธรรม ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้สำหรับสั่งสอนแก่เวไนยสัตว์ทั้งปวง

พวกเราในฐานะของพุทธศาสนิกชนจึงน่าที่จะควรเข้าใจคติ สัญลักษณ์ แห่งพระพุทธรูปทั้งในฐานะของรูปธรรมและนามธรรม เพื่อยกระดับจิตใจของพวกเราเข้าสู่ความเข้าใจในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้ เพื่อสิริมงคล แก่ชีวิต แม้คำว่ามงคลนั้นก็มิใช่ความหมายของความดีงามธรรมดา แต่หมายถึงมงคล 38 อันเป็นสุดยอดแห่งมงคลทั้งปวงที่พามนุษย์พ้นไปจากสังสารวัฏ

เพื่อความเข้าใจของพุทธศิลป์ที่แฝงไว้ในพระพุทธรูปปางต่างๆ จึงขอยกพระพุทธรูปปางสมาธิที่พวกเรารู้จักและพบเห็นกันมากที่สุดมาวิเคราะห์ถึงองค์ธรรมที่ซ่อนอยู่ในพุทธศิลป์นั้น

ในความหมายของพระพุทธรูปปางสมาธิ หมายถึง ภาวะของพระพุทธเจ้าขณะตรัสรู้ นั่นคือ การตรัสรู้อริยสัจ หรือความจริงอันสมบูรณ์ ภาพของพระพุทธเจ้าขณะนั่งพิจารณาธรรมอันเห็นอริยสัจนั้นคือ ความสงบนิ่ง การวางมือประสานกันบนหน้าตัก หมายถึง การหยุดโดยสมบูรณ์ หยุดอะไรก็หยุดการเกิดขึ้น การข้องแวะ การข้องติดอยู่ในกิเลส อันเป็นเครื่องเศร้าหมอง

พระเนตรของพระพุทธรูปมิได้หลับลง หมายถึง การตื่นอยู่ รู้อยู่ มีสติสัมปชัญญะ อันสมบูรณ์ มิได้มีกิเลสหรืออกุศลมูลใดๆ อยู่ภายในจิต ทั้งหมดคือความสงบนิ่ง อันนำไปสู่การกล่าวคาถาสรรเสริญพระพุทธเจ้าที่เราเรียกกันว่า สวดอิติปิโส

ดังนั้นเมื่อเรากราบไหว้พระพุทธรูปปางสมาธิ จึงหมายถึงการเข้ารับฟังคำสอนในเรื่องอริยสัจ ซึ่งเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาเป็นครั้งแรกให้แก่ปัญจวัคคีย์ กุศลแห่งการ กราบไหว้จึงจะเกิดขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน