“หลวงพ่อเกษม เขมโก” สุสานไตรลักษณ์ จ.ลำปาง เป็นพระเถระและเกจิอาจารย์ ที่ชาวเมืองลำปางและชาวไทยเคารพนับถือ เป็นพระเถราจารย์ปูชนียบุคคลรูปหนึ่งของประเทศไทย และมีผู้มีความเคารพศรัทธาเป็นจำนวนมาก อีกทั้งท่านยังเป็นเจ้านายในราชวงศ์ทิพย์จักร ที่ออกผนวชอีกด้วย

เดิมมีนามว่า เจ้าเกษม ณ ลำปาง เกิดเมื่อวันที่ 28 พ.ย.2455 ตรงกับวันพุธ เดือนยี่ (เหนือ) ปีชวด ร.ศ.131 เป็นบุตรในเจ้าน้อยหนู ณ ลำปาง (ภายหลังเปลี่ยนนามสกุลใหม่เป็น มณีอรุณ) รับราชการเป็นปลัดอำเภอ กับเจ้าแม่บัวจ้อน ณ ลำปาง และเป็นราชปนัดดาในเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าหลวงผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้าย

สมัยตอนเด็กมีคนเล่าว่าท่านซนมาก มีอยู่ครั้งหนึ่งท่านปีนต้นบ่ามั่น (ต้นฝรั่ง) เกิดพลัดตกจนมีแผลเป็นที่ศีรษะ

เมื่อท่านอายุ 13 ปี บรรพชาหน้าศพ (บวชหน้าไฟ) เจ้าอาวาสวัดป่าดั๊วเป็นเวลา 7 วัน ต่อมาบรรพชาอีกครั้งเมื่ออายุ 15 ปี อยู่ที่วัดบุญยืน จังหวัดลำปาง ศึกษาด้านพระปริยัติธรรม จนสอบนักธรรมชั้นโทได้ในปี พ.ศ.2474 เข้าพิธีอุปสมบทในปีถัดมา มีพระธรรมจินดานายก เจ้าอาวาสวัดบุญวาทย์วิหาร อดีตเจ้าคณะจังหวัดลำปาง เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า เขมโก แปลว่า ผู้มีธรรมอันเกษม

ศึกษาภาษาบาลีที่สำนักวัดศรีล้อม ต่อมาได้ย้ายมาศึกษาแผนกนักธรรมที่สำนักวัดเชียงราย

พ.ศ.2479 สอบได้นักธรรมชั้นเอก เรียนรู้ภาษาบาลีจนสามารถเขียนและแปลได้

หลังสำเร็จทางด้านพระปริยัติธรรมแล้ว เสาะแสวงหาครูบาอาจารย์ที่มีความรู้และมีความเชี่ยวชาญในด้านวิปัสสนา จนกระทั่งทราบข่าวว่ามีพระเกจิรูปหนึ่งมีชื่อเสียงในด้านวิปัสสนา คือครูบาแก่น สุมโน จึงฝากตัวเป็นศิษย์

ตามครูบาแก่นออกท่องธุดงค์ไปแสวงหาความวิเวกและบำเพ็ญเพียรตามป่าลึก จน ถึงช่วงเข้าพรรษาจึงต้องแยกทางกับ พระอาจารย์ และกลับมาจำพรรษาที่วัดบุญยืนตามเดิม พอครบกำหนดออกก็ติดตามอาจารย์ออกธุดงค์บำเพ็ญภาวนา

ต่อมาเจ้าอธิการคำเหมย เจ้าอาวาสวัด บุญยืน มรณภาพ คณะสงฆ์ได้ประชุมกันเพื่อหาเจ้าอาวาสรูปใหม่และต่างลงความเห็นพ้องต้องกันเห็นควรว่าพระภิกษุเจ้าเกษม มีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งเจ้าอาวาส

ครั้นเมื่อท่านได้รับเลือกเป็นเจ้าอาวาสวัดบุญยืน ท่านก็ไม่ยินดียินร้าย แต่ท่านก็ห่วงทางวัด เพราะเคยจำพรรษาที่วัดแห่งนี้ เห็นว่าถือเป็นภารกิจทางศาสนา ต้องการให้พระศาสนานี้ดำรงอยู่ จึงยอมรับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบุญยืน หลังจากนั้น ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสหลายครั้ง เนื่องจากต้องการจะออกธุดงค์ แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ดังนั้น ท่านจึงออกจากวัดบุญยืนไปที่ศาลาวังทาน พร้อมเขียนข้อความลาออกจากการเป็นเจ้าอาวาสไว้ด้วย

หลวงพ่อเกษมเป็นพระสายวิปัสสนาธุระ ไม่ยึดติดแม้แต่สถานที่ ท่านได้ปฏิบัติธรรม ณ สุสานไตรลักษณ์ ตลอดชีพ เป็นพระที่เป็นที่เคารพสักการะของคนในจังหวัดลำปางและทั่วประเทศ ท่านปฏิบัติศีลบริสุทธิ์ตามพระธรรมคำสั่งสอนแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยไม่ติดยึดในกิเลสทั้งปวง

วิธีสอนของท่าน ไม่ชอบตรงไปตรงมา เน้นอุปมาอุปไมยให้ไปขบคิด เรื่องที่เทศนา มุ่งเอาพุทธวจนะเป็นที่ตั้ง

ครั้งหนึ่งในการเทศน์งานศพ มีคนมิตั้งใจฟัง นั่งคุยกันจนหนวกหู หลวงพ่อเกษมจึงใช้กระป๋องเนยเปล่า เป็นอุปกรณ์ช่วยขยายเสียงด้วยการสะท้อนเสียงเข้าไปในกระป๋องเท่านั้น เสียงท่านก็ดังกังวานคล้ายวิทยุ

เป็นกุศโลบายแบบหนึ่งที่ท่านใช้จูงใจญาติโยม

เวลา 19.40 น. วันจันทร์ที่ 15 ม.ค.2539 หลวงพ่อเกษม มรณภาพอย่างสงบ ที่โรงพยาบาลลำปาง สิริอายุ 84 ปี พรรษา 64

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน