“แทน ท่าพระจันทร์”

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน พระเครื่องที่ผมเริ่มศึกษาอย่างจริงจังก็คือ พระคง ลำพูน ในช่วงนั้นสนนราคาก็ถูกมากๆ ราคาหลักสิบบาทเท่านั้น จึงเหมาะที่จะเริ่มศึกษา เพราะสามารถหาพระ องค์จริงมาเริ่มศึกษา ส่องดูพิมพ์และเนื้อหาได้โดยไม่ยากนัก การศึกษาพระเครื่องให้รู้จริงและสามารถแยกพิมพ์พระและสามารถพอที่จะแยกพระแท้พระเก๊ได้นั้นจำเป็นที่จะต้องศึกษาทั้งทฤษฎี และปฏิบัติ โดยต้องมีพระองค์จริงมาศึกษาส่องดูให้เข้าใจจึงจะพอแยกแยะได้ครับ

ในการเริ่มศึกษานั้นพระอะไรที่เราชอบต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อน ผมชอบพระกรุ ก็เริ่มมาเลือกว่าจะศึกษาพระอะไรดี เพราะต้องมีพระองค์จริงอยู่กับตัวให้ศึกษาด้วย ผมก็เลือกพระคงเนื่องจากราคาย่อมเยาและสามารถหาได้ง่ายในสมัยนั้น อายุของพระก็เก่าแก่มาก เรื่องของเนื้อก็ดูแร่ เม็ดกรวด และว่านดอกมะขาม สอบถามผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมพระเครื่อง ซึ่งในช่วงนั้นก็ยังอยู่ภายในบริเวณวัดมหาธาตุ กทม. ก็ได้รับความกรุณาให้รู้มาโดยตลอด

พอเริ่มศึกษาผมก็ได้ยินคำว่ากรุบ้านครูขาว สังเกตดู ผิวพระจะดูฟ่ามๆ ยุ่ยๆ หน่อย แร่ลอย ก็งงอยู่เหมือนกันว่าเป็นกรุเดียวกับของวัดพระคงหรือเปล่า ก็ได้รับความกรุณาจากท่านผู้ใหญ่บอกว่าเป็นพระกรุเดียวกัน บ้านของครูขาวแกอยู่หลังวัดพระคง ซึ่งแต่เดิมสันนิษฐานว่า อาณาบริเวณวัดพระคงนั้นคงจะกว้างขวาง กว่าที่เห็นในปัจจุบันนี้ ต่อมาภายหลังได้มีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยกันมากและชิดวัดพระคงเข้ามาบริเวณวัดจึงมีขนาดเล็กลง บริเวณบ้านที่อยู่ใกล้ๆ วัดพระคงก็มีอยู่หลายบ้านที่ขุดพบพระคงเช่นกัน แต่บ้านของครูขาวอยู่ตรง หลังวัดพอดีและติดกับวัด จึงพบพระคงและพระอื่นๆ ในบริเวณบ้านของครูมากกว่าที่อื่น

ครับผมก็เริ่มเก็บข้อมูลเพิ่มเกี่ยวกับกรุ บ้านครูขาว จนพบในหนังสือที่ท่านอาจารย์ตรียัมปวายได้เขียนไว้ในปี พ.ศ.2503 ว่า การพบพระคงที่บ้านครูขาวได้มีการพบในปี พ.ศ.2499 ภายในบริเวณที่ดินของ นายขาว สันติภัค ในตอนนั้นท่านอายุ 51 ปี เป็นครูสอนโรงเรียนประชาบาลบ้านหลุก ก่อนที่ครูขาวจะไปขุดพบพระได้ฝันว่ามีชายชรามาเข้าฝันบอกว่าให้ไปขุดพระ เนื่องจากตัวแกเฝ้ากรุมานานแล้ว บัดนี้ถึงเวลาที่จะไปเกิดใหม่ และได้ชี้ที่ให้ไปขุด แล้วให้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้บ้าง พอถึงตอนเช้าครูขาวก็ไปดูสถานที่ ในฝันแล้วก็เอาไม้ปักไว้เป็นเครื่องหมาย

ในตอนเช้าวันที่ 15 เมษายน พ.ศ.2499 จึงได้เริ่มขุด ในตอนแรกๆ ก็พบเศษอิฐโบราณขนาดเขื่องและหนามาก สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นซากกรุเก่า ก่อนที่จะพบพระก็เจอหัวกะโหลกคน แต่เมื่อขุดขึ้นมาก็ร่วนเป็นผงเหลืออยู่แต่ฟัน 2-3 ซี่ ต่อจากนั้นช่วงแรกๆ ก็พบพระคง และพระบางเพียง 2-3 องค์ และก็พบเรื่อยๆ แต่ก็ไม่มากนัก มีทั้งพระชำรุดและพระที่สมบูรณ์ พอขุดลงไปลึกหน่อยก็จะเปลี่ยนที่ใหม่ มีข้อสังเกตว่าก่อนจะพบพระจะพบแผ่นอิฐโบราณก่อนเสมอ และบางแห่งจะมีอิฐเรียงต่อกัน

ซึ่งอาจจะเป็นแนวกำแพงของวัดเดิม หรือแนวสิ่งก่อสร้างของพระอาราม การพบพระคงก็จะพบพระบางด้วยตลอด บางแห่งที่มีตาน้ำจะพบพระมากกว่า ที่อื่น แต่พระที่พบนั้นจะมีผิวฟ่ามๆ ยุ่ย เม็ดแร่โผล่ หลุมสุดท้ายที่ครูขาวกับพวกขุดได้พระเป็นจำนวนมากเรียงกันเป็นตับ

สำหรับหลุมสุดท้ายนี้ได้พระบางเป็นจำนวนมากกว่าหลุมอื่น แต่พระทั้งหมดก็พบพระคงมีจำนวนมากกว่า พระบางของกรุวัดพระคงจะมีพิมพ์แตกต่างจากพระบาง กรุดอนแก้ว เนื้อหาก็จะเหมือนกับพระคงที่พบที่กรุวัดพระคง การขุดพระที่บ้านครูขาวมีภรรยาของครู และเพื่อนอีก 2-3 คน

จากการสอบถามผู้ใหญ่ในครั้งนั้น ก็ทำให้ทราบว่ากรุบ้านครูขาวนั้นอยู่ที่ใด ผมเองก็มีเพื่อนอยู่ข้างๆ วัดพระคง และบริเวณแถวนั้นก็เป็นญาติๆ ของเพื่อน ผมเองได้เคยเดินทางไปพักที่บ้านเพื่อนคนนี้ด้วยครับ ก็เลยได้ไปเที่ยวกราบพระวัดพระคงและเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ ในจังหวัดลำพูน ตามประสาคนชอบพระครับ

ทีนี้เรามาพูดถึงพระบางที่ขุดพบที่วัด พระคงว่ามีพิมพ์เหมือนกันกับพระบาง กรุวัดดอนแก้วหรือไม่ ผมขอตอบว่าเป็นคนละพิมพ์กันแน่นอนครับ ในปัจจุบันนักนิยมพระเครื่องบางคนได้เปลี่ยนชื่อพระบางกรุวัดพระคงมาเป็น “พระคงทรงพระบาง” แล้วก็อ้างว่าคนรุ่นเก่าเขาเรียกแบบนี้ ผมเองก็ไม่เข้าใจเรื่องการเปลี่ยนชื่อซักเท่าไร ฟังเขาพูดก็งง

เพราะเขาก็อ้างถึงผู้ใหญ่ที่ผมสนิท (เสียชีวิตไปแล้ว) ผมเองก็เห็นท่านเรียกว่า “พระบาง กรุวัดพระคง” และก็เรียกกันมาตั้งแต่พบพระบางของกรุวัดพระคงด้วยซ้ำไป ผมฟังคนรุ่นเก่าตลอดจนอาจารย์ ตรีฯ ท่านก็เรียกแบบนี้ แต่โบร่ำโบราณเขาก็เรียก “พระบาง กรุวัดพระคง” สมัยใหม่นี้ฟังแล้วก็งงๆ ครับ ปัจจุบันผมเองก็แก่เกินกว่าจะไปเถียงใครแล้วก็เลยมาเขียนคุยกัน เพื่อให้ข้อมูลเก่าๆ บางข้อมูลจะได้ไม่สูญหายไปครับ

ในวันนี้ผมได้นำรูปพระคง พระบาง กรุวัดพระคง และพระบาง กรุวัดดอนแก้ว มาให้ชมเปรียบเทียบกันดูครับ

ด้วยความจริงใจ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน