คอลัมน์ วิถีแห่งการปฎิบัติ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

เสถียร จันทิมาธร

จากเมื่อเดือนมกราคม 2413 กระทั่งเดือนพฤศจิกายน 2492 เป็นเวลากว่า 79 ปีอันทรงความหมายภายใต้กฎแห่งอนิจจังอันเที่ยงแท้

ไม่ว่ามองในทางสังขาร ไม่ว่ามองในทางความคิด ล้วนประจักษ์ในการเปลี่ยนแปลง

เปลี่ยนแปลงจากเด็กชาย ณ บัานคำบง ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ไปสู่การเป็นสามเณรในช่วงต้นของวัยรุ่น กระทั่งสึกหาลาอารามเมื่อเป็นหนุ่ม แล้วหวนกลับไปอุปสมบทอีกครั้ง ณ วัดศรีทอง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ในเดือนมิถุนายน 2436

นี่คือการเกิดใหม่ในสมณเพศผ่านฉายา มั่น ภูริทัตโต

การพำนักอยู่ ณ วัดเลียบ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี นับว่าทรงความหมายเพราะได้รับการแนะนำ สอนสั่งในเรื่องวิปัสสนาธุระจาก พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล

เป็นการบริกรรมภาวนาว่า พุทโธ พุทโธ

ในพรรษา 3 ปี พ.ศ.2439 ขณะบริกรรมภาวนาว่าพุทโธ พุทโธ อยู่ เมื่อจิตรวมลงได้ปรากฏรูปอสุภะภายนอกก่อน เป็นคนตายอยู่ข้างหน้า ห่างประมาณ 1 วา ผินหน้าเข้ามาหา สุนัขตัวหนึ่งลากดึงไส้ออกไปกิน

นั่นคือจุดเริ่มต้นอันทรงความหมายยิ่งทางการปฏิบัติ

ปฏิบัติจนจิตรวมใหญ่ เมื่อรวมพับลง ปรากฏว่าทุกสิ่งรวมลงเป็นอันเดียวกัน คือหมดทั้งโลกย่อมเป็นธาตุทั้งสิ้น

โลกนี้ราบเหมือนหน้ากลอง

น่ายินดีที่ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ยังไม่พอใจอยู่เพียงนั้น หากแต่ ด้านหนึ่ง ได้เดินทางเข้ามหานครกรุงเทพฯ เมื่อประมาณปี พ.ศ.2445

เป็นการเดินทางไปพำนักอยู่ ณ วัดปทุมวนาราม

และได้เดินทางไปฟังธรรมเทศนาและศึกษากับ พระญาณรักขิต (สิริจันโท จันทร์) ณ วัดบรมนิวาส ซึ่งต่อมาก็คือ พระโพธิวงศาจารย์ ในปี พ.ศ.2466 และ พระอุบาลี คุณูปมาจารย์ ในปี พ.ศ.2468

เท่ากับเสริมความมั่นคงให้กับความรับรู้ในทางปริยัติอันเป็นพื้นฐานอย่างสำคัญ

ขณะเดียวกัน ด้านหนึ่ง คือการปลีกวิเวกออกไปปฏิบัติธรรมอย่างมีนัยสำคัญอันเป็นการต่อยอดจากความจัดเจนเมื่อพรรษา 3 ณ วัดเลียบ จังหวัดอุบลราชธานี

ไม่ว่าจะเป็นที่ถ้ำไผ่ขวาง น้ำตกสาริกา นครนายก

ไม่ว่าจะเป็นที่ถ้ำสิงโต เขาพระงาม ลพบุรี

ไม่ว่าจะเป็นการจาริกไปเน้นย้ำจนแน่วแน่ มั่นคง ยังเชียงใหม่ เชียงราย ภาคเหนือ

กระทั่งมีความมั่นใจเป็นอย่างสูงจากชัยภูมิที่เลือกมาตั้งแต่เบื้องต้น คือ มหาสติปัฏฐาน เป็นเหมือนค่ายคู และหอรบอันมั่นคง เริ่มจากกายานุปัสนาสติปัฏฐาน พิจารณากาย เป็นเครื่องดับนิวรณ์ ทำใจให้สงบ

ทำมาก เจริญมาก พิจารณาจนชำนาญ ซ้ำแล้วซ้ำอีก

ธรรมดาธาตุทั้งหลายย่อมเป็นอยู่อย่างนั้น อาศัยอาการของจิตเข้าไปยึดถือเอาสิ่งทั้งปวงเหล่านั้นมาหลายภพ หลายชาติ

จึงเป็นเหตุให้เป็นไปตามสมมตินั้น

เป็นเหตุให้อนุสัยครอบงำจิตจนหลงเชื่อไปตาม จึงเป็นเหตุให้ก่อภพก่อชาติด้วยอาการของจิตเข้าไปยึด

สัพเพ สังขารา อนิจจา สัพเพ สังขารา ทุกขา

สังขารความเข้าใจไปปรุงแต่ง คือ อาการของจิตนั้นและไม่เที่ยง เป็นทุกข์ สังขารา สัสสตา นัตถิ สังขารทั้งหลายที่เที่ยงแท้ ไม่มี สังขารเป็นอาการของจิต เปรียบเหมือนพยับแดด ส่วนสัตว์ก็อยู่ประจำโลกแต่ไหนแต่ไรมา

ธรรมดาหรือธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตน สัพเพ ธัมมา อนัตตา

ทำจนชำนาญ เห็นจริงแจ้งประจักษ์พร้อมกับการรวมใหญ่ รวมทวนกระแส แก้อนุสัย สมมติเป็นวิมุตติ รวมลง

ในที่นี้ไม่ใช่สมมติ ไม่ใช่ของแต่งเอา เดาเอา ไม่ใช่ของอันบุคคลพึ่งปรารถนาเอาได้

เป็นของที่เกิดเอง เป็นเอง รู้เอง โดยส่วนเดียวเท่านั้น เพราะด้วยการปฏิบัติอันเข้มแข็งไม่ท้อถอย พิจารณาโดยแยบคายด้วยตนเองจึงจะเป็นขึ้นมาเอง อุปมาดั่งบุคคลมาปรารถนาเอาแต่รวงข้าว โดยไม่รักษาต้นข้าว เป็นผู้เกียจคร้าน ปรารถนาจนวันตายรวงข้าวก็จะไม่มีขึ้นมาเลยฉันใด

วิมุตติธรรมจำเป็นต้องปฏิบัติอันเข้มแข็ง ไม่ท้อถอย ฉันนั้น

79 ปีสำหรับ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต จึงเป็น 79 ปีแห่งการเรียนรู้และลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง

ทางหนึ่ง คือ การศึกษาแนวทางอันเป็นขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทางหนึ่ง คือ การนำเอาความรู้ที่ได้มาลงมือปฏิบัติ ปรารภความเพียร อย่างจริงจังต่อเนื่อง ไม่ท้อถอย

มีแต่ปริยัติประสานกับการปฏิบัติที่เป็นจริงเท่านั้นจึงจะนำไปสู่การดับทุกข์ได้ในที่สุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน