คอลัมน์ วิถีแห่งการปฏิบัติพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

เสถียร จันทิมาธร

ขณะที่ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เกิดที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อปี พ.ศ.2413 พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เกิดที่อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร เมื่อปีพ.ศ.2442

ห่างกัน 29 ปี

กล่าวจากพื้นฐานทางครอบครัว เจ้าไชยกุมมาร(เม้า) บิดาของ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เป็นหลานปู่ พระยาเสนาณรงค์(นวล) และหลานอา พระยาเสนาณรงค์ (สุวรรณ์) เจ้าเมืองพรรณนานิคม คนที่ 2 และ 4 ตามลำดับ

ขณะที่มารดาของ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เป็นบุตรีของ หลวงประชานุรักษ์

พื้นฐานทางสังคมเช่นนี้เองที่ก่อรูปขึ้นมาเป็น พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร กระทั่งก่อตั้งสำนักวัดป่าอุดมสมพร จังหวัดสกลนคร

อย่าแปลกใจหากในตอนรับการศึกษาระหว่างเป็นฆราวาสจะมีความคิดรับราชการ

ประการ 1 เพราะพื้นฐานทางครอบครัวที่อยู่ในสถานะเป็นฝ่ายปกครอง ขณะเดียวกันประการ 1 เพราะว่าสถานะของข้าราชการในยุคสมัยนั้นมีความมั่นคง มีหน้ามีตา

แต่แล้วในที่สุดเส้นทางก็พลิกเปลี่ยนเมื่ออุปสมบทในปีพ.ศ.2462 อยู่กับท่าน อาญา ครูธรรม ณ วัดโพนทอง บ้านบะทอง อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็น พระนักปฏิบัติ ชมชอบออกเที่ยวธุดงคกรรมฐาน

เป็นการธุดงคกรรมฐานตั้งแต่พรรษาแรกเมื่อออกอุปสมบท

ใครก็ตามเมื่อศึกษาหนังสือประวัติ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ย่อมรับทราบถึงแนวทางการปฏิบัติฝึกจิตในเบื้องต้นของท่าน

เป็นแนวทางในวิถีของท่าน อาญาครูธรรม

วิธีฝึกจิตใจให้สงบโดยอาศัยการนับลูกประคำ กล่าวคือ เอาลูกมะแทน 108 ลูก ร้อยเป็นพวงคล้องคอหรือพันมือไว้

เวลาเจริญพุทธานุสติกรรมฐานจะด้วยการนั่ง นอน ยืน เดิน ก็ดี เมื่อจะบริกรรมภาวนากรรมฐานว่า พุธ-โธ ก็นับลูกมะแทนไปด้วยทีละลูก ทีละลูก จนกว่าจะครบ 108 เท่าลูกมะแทน

เมื่อถึงบท ธัม-โม สัง-โฆ ก็ให้ทำในลักษณะเดียวกันจนกว่าจะครบ 108 ลูก

ถ้าหากว่านับพลั้งเผลอก็แสดงว่าจิตใจไม่สงบ ให้ย้อนกลับไปตั้งต้นนับ พุท-โธ 1 ต่อไปอีกจนกว่าจะครบ 108

ทำเช่นนี้กลับไปกลับมา

วิธีเช่นนี้คล้ายกับจะง่าย แต่เมื่อลงมือปฏิบัติจริง กลับไม่ได้ง่ายอย่างที่ใจคิด เพราะท่าน อาญาครูธรรม ให้บริกรรมอยู่ตลอดเวลาเป็นการทรงสติให้มั่น

มีจิตแน่วแน่กับองค์ภาวนาจนเกิดสมาธิ

การปฏิบัตินี้ดำเนินไปอย่างเคร่งครัดจริงจังและมั่นคง จะยกเว้นก็แต่เวลาที่จำวัดและฉันจังหันเท่านั้น

เป็นเวลา 2 ปีนับแต่อุปสมบทกรรมของ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ที่เดินตามกระบวนการของท่าน อาญาครูธรรม ได้ชี้แนะอย่างเคร่งครัด

จนเมื่อเดือน 3 ของปีพ.ศ.2462 นั้นหรอกที่มีการเปลี่ยนแปลง

นั่นเป็นห้วงเวลาที่ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรหลายรูปเดินธุดงค์รุกขมูลมาถึงบ้านม่วงไข่ ตำบลพรรณานิคม อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร

เท่าที่มีการจดจารบันทึกไว้

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้แสดงธรรมเทศนาตั้งแต่ การให้ทาน การรักษาศีล ตลอดถึงการภาวนาว่ามีผลอานิสงส์มาก

“แต่การที่ผู้ให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ฟังธรรม กระทำเจริญกัมมัฏฐานภาวนาที่ไม่ได้อานิสงส์ผลมากขึ้นเพราะพวกเรายังมีความเห็นผิด มีความนับถือและเชื่อถือผิด จากทางธรรมที่พระพุทธองค์นำพาสาวกประพฤติปฏิบัติมา”

จากนั้น ก็ตีตรงเข้าไปยังความเชื่อที่ผิดจากหลักของพุทธศาสนา

การบวงสรวงนับถือบูชาหอทะคาอารักษ์ ภูตผีปีศาจ พระภูมิเจ้าที่ ผีสางนางไม้ โดยเข้าใจว่าของเหล่านั้นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีอิทธิฤทธิ์ดลบันดาล คุ้มครองปกปักรักษาและป้องกันอันตรายได้จริง

เป็นความเชื่อผิดๆ เป็นความเห็นผิดๆ ไม่ใช่ธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

ธรรมเทศนา พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เมื่อเดือน 3 ปีพ.ศ.2462 กระทบใจอย่างลึกซึ้ง รุนแรง

กระทบใจ พระภิกษุฝั้น อาจาโร กระทบใจ พระภิกษุกู่ ธัมมทินโน รวมทั้ง พระอาญาครูดี ซึ่งมีอาวุโสสูงในหมู่เหล่า

กระทบเพราะชำแรกเข้าไปในความเชื่อผีปีศาจอันดำรงอยู่อย่างหนาแน่นในทางความคิด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน