จำลอง บุญสอง

เจดีย์สวยัมภูนาถ (Swayumbhunath) เป็นเจดีย์พุทธมหายานที่มีอัตลักษณ์พิเศษที่มีชื่อของเนปาล ด้วยบนเจดีย์มีรูปดวงตามองไปทั้งสี่ทิศ สร้างกันมานานถึง 2,000 ปี ในยุคของพระเจ้ามานะเทวะในปี พ.ศ.936 ดวงตาบนเจดีย์สะท้อนความเป็นนามธรรมของการตรัสรู้ (Wisdom Eyes) หรือดวงตาเห็นธรรมออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมด้วยภาพลักษณ์ ดังกล่าว แต่อีกหลายคนก็อธิบายเหนือไป จากนั้นอีกว่า สัญลักษณ์ดังกล่าวหมายถึง เมตตา-ปัญญา

ปัญญาจาก Wisdom+ความเมตตา ที่แผ่ไปยังประโยชน์แก่มนุษย์ในทุกหมู่เหล่าใน ทุกทิศทุกทาง ไม่เลือกชั้นไม่เลือกวรรณะ ไม่เลือกผิวสี เพื่อให้มนุษย์มีทั้ง “Wisdom Eyes” และให้ได้มาซึ่งการปกครอง ที่เป็นธรรม (สัปปายะในความเป็นอยู่อันเกิดจากการเมือง) อันเกิดจากการปกครองด้วยความเมตตาของผู้ปกครอง

สัญลักษณ์ทำนองเดียวกันนี้มีปรากฏในหลายๆ ที่ ตามประเทศที่นับถือพุทธมหายาน ที่สำคัญคือ นครธม ประเทศกัมพูชา ซึ่งแกะสลักหินเอามาต่อๆ กันเป็นรูปหน้า (ผู้นำหรือกษัตริย์) หลายรูปหันหน้าออกเพื่อดูแลราษฎรในทุกทิศทุกทาง รูปสลักหินดังกล่าวสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยยะวรมันที่ 7 ที่นับถือพุทธศาสนานิกายมหายานที่เข้มแข็งที่สุดในยุคเมืองพระนคร (Angor)

พระมหาธาตุเจดีย์ไตรรัตนพุทธญาณรังสีปฐวีมงคล เจดีย์สไตล์เดียวกับเจดีย์สวยัมภูนาถ ถูกสร้างเลียนแบบขึ้นที่อาศรมพรมธาดา พุทธสถานที่สันเขาเล็กๆ ลูกหนึ่งในหมู่ที่ 6 บ้านแม่เตี๊ยะ ต.ดอยแก้ว อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ พื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นเฮ่วอีป้อหรือป่าช้า

กระทั่ง ครูบาตรัยเทพ จันทวัณโณ จากอารามห้วยบง ตำบลดอยหล่อ อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยนายปั๋น พรมใจ กำนันตำบลดังกล่าว มาร่วมกันสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ไตรรัตนพุทธญาณรังสีปฐวีมงคล เมื่อวันที่ 1 เม.ย.2547

 

ภายในเจดีย์จะมีภาพวาดสไตล์วชิรญาณหรือมหายานแบบทิเบตตามผนังด้านในเจดีย์สวยัมภูนาถอยู่เป็นจำนวนมาก ที่สำคัญคือรูปยักษ์กำลังกัดกินสรรพสัตว์ที่ยังไม่หลุดออกจากวัฏสงสารหรือที่เรียกในภาษาพุทธว่าวงจรปฏิจจสมุปบาท

รูปภาพภายในใต้ฐานพระเจดีย์ที่สำคัญมากคือ ภาพยักษ์กัดกินมนุษย์ที่อวิชชา ที่ทำให้มนุษย์ไม่หลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์ (ปฏิจจ สมุปบาท)

ด้านนอกเจดีย์เป็นรูปปั้นของเทพเจ้าฮินดูและภาพพระอรหันต์ฝ่ายมหายานในเมืองจีน ที่แปลกคือมีรูปปั้นของฤๅษีทั้งที่เป็นรูปคนและรูปสัตว์

ครูบาตรัยเทพ จันทวัณโณ เจ้าสำนักอาศรมพรมธาดา อธิบายว่า ศาสดาของทุกๆ ศาสนาคือผู้สำเร็จ (Wisdom Eyes) ทุกศาสนา วัดนี้จึงไม่มีการแบ่งแยกศาสนาแต่อย่างใด

วัดนี้เป็นวัดที่พระฉันมังสวิรัติ และอุบาสกอุบาสิกาก็กินมังสวิรัติเช่นกัน

จะเห็นได้ว่าเชียงใหม่..เป็นเมืองที่มีศิลปวัฒนธรรมแบบล้านนานับร้อยๆ วัด ทั้งในตัวเมืองและกระจายไปตามอำเภอต่างๆ มากมาย แต่ละวัดก็สวยงามด้วยความเป็นล้านนา โดยมีการประยุกต์รูปทรงเจดีย์ โบสถ์และอาคารในวัดกันต่างๆ นานาไปจากศิลปะดั้งเดิม มีวัดสำหรับสอนวิปัสสนาให้กับทั้งคนไทยและต่างชาติหลายแห่ง วัดในเชียงใหม่หลายแห่งมีอุบาสิกาจากตะวันตกมาเรียนนั่งสมาธิหลายต่อหลายวัด

ส่วนอาศรมนี้เป็นศาสนสถานที่แปลกใหม่ของเชียงใหม่ต่างจากที่อื่นที่เป็นพุทธแบบเชียงใหม่ คนเดินทางไปเยือนที่อาศรมนี้ค่อนข้างจะน้อยเพราะเส้นทางสลับซับซ้อน ทั้งๆ ที่อยู่ในรัศมีอำเภอจอมทองไม่ไกล ใครไปเยือนต้องใช้การสอบถามชาวบ้านแถบนั้น หรือใช้จีพีเอสเป็นหลัก

สนใจเข้าไปชมความงามและศิลปะใน วัดนี้ สอบถามได้ที่ ททท.สำนักงานเชียงใหม่ โทร.0-5324-8604-5

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน