สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ประชุมพิจารณาผู้ที่จะมาดำรง ตำแหน่งอธิการบดี ต่อจาก พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธัมมจิตโต) ศ.,ดร. เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.)

ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแต่งตั้ง พระราชปริยัติกวี (สมจินต์ สัมมาปัญโญ) ศ.,ดร. ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ เลขานุการแม่กองบาลีสนามหลวง ในฐานะรองอธิการบดีมหาจุฬาฯ ฝ่ายวิชาการ ดำรงตำแหน่งอธิการบดี

ปัจจุบัน สิริอายุ 58 ปี พรรษา 37

มีนามเดิมว่า สมจินต์ วันจันทร์ เกิดเมื่อวันที่ 28 ก.ย.2503 ณ บ้านกวางงอย ต.โคกกลาง อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์

อายุ 12 ปี จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากนั้นได้บรรพชาที่วัดบ้านเกิด พ.ศ.2517 ย้ายมาอยู่วัดเสาไห้ ต.เสาไห้ อ.เสาไห้ จ.สระบุรี สามารถสอบได้นักธรรมชั้นโทและเอก ตามลำดับ ต่อมาปี 2519 ย้ายไปอยู่วัดไชยชุมพลชนะสงคราม จ.กาญจนบุรี เพื่อเรียนศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกบาลี สามารถสอบได้เปรียญธรรม 1-2 ประโยค

พ.ศ.2521 ย้ายมาอยู่ที่วัดปากน้ำภาษีเจริญ

พ.ศ.2525 หลังสอบได้เปรียญธรรม 7 ประโยค เข้าพิธีอุปสมบท ที่พัทธสีมาวัดปากน้ำ โดยมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมธีรราชมหามุนี เจ้าอาวาส เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายานามว่า สัมมาปัญโญ

มุ่งมั่นศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีอย่างจริงจัง พ.ศ.2528 สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค

หลังจากนั้น พ.ศ.2531 เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยสุโขทัย ธรรมาธิราช สำเร็จศึกษาศาสตรบัณฑิต (มัธยม ศึกษา) พ.ศ.2534 สำเร็จพุทธศาสตรมหาบัณฑิต (พระพุทธศาสนา) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

จากนั้นเดินทางไปศึกษาปริญญาเอก สาขาปรัชญา ณ มหาวิทยาลัยพาราณสี ประเทศอินเดีย สำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ.2537

หลังจากจบปริญญาเอก เข้ามาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ประจำกองวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ จากนั้นชีวิตการทำงานก็เจริญก้าวหน้าตามลำดับ พ.ศ.2540 เป็น ผอ.การกองวิชาการ พ.ศ.2541 เป็นคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย พ.ศ.2549 เป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ

พ.ศ.2556 ได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ สาขาวิชาพระพุทธศาสนา คณะพุทธศาสตร์ พ.ศ.2559 เป็นเลขานุการแม่กองบาลีสนามหลวง

สร้างคุณูปการและทุ่มเทให้กับงานศาสนาทุกอย่าง โดยเฉพาะด้านวิชาการ การศึกษา และมหาวิทยาลัย ด้านวิชาการ แปลและแต่งหนังสือทางวิชาการ อาทิ พัฒนาการแห่งพุทธจริยศาสตร์, พัฒนาการแห่งความคิดแบบอินเดียโบราณ พระพุทธศาสนามหายาน เป็นต้น

เขียนบทความทางวิชาการมากมาย อาทิ บทวิเคราะห์วัชรยาน ตอนที่ 1-5 (บทความทางวิชาการ), นาคารชุนกับปัญหาว่าด้วยกาล ภาวะและอภาวะ, แนะนำพระวินัยปิฎก, ปรัชญามาธยมิกะ, สืบค้นตรรกวิทยาใน พระไตรปิฎกและวรรณกรรมพระพุทธศาสนา, วิพากษ์ทางสายกลางของอริสโตเติลกับมัชฌิมาปฏิปทาในพระพุทธศาสนาเถรวาท, พระวินัย : กฎเกณฑ์และคุณค่าทางสังคม กำเนิดและพัฒนาการแห่งพระพุทธรูป, สถานการณ์ พระพุทธศาสนาในโลกปัจจุบัน เป็นต้น

มีผลงานวิจัยในเรื่องการศึกษาวิเคราะห์หลักจริยศาสตร์ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา, พจนานุกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, บูรณาการพุทธธรรมเพื่อเพิ่มพลังบริหาร ฯลฯ

พ.ศ.2546 ได้รับรางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา (เสาเสมาธรรมจักร) ประเภทส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนา สาขาการแต่งหนังสือทางพระพุทธศาสนา

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2551 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระศรีคัมภีรญาณ พ.ศ.2559 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชปริยัติกวี

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่อาคาร มวก 48 พรรษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา มีพิธีรับพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี

โดยมีพระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธัมมจิตโต) ศ.,ดร. ในฐานะอดีตอธิการบดีมหาจุฬาฯ เป็นประธาน และผู้มอบพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช

พระราชปริยัติกวี กล่าวถึงนโยบายการบริหารงานมหาจุฬาฯ ว่า “จะได้สานงานต่อจากที่เจ้าพระคุณพระพรหมบัณฑิต ได้ฝากเอาไว้ ยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารงาน ยึดระบบคุณธรรม และการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ นำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อการบริหารและการจัดการเรียนการสอนทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ ให้เกิดการยอมรับและร่วมมือกันสร้างนวัตกรรมทางการศึกษา”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน