ราม วัชรประดิษฐ์

หลวงปู่อ้น วัดบางจาก พระเกจิชื่อดังแห่งแม่กลอง หรือ จ.สมุทรสงคราม ที่ชีวิตฆราวาสท่านเป็นถึง “หม่อมราชวงศ์” แต่ด้วยความสมถะ รักสันโดษ เมื่ออยู่ในสมณเพศจึงไม่รับยศตำแหน่งใดๆ ทั้งสิ้น คงเป็นพระลูกวัดอยู่กระทั่งมรณภาพ

เป็นหนึ่งในศิษย์เอกที่มีความใกล้ชิด มากๆ กับท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) และได้รับการถ่ายทอดวิทยาการต่างๆ มาอย่างสมบูรณ์แบบ สังเกตได้จากวัตถุมงคลในยุคต้นๆ ของท่านนั้นสามารถใช้ศึกษาเนื้อหามวลสารของ “พระสมเด็จวัดระฆัง” ได้สบายๆ

โดยเฉพาะพระหลวงปู่อ้น พิมพ์สมเด็จ 3 ชั้น ที่มีเนื้อหา พิมพ์ทรง และพุทธลักษณะใกล้เคียงมากที่สุด อีกทั้งพุทธคุณที่ปรากฏโดดเด่น จนได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในพระเครื่องสำคัญของ อ.อัมพวา ซึ่งเป็นที่นิยมและแสวงหาอย่างสูงของสาธุชน ปัจจุบันหาดูหาเช่ายากยิ่ง เพราะผู้มีไว้ต่างหวงแหนยิ่ง

ประวัติของท่านมีเพียงบันทึกของพระยาทิพโกษา (สอน โลหะนันท์) เลขานุการเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็น คนแรกที่ค้นคว้าและเขียนบันทึกประวัติ ของ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เนื่องจากท่านเป็นผู้ที่เกิด ทันยุคนั้น และหนังสือจดหมายเหตุต่างๆ บางตอนได้มีกล่าวถึงประวัติของ “หลวงปู่อ้น” ไว้ดังนี้

“… หลวงปู่อ้น มีนามเดิมว่า ม.ร.ว.อ้น อิศรางกูร นิสัยของท่านรักสันโดษ เมื่ออุปสมบทที่วัดระฆังฯ แล้ว ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดคอยปรนนิบัติและศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐานและไสยเวท กับท่านเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เล่ากันมาว่าท่านยังได้ติดตามท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ครั้งไปเยี่ยมเยียนหลวงพ่อหรุ่น วัดช้างเผือก, หลวงปู่เอี่ยม วัดบางจาก และหลวงปู่อ่วม วัดไทร ด้วยต่อมาท่านได้ย้ายไปจำพรรษาอยู่ ณ วัดปรกคลองวัว หรือวัดปรกสุธรรมาราม อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ระยะหนึ่ง จากนั้นย้ายไปจำพรรษาที่วัดบางจาก จ.สมุทรสงคราม จนมรณภาพ …”

ช่วงที่ท่านจำพรรษาที่วัดบางจาก สร้าง “พระพิมพ์” ขึ้นจำนวน 84,000 องค์ ตามจำนวนพระธรรมขันธ์ เพื่อเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาตามคตินิยมแต่โบราณกาล โดยส่วนหนึ่งเพื่อไว้แจกแก่ผู้ที่เคารพศรัทธาตามสมควร และอีกส่วนหนึ่งได้นำบรรจุกรุพระเจดีย์ไว้ 2 แห่ง คือ วัดเกาะลอย อ.วัดเพลง จ.ราชบุรี และวัดปรกคลองวัว อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม พระของท่านจึงมี 2 ลักษณะ คือ พระที่ไม่ได้บรรจุกรุ และพระที่บรรจุในกรุ ซึ่งจะมีคราบนวลและขี้กรุตามลักษณะของ พระกรุโดยทั่วไป

ดูจากเนื้อหามวลสารขององค์พระเชื่อมั่นว่าท่านใช้สูตร “การลบผงพุทธคุณ” ที่ร่ำเรียนมาจากพระอาจารย์อย่างแน่นอน อาทิ มวลสารหลักเป็นปูนเปลือกหอย ผสมด้วยผงวิเศษตามสูตร เช่น ผงปถมัง อิทธิเจ มหาราช ตรีนิสิงเห ผงพุทธคุณ ธรรมคุณ ผงอิติปิโส นะร้อยแปด ผงอักขระสูตรสนธิ ฯลฯ ข้าวสุก ข้าวก้นบาตร ขี้ธูปพระประธาน กล้วยน้ำว้า ดอกไม้บูชาพระ มีตัวประสานคือ น้ำอ้อยและน้ำมันตั้งอิ้ว ที่พิเศษ

และเป็นเอกลักษณ์ก็คือ การผสมเยื่อกระดาษสา โดยรวบรวมตำราต่างๆ ที่ขาดและชำรุด ซึ่งสร้างจากกระดาษสาหรือกระดาษปะว่าวมาแช่น้ำจนยุ่ย แล้วนำมาตำเป็นส่วนผสม ทำให้เนื้อองค์พระมีความหนึกเนียนซึ้ง เฉกเช่น “พระสมเด็จ” ของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ

หลวงปู่อ้นสร้าง “พระสมเด็จ” หลายพิมพ์ทรงด้วยกัน มีอาทิ พิมพ์สมเด็จ 3 ชั้น, พิมพ์เล็บมือ, พิมพ์ประคำรอบ ฯลฯ แต่ “พิมพ์สมเด็จ 3 ชั้น” นับเป็น “พิมพ์นิยม” ซึ่งทั้งเนื้อมวลสารและพุทธลักษณะใกล้เคียงกับพระสมเด็จ ของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ มากที่สุด คือ พิมพ์ทรงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า องค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางสมาธิ เหนืออาสนะฐานหมอน 3 ชั้น ฐานชั้นล่างสุดตรงกลางเป็นร่องลึกซึ่งคล้าย “พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ฐานคู่” แต่หลวงปู่อ้นได้สร้างพิมพ์ด้านหลังให้เป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างออกไป โดยทำพื้นด้านหลังโค้งและนูนเป็นพิเศษ

บางครั้งจึงนิยมเรียกว่า “สมเด็จหลังประทุน” เพราะมีลักษณะเหมือน “ประทุนเรือ” แต่ด้วยเอกลักษณ์นี้เองทำให้ผู้ฉวยโอกาสทั้งหลายได้นำเอาพระของท่านมาแกะและเปลี่ยนแปลง เพื่ออุปโลกน์เป็น “พระสมเด็จ” ของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ได้อย่างง่ายดายครับผม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน