“ราม วัชรประดิษฐ์”

องค์ที่ 4 ใน “ตำนานพระพุทธรูป ลอยน้ำ” คือ หลวงพ่อวัดเขาตะเครา จ.เพชรบุรี ลอยมาตามลำน้ำเพชรบุรี นับเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพสักการะมาแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน และขึ้นชื่อลือชามาก ในเรื่องบนบานศาลกล่าวแล้วมักประสบความสำเร็จ

นอกจาก “ตำนานพระพุทธรูปลอยน้ำ” ยังมีเรื่องที่เล่าขานกันของผู้เฒ่าผู้แก่สืบต่อกันมาว่า…

ในสมัยที่กรุงศรีอยุธยาก่อนเสียกรุงต่อพม่า ชาวบ้านแหลม จ.เพชรบุรี ได้อพยพหนีพม่าไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ปากคลองแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม ใกล้กับ วัดศรีจำปา ซึ่งเป็นวัดร้าง และช่วยกันบูรณะก่อสร้างใหม่ แล้วให้ชื่อว่า “วัดบ้านแหลม” เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ผู้สร้าง

อยู่มาวันหนึ่งชาวบ้านแหลมเหล่านี้ได้ออกไปลากอวนหาปลา และไปพบพระพุทธรูป 2 องค์ องค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปนั่ง อีกองค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปยืน จึงอัญเชิญพระพุทธรูปยืนไปประดิษฐานไว้ที่วัดบ้านแหลม ตั้งพระนามว่า “หลวงพ่อวัดบ้านแหลม”

ส่วนอีกองค์ซึ่งเป็นพระพุทธรูปนั่ง ได้มอบให้ชาวบ้านบางตะบูน ชาวบางตะบูนจึงอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ณ บริเวณวัดเขาตะเครา จึงเรียกกันว่า “หลวงพ่อวัดเขา ตะเครา”

หลวงพ่อวัดเขาตะเครา เป็นพระพุทธรูปนั่งแสดงปางมารวิชัย สมาธิราบ หน้าตักกว้าง 21 นิ้ว สูง 29 นิ้ว ได้สร้างปาฏิหาริย์ให้เป็นที่ประจักษ์มากมาย ผู้ใดตกทุกข์มาบนบานศาลกล่าวก็จะได้ตามประสงค์ทุกประการ

มีอยู่คราหนึ่ง ท่านเจ้าอาวาสวัดฝันว่า มีพระสูงอายุรูปหนึ่งนำถุงบรรจุทองคำมายื่นให้ พร้อมกับพูดว่า “เอาไป” ต่อมาไม่นานก็ปรากฏว่า มีไฟลุกไหม้องค์หลวงพ่อ ทำให้ทองคำหลอมไหม้ไหลออกมา ท่านเจ้าอาวาสจึงได้นำทองไปจัดทำเป็น “ลูกอมทองไหล” หรือ “ลูกอมหลวงพ่อทอง” แจกจ่ายให้พุทธศาสนิกชนนำไป ติดตัวและบูชา

ได้ปัจจัยมาสร้างมณฑป โรงเรียน และศาสนสถานอื่นๆ จนรุ่งเรือง สืบมา เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านและสาธุชนทั่วไปเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มชาวประมง ต่างพากันมากราบไหว้สักการะขอพรและปิดทอง จนองค์พระมีทองคำเปลว ปิดหนามาก จึงเปลี่ยนมาเรียกกันว่า “หลวงพ่อทอง” ซึ่งกลายเป็นพระนามที่เรียกขานกันติดปากสืบมา

วัตถุมงคลหลวงพ่อทอง วัดเขาตะเครา มีการจัดสร้างมากมายหลายประเภทมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2460 ซึ่งล้วนเป็นที่นิยม และแสวงหาอย่างสูง ด้วยพุทธคุณความศักดิ์สิทธิ์ปรากฏแก่ผู้บูชาจนเป็นที่กล่าวขาน

มีอาทิ ลูกอมทองไหล เหรียญหล่อโบราณรุ่นแรก ปี 2465 ฯลฯ แต่ที่มีค่านิยมสูงที่สุดก็คือ “เหรียญปั๊มรูปเหมือน ปี 2468” อาจสืบเนื่องจากความเป็นเหรียญปั๊มรุ่นแรก และมีความประณีต คมชัด

นอกจากนี้ยังมีการจัดพิธีสมโภชอย่างใหญ่โตและอัญเชิญ “หลวงพ่อทอง วัดเขาตะเครา” ไปตามวัดวาอารามต่างๆ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้มีโอกาสกราบสักการะอย่างใกล้ชิด ซึ่งปัจจุบันหาดูหาเช่ายากยิ่ง

เหรียญปั๊มรูปเหมือน ปี 2468 เท่าที่พบมี เนื้อเงินและเนื้อทองแดง ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงเสมา หูในตัว ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนหลวงพ่อวัดเขาตะเครา ประทับนั่งปางมารวิชัย บนบัลลังก์บัวคว่ำบัวหงาย มีซุ้มเรือนแก้วครอบองค์พระ บนสุดจารึกอักษรไทยว่า “หลวงพ่อวัดเขา” ด้านล่างใต้บัลลังก์เป็นปีที่สร้าง คือ “พ.ศ.๒๔๖๘” ด้านหลัง พื้นเรียบจารึกอักขระขอม 5 แถว อ่านว่า “อุ นะโม พุทธายะ อะสังวิสุ โลปุสะพุกะ”

จุดสังเกตสำคัญในการพิจารณาคือ พิมพ์ด้านหน้าขององค์พระจะแกะคมชัดมาก และด้านขวามือบริเวณซุ้มกนกจะปรากฏเส้นรอยพิมพ์แตกตรงตัว “ศ” ของคำ “พ.ศ.” ปลายหางจะเชื่อมติดกับฐานบัว ส่วนพิมพ์ด้านหลัง พื้นจะเรียบมาก ขอบข้างก็สม่ำเสมอ ไม่มีรอยขยักหรือรอยปลิ้นครับผม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน