คอลัมน์ มุมพระเก่า

วัดบางขุนพรหม ถิ่นกำเนิด “พระสมเด็จบางขุนพรหม” อันลือลั่น ในอดีตมีอาณาบริเวณกว้างขวางมาก โดยเฉพาะในช่วงที่สมเด็จพระ พุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ชราภาพ ท่านมาจำพรรษาหาความสงบเงียบ ขณะนั้นชาวบ้านได้นำที่ดินมาถวายเพิ่มเติมจากเดิม เพื่อให้ท่านสร้าง “พระหลวงพ่อโต” ประดิษฐานเป็นที่พึ่งทางใจของพุทธศาสนิกชน ทำให้วัดบางขุนพรหมมีอาณาเขตกว้างขวางมากขึ้น ทิศตะวันตกติดแม่น้ำเจ้าพระยา ทิศเหนือติดคลองเทเวศร์ ทิศตะวันออกถึงบ้านพาน บ้านหล่อพระนคร

ในขณะนั้นทางราชการได้สร้างทางตัดถนนวิสุทธิ์กษัตริย์ผ่านกลางวัดบางขุนพรหม ทำให้วัดบางขุนพรหมแยกออกเป็น 2 วัด คือ “วัดบางขุนพรหมใน” และ “วัดบางขุนพรหมนอก” ปัจจุบันวัดบางขุนพรหมในคือ “วัดใหม่อมตรส” ซึ่งเป็นวัดราษฎร์เก่าแก่ ตั้งอยู่ที่บ้านพานถม บางขุนพรหม เขตพระนคร กรุงเทพฯ

ตามประวัติวัดแห่งนี้ ได้สร้างขึ้นในปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เดิมมีชื่อเรียกว่า วัดวรามะตาราม ต่อมาเปลี่ยนชื่อว่า วัดอำมาตยรส หรือ วัดอมฤตรส แต่ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า วัดบางขุนพรหม หรือวัดบางขุนพรหมใน คู่กันกับวัดบางขุนพรหมนอก หรือวัดอินทรวิหาร ต่อมาเมื่อปี 2460 ได้เปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการว่า “วัดใหม่อมตรส”

นอกจากวัดแห่งนี้จะโด่งดังในเรื่อง “พระสมเด็จกรุบางขุนพรหม” แล้ว “พระสมเด็จของหลวงปู่ลำภู” ก็ดังไม่แพ้กัน ทุกพิมพ์ทุกเนื้อ ขั้นตอนการจัดสร้างมวลสารนำมาจากกรุวัดใหม่อมตรส ซึ่งเป็นพระผงสมเด็จของแท้ที่แตกหักชำรุดเสียหาย ท่านได้นำมาผสมกับมวลสารและผงวิเศษต่างๆ นำมาจัดสร้างเป็นสมเด็จ พุทธคุณจึงดีพร้อมทุกประการ เฉกเช่น พระพิมพ์สมเด็จ ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สร้างไว้
2
“พระครูอมรคุณาจารย์” หรือ “หลวงปู่ลำภู คงคปัญโญ” อดีตรองเจ้าอาวาสวัดใหม่อมตรส บางขุนพรหม กรุงเทพฯ นามเดิม “ลำภู เรืองนักเรียน” เกิดที่บ้านไก่จ้น ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2444 ตรงกับวันพุธ แรม 2 ค่ำ เดือน 12 ปีฉลู เป็นบุตรของ นายคง-นางผิว เรืองนักเรียน มีพี่น้องรวม 10 คน โดยครอบครัวมีอาชีพกสิกรรม

ท่านอุปสมบทเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2465 ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 6 เวลา 10.29 น. ณ วัดไก่จ้น ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีเจ้าอธิการบัติ อินทโชติ เจ้าอาวาสวัดสะตือ ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการเอี่ยม กิติวัฑฒโน วัดถลุงเหล็ก ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระมหาทองดี วัดบัวงาม ตำบลจำปา อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนคร ศรีอยุธยา เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา “คงคปัญโญ”

หลังจากบวชแล้วได้ศึกษาภาษาไทยเบื้องต้นที่วัดไก่จ้น จนอ่านออกเขียนได้ทั้งภาษาไทยและภาษาขอม ปี 2473 สอบนักธรรมตรีได้ในสนามหลวง สำนักเรียนวัดหนองเขื่อนช้าง จ.สระบุรี เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2469 ย้ายจากวัดไก่จ้นไปอยู่ที่วัดช่างทอง ตำบลเกาะเรียน อำเภอพระนครศรีอยุธยา เพื่อศึกษาธรรมะและกรรมฐาน โดยมี “พระอาจารย์จำรัส” เป็นอาจารย์สอน ซึ่งมีชื่อเสียงอยู่ในสมัยนั้น ท่านได้ศึกษากรรมฐานร่ำเรียนวิชาอาคมเวทมนตร์ คาถาเป็นเวลา 7 ปี

จากนั้นปี 2477 ย้ายจากวัดช่างทอง ไปอยู่วัดใหม่อมตรส เพื่อศึกษาต่อ ปี 2502 ได้รับตำแหน่งรองเจ้าอาวาสวัดใหม่อมตรส ปี 2512 ได้รับตำแหน่งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส ส่วนสมณศักดิ์ปี 2510 เป็นพระครูสังฆรักษ์ ตำแหน่งฐานานุกรมของพระสุธรรมธีรคุณ พระราชาคณะเสมอชั้นราช วัดสระเกศฯ ปี 2525 เป็นพระครูชั้นตรี รองเจ้าอาวาสวัดใหม่อมตรส

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน