พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ รุกคืบรูปธรรม งานพระสงฆ์กับสาธารณสงเคราะห์ ชุบชีวิตใหม่ ‘ยายพูล’ ปฏิบัติการ 15 วัน สร้างบ้าน รักษาตา-อาหาร พร้อมคนดูแล 3 เวลา

พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หลวงพี่น้ำฝน เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม เผยว่า ตามที่อาตมาได้ไปช่วยเหลือโยมยายพูล ที่อาศัยพักพิงอยู่ในเพิงหมาแหงนซอมซ่อ ช่วงริมถนนเพชรเกษม ตรงข้ามโรงแรมไมด้า นครปฐม แล้วนั้น บัดนี้ภารกิจได้เสร็จสมบูรณ์ตามวัตถุประสงค์ กล่าวโดยสรุปคือ เรื่องสุขภาพตรวจเช็คร่างกาย ให้หมอมาดูเรื่องตาที่พร่ามัว บัดนี้มองเห็นได้ชัดขึ้น รวมถึงการสร้างบ้านหลังใหม่ ติดตั้งระบบไฟ พร้อมพัดลม พาไปทำบัตรประชาชน เพื่อรับเงินผู้สูงวัย เงินคนพิการ ดูแลเรื่องอาหารการกิน พร้อมคนดูแลทำความสะอาด นี่คือความสำเร็จอีกหนึ่งภารกิจสาธารณสงเคราะห์ ที่เป็นรูปธรรม ในระยะเวลาเพียง 15 วัน ทุกเรื่องเสร็จสมบูรณ์ แต่อาตมาก็ไม่ทิ้งยังคงดูแลจวบจนตายจากกัน

พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ กล่าวอีกว่า ยังมีญาติโยมอีกหลายท่าน ที่ไม่รู้ประวัติความเป็นมาและเรื่องราวที่น่าสงสารของโยมยายพูล ที่ทุกวันนี้มีสติความจำบริบูรณ์โดยโยมได้เล่าให้อาตมาฟังว่า เดิมเป็นคนวัดท่าหลวงพล จังหวัดราชบุรี พ่อเป็นคนที่นั่น ส่วนแม่เป็นคนวัดพระแท่นดงรัง กาญจนบุรี วิถีชีวิตลำเค็ญมาตั้งแต่เกิด ระหกระเหินทำงานมาแล้วสารพัด จวบจนจับพลัดจับผลูมาอยู่ริมทางรถไฟ แถววัดพระงาม กลางเมืองนครปฐม ย้อนไปเมื่อในวัยสาว โยมยายพูล มีความขยัน ซื่อสัตย์ อดทน รู้บุญคุณคน ผ่านชีวิตโชกโชน โดยเฉพาะในห้วงสมัยสงครามโลก โยมยายพูลไปทำงานรับจ้างญี่ปุ่น ได้ค่าแรงวันละบาท

จากนั้นพ่อแม่ก็มาตาย โยมยายพูลได้สามี แต่ไม่มีลูก โยมไปขอเด็กมาเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรม สุดท้ายสามีตายลูกตาย ไร้ญาติขาดมิตร โยมยายพูลดิ้นรนกระเสือกกระสนหาเช้ากินค่ำ ยึดอาชีพค้าขายข้าวหลามอยู่หน้าองค์พระปฐมเจดีย์ พร้อมกับรับจ้างปักกระสอบข้าว รวมถึงไปทำงานเป็นลูกจ้างที่กรุงเทพฯ หนักเอาเบาสู้ แต่ไม่รู้อนาคตโชคชะตา และแล้วฟ้าก็ลิขิตให้มาตั้งรกรากใหม่ บนเนื้อที่ไม่ใหญ่ สมัยนั้นยังไม่มีถนนเพชรเกษม โยมยายพูลปักหลักริมทาง ปลูกกล้วย มะม่วง ขนุน มะพร้าว เลี้ยงชีพไปวันๆ

เมื่อวันเวลาผันผ่าน ความเจริญคืบคาน ถนนเข้ามา ตึกรามบ้านช่องผุดโผล่ ที่อยู่ของโยมยายพูล จึงเหลือเพียงที่ดินเท่าแมวดิ้นตาย ร่างกายเริ่มผ่ายผอม เดินไม่ได้ ต้องคลานไปเซเว่นทุกวัน เพื่อไปซื้อของกิน คลานไปคลานกลับใช้เวลาเป็นชั่วโมง ส่วนที่นอน ก็เหม็นตลบอบอวล กลิ่นขี้เยี้ยวฟุ้งกระจาย ดวงตาที่เคยสดใส บัดนี้เห็นเพียงเลือนรางพร่ามัว ข้าวปลาอาหารกินได้น้อยลง ฟันฟางหลุดหายเหลือแต่เหงือกสีแดง

แต่บัดนี้สวรรค์มีตา อาตมามาพบโยมยายพูล จึงนำพาให้เกิดความเวทนาสงสาร อาตมาสร้างบ้านให้ใหม่ พาไปหาหมอ พาไปทำบัตรประชาชน บัตรคนพิการ เพื่อจะได้รับเงินอุดหนุนจากราชการ อาตมาส่งคนไปดูแล 3 เวลา เช้า กลางวัน เย็น คอยทำความสะอาด ซื้อหาอาหารไว้ให้กิน วันนี้โยมยายพูล อยู่ดีมีสุข กินอิ่มนอนอุ่น ยิ้มได้สบายใจ ไม่เครียดไม่กังวล และต่อจากนี้อาตมาก็จะคอยดูแลเรื่องสุขภาพเป็นสำคัญ

พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ กล่าวต่ออีกว่า ญาติโยมทั้งหลาย เรื่องของโยมยายพูล สะท้อนถึงความชรา ว่ามันคือธรรมชาติที่คนต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อวัยวะเสื่อมสลายประสิทธิภาพลดลง ผู้สูงอายุจึงอาจมีโรคต่างๆ ได้ง่ายกว่าคนทั่วไป โรคเหล่านี้ล้วนมีสาเหตุมาจาก ความเสื่อมเสียเป็นส่วนใหญ่ ทั้งป้องกันได้และป้องกันไม่ได้ แม้ไม่เป็นโรค ประสิทธิภาพในการด้านอื่นๆ อาจลดลง ขี้หลงขี้ลืม คิดช้า ความต้านทานโรคลดลง การย่อยอาหารลดลงรวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจ ผู้สูงอายุจะพบกับการสูญเสียในสิ่งต่างๆ มากขึ้น

ซึ่งล้วนแต่เป็นขบวนการทางธรรมชาติเกือบทั้งสิ้น บางรายพึ่งตนไม่ได้ ภาวะต่างๆ เหล่านี้ ต้องการปรับตัวอย่างมาก รายที่ไม่สามารถปรับตัวได้ดี จะเกิดโรคต่างๆ เช่น วิตกกังวล หวาดระแวง ซึมเศร้า เป็นต้น รายที่ปรับตัวได้พอสมควร อาจแสดงด้วย การจู้จี้ขี้บ่น อารมณ์แปรปรวน ความแข็งแรงของร่างกายลดลง ความเจ็บป่วยจากโรคทางกายและใจ ล้วนทำให้ผู้สูงอายุพึ่งตัวเองได้น้อยลง ทำให้ต้องพึ่งอาศัยลูกหลานมากยิ่งขึ้น

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ล้วนเป็นการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ซึ่งมนุษย์สามารถเรียนรู้และคาดการณ์ได้ การเตรียมตัวเตรียมใจไว้เผชิญความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ต้องการเรียนรู้และศึกษาจากประสบการณ์ เตรียมตัว เพื่อการเป็นผู้สูงอายุที่อยู่ดีมีสุข ที่สำคัญผู้สูงอายุควรมีคุณธรรม ดำเนินชีวิตด้วยปัญญามีแก่น มีสาระแห่งชีวิต เป็นคนสูงอายุที่มีค่าและประเสริฐ ยิ่งมีอายุมากเท่าไรก็ยิ่งจะมีค่ามากขึ้นเท่านั้น เพราะย่อมจะเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้ลูกหลานได้พึ่งพิง

ตามหลักธรรมะนั้น มิได้วัดค่าของคนที่ร่างกายหรือสมอง แต่ท่านวัดคนที่คุณธรรม เพราะค่าของคนมิได้อยู่ที่ร่างกายหรือสมอง แต่อยู่ที่สาระแห่งชีวิตหรือคุณธรรมที่มีอยู่ประจำอยู่ที่จิตใจ สมกับค่าของคนสมัยก่อนที่ว่า “คนเรามิได้แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะเกิดนาน” เท่านั้นดอก แต่จะต้องเป็นคนสูงอายุเพราะมีสาระและคุณธรรมต่างหาก ที่ยิ่งมีอายุมากขึ้นก็ยิ่งจะเป็นที่ภาคภูมิใจ หรือเป็นหลักให้เกิดความอบอุ่นใจแก่ลูกหลาน หรือคนทั่วไป

ธรรมะให้ความสุขแก่ผู้สูงอายุ คนสูงอายุนั้น เมื่ออนุสรณ์ถึงชีวิตของตนเองว่า ได้ทำดีไว้ให้ลูก ทำถูกไว้ให้หลานอย่างครบถ้วนแล้ว ก็ย่อมจะเกิดปีติหล่อเลี้ยงจิตใจให้เกิดความสุขทางจิตใจได้ คนสูงอายุที่ไม่มีธรรมะนั้นมักจะรู้สึกว้าเหว่และสิ้นหวัง เพราะยิ่งเมื่อสูงอายุมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งจะพึ่งตัวเองได้น้อยลงเท่านั้น แม้ว่าจะมีเงินจ้างคนอื่นช่วย แต่ถ้าเราขาดคุณธรรมหรือไม่มีน้ำใจ ก็จะหาคนรับจ้างยาก หรือไม่ทำด้วยน้ำใจ ทำพอให้พ้นๆ หน้าที่ไปเท่านั้น หรือถ้าเป็นผู้สูงอายุที่โหดร้ายด้วยเงินก็จะไร้ค่าไปทันที ในทางตรงกันข้าม ผู้สูงอายุที่มีคุณธรรม มีเมตตาอารีต่อลูกหลานและบุคคลทั่วไป ใครๆ ก็อยากเข้าใกล้ เพราะมันทำให้เขาสงบและอบอุ่น

ผู้สูงอายุควรมีสติ และ สมาธิ เนื่องเพราะผู้สูงอายุทั่วไปมักจะหลงลืมง่าย แม้กระทั่งกินอาหารแล้วก็ว่ายังไม่กิน เหตุเพราะขาดสติ หรือไม่เจริญสติอยู่เป็นประจำวันไว้ก่อน แม้ว่าจะมาเจริญในเมื่อสูงอายุก็มักจะไม่ทันใช้ คือ มักจะไม่ได้ผล

ผู้สูงอายุทั่วไปมักมีจิตใจฟุ้งซ่าน ด่า หรือ บ่นเก่ง จนลูกหลานไม่อยากเข้าใกล้ เพราะเบื่อระอาในความจู้จี้ขี้บ่น เหตุเพราะจิตขาดสมาธิและไม่มีสติควบคุม สติและสมาธิจึงเป็นยอดธรรมะที่คนสูงอายุต้องมีประจำใจ จึงจะเป็นคนสูงอายุที่น่าเคารพรักเป็นหลักให้ลูกหลาน ได้มีที่พึ่งทางใจ และการที่ผู้สูงอายุจะทำตนให้เป็นที่พึ่ง ของผู้อ่อนอายุได้ ตนเองต้องเริ่มทำตนเองให้มีที่พึ่งเสียแต่บัดนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน