ราม วัชรประดิษฐ์

www.arjanram.com

คํากล่าว “สองยอดขุนพล … ความเหมือนที่แตกต่าง”นั้น ไม่เกินความเป็นจริงเลย สำหรับ “พระร่วงหลังรางปืน” และ “พระร่วงหลังลายผ้า” 2 พระยอดนิยมเนื้อชิน ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งใน “พระยอดขุนพล” อันทรงคุณค่าและพุทธคุณ เป็นที่ต้องการและแสวงหาอย่างสูงในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่อง ซึ่งพระทั้ง 2 องค์นี้จะมีพุทธลักษณะค่อนข้างคล้าย คลึงกันโดยเฉพาะพิมพ์ด้านหน้า ทั้งที่ถูกค้นพบกันคนละที่คนละเวลา ส่งผลให้ค่านิยมของแต่ละองค์ สูงต่ำต่างกันครับผม

พระร่วงหลังรางปืน ถูกค้นพบที่จังหวัดสุโขทัย บริเวณหน้าพระปรางค์องค์ใหญ่ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อ.ศรีสัชนาลัย ในคราวแตกกรุเมื่อประมาณปี พ.ศ.2493 นั้น พระที่พบมีจำนวนน้อยมากเพียง 200 กว่าองค์เท่านั้น อีกทั้งส่วนใหญ่เป็นพระที่ชำรุดแตกหัก แต่ด้วยพุทธลักษณะที่อ่อนช้อยงดงาม

มีคำกล่าวกันว่า “ถ้าแขวนพระร่วงหลังรางปืน จะไม่มีการตายโหงอย่างเด็ดขาด” จึงได้รับการยกย่องให้เป็น “จักรพรรดิแห่งพระเนื้อชิน” และเป็นหนึ่งใน “ชุดเบญจภาคีพระยอดขุนพลเนื้อชิน” จนได้รับความนิยมเป็นที่ใฝ่ฝันและแสวงหากันอย่างกว้างขวาง แต่ด้วยจำนวนพระค่อนข้างน้อยมาก สนนราคาค่านิยมจึงจัดว่าสูงที่สุดสำหรับพระพิมพ์ประเภทเดียวกัน

พระร่วงหลังรางปืน มีพุทธศิลปะแบบเขมรยุคบายน มีอายุอยู่ในราวปี ค.ศ.13 ซึ่งเป็นสมัยที่ขอมเรืองอำนาจและเข้าปกครองพื้นที่บริเวณนี้ จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระพิมพ์ที่พวกขอมเป็นผู้สร้างและบรรจุไว้ในพระปรางค์ และด้วยพุทธลักษณะองค์พระที่ทรงเครื่องอย่างอลังการเยี่ยงพระมหากษัตริยาธิราช

จึงคาดเดาว่าผู้สร้างจะน่าเป็นกษัตริย์ผู้ครองนคร

องค์พระมีขนาดความสูงประมาณ 8 ซ.ม. กว้างประมาณ 2.5 ซ.ม. พุทธลักษณะองค์พระประธานประทับยืน แสดงปางประทานพร สวมหมวกออกศึกแบบโบราณที่เรียกว่า “หมวกชีโบ” อยู่ภายในซุ้มเรือนแก้ว ยอดซุ้มเป็นลายกระหนกแบบ “ซุ้มกระจังเรือนแก้ว” ส่วนด้านหลังจะมีลักษณะเฉพาะ คือ มีร่องกดลึกลงไปเป็นแนวยาวตลอดองค์พระ ซึ่งเรียกกันว่า “หลังกาบหมาก หรือ หลังร่องกาบหมาก”

ต่อมาได้ปรากฏพุทธคุณทางแคล้วคลาดจากภยันตรายในเรื่อง “ปืน” อีกทั้งร่องกาบหมากนั้นมีลักษณะคล้าย “ร่องปืนแก๊ป” จึงขนานนามว่า “หลังรางปืน” มีบางองค์ที่เป็นแบบหลังตันแต่พบน้อย และที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ที่ด้านหลังจะเป็นรอยเส้นเสี้ยนทุกองค์

แบ่งออกได้เป็น 5 พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ ฐานสูง, พิมพ์ใหญ่ ฐานเตี้ย, พิมพ์แก้มปะ, พิมพ์หน้าหนุ่ม และพิมพ์เล็ก ซึ่งพุทธลักษณะโดยรวมนั้นเหมือนกัน แต่จะมีลักษณะเด่นที่แตกต่างไปตามชื่อพิมพ์

พระส่วนใหญ่ที่พบจะเป็น “พระเนื้อชินตะกั่ว” ถ้าแก่ตะกั่วจะเรียก “ตะกั่วสนิมแดง” ผิวขององค์พระจะมีสีแดงเข้ม บางองค์ออกสีลูกหว้า และเนื่องจากเป็นพระที่ผ่านกาลเวลายาวนาน

ถ้าเป็นพระกรุเก่าที่แท้จริงแล้ว วรรณะของสนิมที่ฝังตัวติดอยู่ในเนื้อตะกั่วจะมีสีสันที่แตกต่างกัน มีทั้ง สีแดงอ่อน สีแดงเข้ม แดงอมม่วง สีแดงส้ม รวมถึงสนิมแดงที่เรียกว่า “สนิมมันปู” ขึ้นอยู่กับแร่โลหะต่างชนิดที่ผสม เนื้อพระที่แท้จริงของตะกั่วได้เปลี่ยนสภาพปรากฏเป็นเนื้อตะกั่วผสมสนิมสีแดง ตั้งแต่ผิวชั้นบนสุดฝังลึกถึงแกนกลางของเนื้อชั้นในสุด เรียกว่า “ยิ่งลึกสนิมยิ่งแดง” ก็ว่าได้ ไม่ใช่เกาะเพียงแค่พื้นผิวภายนอกเท่านั้น ซึ่งหากมีรอยระเบิดจะปะทุจากในเนื้อออกด้านนอก ถ้าเป็นของปลอมมักใช้น้ำกรดกัดทำให้ปริจากนอกเข้าด้านใน

จุดสังเกตสำคัญ พื้นผิวสนิมมักจะแตกระแหงเป็นเส้นเล็กๆ คล้ายใยแมงมุม คือ จะแตกไปในทิศทางต่างๆ กัน สลับซับซ้อน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของสนิมแดงตามธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นตามกาลเวลาและจากสภาวะอากาศภายในกรุ ลักษณะพิเศษอีกประการคือ จะมีไขขาวคลุมอีกชั้นหนึ่งและมีมากกว่าพระร่วงกรุอื่นๆ ซึ่งไขขาวนี้จะจับเกาะแน่นแกะไม่ออก

ถ้าเป็นไขขาวของปลอมเมื่อใช้ของแหลมทิ่มเบาๆ จะหลุดออกครับผม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน