อาทิตย์ สุวรรณโชติ

นายธัชชัย สีสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการวัฒนธรรมสู่การท่องเที่ยวต้นไม้ใหญ่ รุกขมรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี บวงสรวง “พระศรีมหาโพธิ” จังหวัดกำแพงเพชร ประจำปี 2561 โดยมี นายไพโรจน์ แก้วแดง, นายพิจิตร วัฒนศักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร ข้าราชการ นักศึกษา นักเรียน และประชาชนชาวจังหวัดกำแพงเพชร เข้าร่วมพิธีบวงสรวงรุกขเทวา ต้นพระศรีมหาโพธิ และพระสงฆ์ 10 รูป นำโดย พระราชวชิรเมธี รองเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุเจดียาราม เจริญพระพุทธมนต์ เมื่อเร็วๆ นี้ ที่วัดพระบรมธาตุเจดียาราม หมู่ที่ 1 ต.นครชุม อ.เมือง จ.กำแพงเพชร

วัดพระบรมธาตุเจดียารามเป็นวัดที่สร้างขึ้นมาพร้อมกับเมืองนครชุม เป็นวัดประจำเมือง เหมือนดังกับวัดพระแก้วประจำเมืองกำแพงเพชร

มีหลักฐานที่ชัดเจนจากหนังสือพระราชนิพนธ์เสด็จประพาสต้นครั้งที่ 2 เมื่อเดือนสิงหาคม 2449 ณ เมืองกำแพงเพชร ความว่า… “ในพ.ศ.2329 สมเด็จพุฒาจารย์ (โต) แห่งวัดระฆังโฆษิตาราม ได้เสด็จมาเยี่ยมญาติที่เมืองกำแพงเพชร พักที่วัดเสด็จได้อ่านจารึกนครชุมที่ประดิษฐาน ณ อุโบสถวัดเสด็จ ตำบลเมือง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ได้ทราบว่ามีเจดีย์โบราณบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ อยู่ริมน้ำปิง ฝั่งตะวันตกตรงข้ามเมืองเก่าสามองค์ ได้ให้เจ้าเมืองกำแพงเพชรพระยารามณรงค์สงคราม (น้อย) ได้ป่าวร้องให้ประชาชนแผ้วถางพบเจดีย์ตามจารึกและปฏิสังขรณ์ขึ้น

ในปีพ.ศ.2414 (ซงพอ หรือพระยาตะก่า) พ่อค้าไม้ชาวกะเหรี่ยงได้มีศรัทธาจะบูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์วัดพระบรมธาตุนครชุม พระยากำแพงเพชร เจ้าเมืองได้ทำหนังสือขออนุญาตลงมาที่กรุงเทพฯ ทางกรุงเทพฯ จึงตอบอนุโมทนาและอนุญาตให้ซ่อมแซมได้

ต่อมา พ.ศ.2418 ซงพอถึงแก่กรรม การปฏิสังขรณ์ชะงักไป จนถึงพ.ศ.2447-2448 พะโป้จึงรวบรวมทุนทรัพย์ เริ่มปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่จนสำเร็จและยกยอดฉัตรขึ้นประดิษฐานในเดือน 6 พ.ศ.2449 ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จประพาสต้นเมืองกำแพงเพียง 3 เดือน สิ่งสำคัญที่สุดของวัดพระบรมธาตุ คือ พระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่ในสำเภาเงินมีพระบรมธาตุอยู่ถึง 9 องค์ ปัจจุบันประดิษฐานไว้ในองค์พระบรมธาตุ

ชาวกำแพงเพชรเชื่อกันว่า พระศรีมหาโพธิที่พระยาลิไททรงปลูกเมื่อพ.ศ.1900 เป็นต้นโพธิ์ขนาดมหึมา คนโอบ 9 คน ในพุทธศาสนาเดิมกล่าวว่า ถ้าผู้ใดไหว้บูชาต้นโพธิ์เสมือนได้บูชาพระพุทธเจ้าเช่นกัน แต่ปัจจุบันความเชื่อนี้ได้จางหายไปจากสังคม

พระราชวชิรเมธีกล่าวถึงโครงการวัฒนธรรมสู่การท่องเที่ยวต้นไม้ใหญ่ รุกขมรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี บวงสรวง “พระศรีมหาโพธิ” ว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้เล็งเห็นว่าสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ

โดยเฉพาะต้นไม้ใหญ่ สามารถสะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ ปูมหลังที่มีทั้งตำนาน เรื่องเล่า และความเชื่อที่มีความผูกพันกับชุมชนท้องถิ่น ด้วยเหตุนี้จึงได้จัดทำโครงการนี้ขึ้น ด้วยการสำรวจและคัดเลือกต้นไม้จากทั่วประเทศ จัดพิมพ์เป็นหนังสือ “รุกขมรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี” ในครั้งที่ 1 เมื่อปี 2560 เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

และในปี 2561 นี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรมจัดทำโครงการ “รุกขมรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี” เป็นครั้งที่ 2 เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 63 พรรษา 2 เมษายน 2561

คณะกรรมการได้ดำเนินการคัดเลือกต้นไม้ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และมีความสำคัญต่อชุมชน จำนวน 63 ต้น เท่าพระชนมายุสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีทั้งเป็นกลุ่มต้นไม้และเป็นต้นเดี่ยว อยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ และ “ต้นพระศรีมหาโพธิ” วัดพระบรมธาตุ จังหวัดกำแพงเพชร เป็น 1 ในต้นไม้ที่ได้รับการคัดเลือกใน 63 ต้น “รุกขมรดกของแผ่นดิน” ในครั้งที่ 2 นี้

ต้นพระศรีมหาโพธิเป็นต้นไม้ที่เก่าแก่ และมีอายุมากถึง 661 ปี มีเส้นรอบวง 7-10.20 เมตร และมีความสูงประมาณ 18-20 เมตร ตั้งสง่าอยู่ทางทิศตะวันตกขององค์พระบรมธาตุนครชุม สมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท ที่ 1 (พระญาลิไทย) แห่งกรุงสุโขทัย นำมาจากลังกาทวีป เมื่อคราวส่งสมณทูตไปสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา และทรงปลูกไว้พร้อมกับพระบรมสารีริกธาตุ ในองค์พระธาตุเจดีย์ กลางเมืองนครชุม เมื่อวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ปีระกา มหาศักราช 1279 ซึ่งตรงกับวันที่ 23 เดือนมิถุนายน พุทธศักราช 1900

จึงนับว่า “ต้นพระศรีมหาโพธิ” อยู่เคียงคู่วัดพระบรมธาตุเจดียาราม แห่งเมืองกำแพงเพชรมาช้านาน ซึ่งมีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์และพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน