“ราม วัชรประดิษฐ์”

วิหารพระมงคลบพิตร ต.ประตูชัย อ.พระนครศรีอยุธยา ทางทิศใต้ของวัดพระศรีสรรเพชญ์ ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ พระนาม “พระมงคลบพิตร” พระพุทธปฏิมาศักดิ์สิทธิ์ 1 ใน 8 พระพุทธรูปสำคัญคู่กรุงศรีอยุธยา ที่มีพระพุทธานุภาพเป็นหลักกรุง ซึ่งน่าจะเป็นองค์เดียวกันกับ “พระพุทธสยมภูวญาณโมฬี” ตามคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ซึ่งกล่าวว่า … เป็นพระพุทธรูปนั่งสมาธิ หน้าตัก 16 ศอก หล่อด้วยทองเหลือง อยู่ในพระมหาวิหาร วัดสุมงคลบพิตร ซึ่งต่อมาเรียกชื่อวัดย่อลง เป็น “วัดมงคลบพิตร”

พระมงคลบพิตร หรือ “หลวงพ่อมงคลบพิตร” พระพุทธรูปก่อด้วยอิฐแล้วหุ้มสำริดแผ่น ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 9.55 เมตร สูง 22.45 เมตร ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในรัชกาลใด แต่ด้วย พระพักตร์แม้จะค่อนข้างเป็นวงรี แต่ก็ยังคงเห็นเค้าพระพักตร์ที่เป็นเหลี่ยมอยู่ และเส้นพระขนงที่วาดโค้ง อันเป็นพุทธศิลปะผสมระหว่างอู่ทองและสุโขทัย จึงสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างสมัยอยุธยาตอนต้นในระหว่างแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจนถึงแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม

ตาม “พงศาวดารวิหารพระมงคลบพิตร” นั้น เดิมประดิษฐานอยู่ด้านทิศตะวันออกของพระราชวังหลวง บางคนสันนิษฐานว่า เคยประดิษฐานอยู่กลางแจ้งที่วัดชีเชียงมาก่อน ในปี พ.ศ.2146 สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม โปรดให้ชะลอมาไว้ทางด้านทิศตะวันตก แล้วให้สร้างมณฑปขึ้นครอบไว้ ต่อมาในปี พ.ศ.2246 สมัยพระเจ้าเสือ เกิดอสุนีบาตต้องยอดพระมณฑป เกิดไฟไหม้พังลงมาต้องพระศอของพระมงคลบพิตรหัก พระองค์ จึงโปรดให้รื้อเครื่องบนออก แล้วสร้างใหม่เป็น “พระวิหาร” แต่คงทำเครื่องยอดอย่างมณฑปของเดิม

กระทั่งถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้น ในปี พ.ศ.2463 พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ขณะดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า ได้ดำเนินการซ่อมพระเมาฬีและพระกรข้างขวาของหลวงพ่อมงคลบพิตรที่หักให้เต็มบริบูรณ์ รวมทั้งบูรณะพระวิหารที่อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม

ต่อมาปี พ.ศ.2474 คุณหญิงอมเรศ ศรีสมบัติ มีศรัทธาปฏิสังขรณ์ฐานพระพุทธปฏิมาขึ้นใหม่ ครั้งนั้นจำเป็นต้องลบรอยปูนปั้นของเดิมออกจนหมด เพื่อทำเป็นผ้าทิพย์ลวดลายใหม่เป็นแผ่นตรงแทน ส่วนซากพระวิหารของเก่านั้น กรมศิลปากรได้ซ่อมแต่งรักษาเพื่อไม่ให้ ผุพังทำลายต่อไป และอยู่ในสภาพเช่นนี้เรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ.2499 สมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงได้เริ่มการบูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารและองค์พระเสียใหม่ โดยองค์หลวงพ่อมงคลบพิตรนั้นได้ทาสีดำตลอดทั้งองค์

ปี พ.ศ.2500 กรมศิลปากรได้บูรณะพระพุทธปฏิมาและพบ พระพุทธรูปบรรจุไว้ในพระอุระด้านขวาเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา” และ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม”

ต่อมาในปี พ.ศ.2533 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เสด็จทรงเป็นประธานเททองหล่อ “หลวงพ่อมงคลบพิตรจำลอง” ได้ประทานพระดำริว่า…ควรปิดทององค์พระพุทธปฏิมาทั้งองค์ ซึ่งจะทำให้มีพุทธลักษณะที่งดงามสง่า น่าเลื่อมใสศรัทธายิ่งขึ้น อันจะเป็นการส่งเสริมศรัทธาของบรรดาพุทธศาสนิกชนอีกประการหนึ่งด้วย

ประกอบกับเมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ทรงนมัสการหลวงพ่อมงคลบพิตร ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 50,000 บาท เพื่อบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระ ทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจึงร่วมกับมูลนิธิพระมงคลบพิตรดำเนินการบูรณะปิดทององค์พระเพื่อความสง่างาม ตามพระดำริของสมเด็จพระสังฆราชฯ ทั้งนี้เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ ในปี พ.ศ.2535 อีกด้วย

ณ ปัจจุบัน หลวงพ่อมงคลบพิตร ณ วิหารพระมงคลบพิตร นับเป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญของ จ.พระนครศรีอยุธยา ดังจะได้ยินคำกล่าวอยู่เสมอว่า “ผู้ใดที่มาเที่ยวอยุธยาแล้ว ยังไม่ได้มาไหว้หลวงพ่อมงคลบพิตร ถือว่ามาไม่ถึงอยุธยา” ครับผม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน