“พระผงสมเด็จอุทยาน” พระธัมม วิตักโกภิกขุ หรือ พระยานรรัตนราชมานิต วงการพระเครื่องเรียกนามท่านด้วยความเคารพว่า “เจ้าคุณนรฯ” สร้างขึ้นเป็นที่ระลึกในงานวางศิลาฤกษ์สร้างโบสถ์วัดอุทยาน อ.บางกรวย จ.นนทบุรี เมื่อปี พ.ศ.2511

โดยพระมหาสงัด สุวิเวโก วัดเทพ ศิรินทราวาส กุฏิ10 ผู้จัดทำและบันทึกข้อความ ลงวันที่ 19 พ.ค.2511 บันทึกไว้ว่า “…ปี 2511 (พุทธศักราช) อาตมภาพมีความประสงค์ต้องการเชิญท่านสาธุชน มีท่านเจ้าของโรงพิมพ์ พรรณศิริ และคณะศิษย์เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง จัดหาปัจจัยเพื่อรวมสมทบในงานพิธีวางศิลาฤกษ์สร้างโบสถ์ วัดอุทยาน อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี อาตมภาพได้จัดสร้างพระเครื่องพิมพ์แบบสมเด็จ วัดระฆัง พระนคร และมีพระกริ่งโลหะ แบบพระบูชาเชียงแสน จำนวนรวมกันประมาณหนึ่งหมื่นองค์

พระเครื่องพิมพ์สมเด็จ (แบบสมเด็จวัดระฆัง) นั้นอาตมภาพได้นำมวลสาร ศักดิ์สิทธิ์ที่ได้จำนวนมาก คือพระของ วัดอมตรส พระนคร ที่ชำรุดแตกหัก เป็นจำนวนมาก ผงเกสรดอกไม้ ผงพระเก่าต่างๆ ที่ท่านผู้มีจิตศรัทธา กรุณานำมามอบให้ โดยสามารถสร้างได้จำนวน ห้าพันองค์

สำหรับพระกริ่งโลหะแบบบูชาเชียงแสน ทางเจ้าของโรงพิมพ์พรรณศิริและคณะศิษย์ชาวพระนคร ได้นำมาจำนวนมาก สามารถสร้างพระกริ่งได้ห้าพันองค์

ภาพหลังสร้างเสร็จจึงได้แจ้งไปยังศิษย์และผู้มีจิตศรัทธา ได้ร่วมบุญ โดยนำปัจจัยที่ได้ทั้งหมด สมทบทุนในงานวางศิลาฤกษ์ สร้างอุโบสถ วัดอุทยาน อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ต่อหลวงพ่อนรรัตน์ (ธัมมวิตักโกภิกขุ) ท่านได้เมตตาอนุญาตให้นำพระเครื่องทั้งหมดไปบรรจุในฐานชุกชีภายใน พระอุโบสถวัดเทพศิรินทราวาส

โดยท่านได้ปลุกเสกให้ตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม ปี 2511 (ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีวอก) เป็นวันวิสาขบูชา ตลอดเป็นระยะเวลา 7 วัน 7 คืน จนถึงวันที่18 พฤษภาคม ปี 2511 โดยหลวงพ่อนรรัตน์ ได้บอกอาตมภาพว่า ให้นำพระที่อยู่ในฐานชุกชีทั้งหมดออกไปใช้ประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาเถิด

เจ้าคุณนรฯ ท่านบอกกับอาตมาว่า “ฉันก็ไม่เคยสร้างโบสถ์เหมือนกัน ขอร่วมโมทนาบุญครั้งนี้ด้วยนะและฉันอธิษฐานจิตให้พระคุณเจ้า และสมเด็จอาจารย์ช่วยให้สำเร็จด้วยดี” ในพิธีการนั่งปลุกเสก ในครั้งนี้หลวงพ่อนรรัตน์ ท่านนั่งปลุกเสกตลอดรุ่ง คือตั้งแต่ 6 โมงเย็น ถึง 6 โมงเช้า ท่านไม่ลุกขึ้นเลยเป็นเวลา 12 ชั่วโมงเต็มนับว่าหาได้ยากยิ่ง อาตมภาพได้บันทึกภาพไว้ด้วยแสงธรรมชาติไม่ใช้ไฟช่วย เพราะเกรงว่าแสงไฟจะไปรบกวนหลวงพ่อนรรัตน์ ซึ่งเพื่อนกำลังอยู่ในสมาธิ ภาวนาจิตบริสุทธิ์อย่างยิ่ง …”

เหตุที่ชื่อ “พระสมเด็จอุทยาน” นั้น เพราะจัดสร้างมาเพื่อนำปัจจัยมา สร้างโบสถ วัดอุทยาน จ.นนทบุรี ซึ่งวัตถุมงคลดังกล่าวสร้างจำนวนไม่มาก ปัจจัยก็ครบสามารถสร้างอุโบสถจนเสร็จสิ้น พระสมเด็จอุทยานที่เหลือ จึงได้เก็บไว้ใต้ฐานพระประธานในโบสถ์ วัดอุทยาน

พระสมเด็จอุทยาน ด้านหน้าพิมพ์สมเด็จวัดระฆัง ด้านหลังปั๊มยันต์ เจ้าคุณนรฯ ด้วยน้ำหมึกอย่างดีจากประเทศจีนสีแดง ด้านล่างยันต์ เขียน คำว่า “วัดอุทยาน นนทบุรี” ถือได้ว่าเป็นพระที่หาได้ยากแล้วในปัจจุบันนี้ เพราะทำมาจำนวนไม่มาก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน