สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 18 สืบแทน สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณณสิริ) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และทรงเป็น สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 2 ที่สถิต ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

พระองค์แรกคือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสน์) เกิดในสกุล นิลประภา ประสูติเมื่อวันที่ 2 มี.ค.2440 เวลา 19.33 น. ที่บ้าน ต.บ่อโพง อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา บิดาชื่อ บาง มารดาชื่อ ผาด เป็นบุตรคนที่ 1 ในจำนวน 3 คน

บรรพชาเมื่อพระชันษา 16 ปี ณ วัดราชบพิธฯ เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2455 พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ พระวินัยมุนี (แปลก วุฑฒิญาโณ) วัดราชบพิธฯ เป็นพระศีลาจารย์

อุปสมบท ณ วัดราชบพิธฯ เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2461 มีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวง ชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า เป็นพระอุปัชฌาย์, พระวินัยมุนี (แปลก) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระญาณดิลก (รอด วราสโย) วัดเสนาสนาราม จ.พระนคร ศรีอยุธยา เป็นพระศีลาจารย์ มีพระฉายาว่า “วาสโน”

ศึกษาพระปริยัติธรรมด้านนักธรรมจนสอบได้นักธรรมชั้นโท และสอบได้เปรียญ 4 ประโยค

สถาบันการศึกษาทางพระพุทธศาสนา ได้ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 2 สถาบัน และรัฐบาลอินเดียได้อนุมัติปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาอักษรศาสตร์ โดยมหาวิทยาลัยพาราณสีเป็นผู้ดำเนินการประกอบพิธีทูลถวาย

ทรงดำรงสมณศักดิ์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2465 เป็นพระครูฐานานุกรมในพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ที่ พระครูโฆสิตสุทธสร พ.ศ.2489 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชกวี พ.ศ.2490 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพโมลี

พ.ศ.2492 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมปาโมกข์ พ.ศ.2500 เป็นรองสมเด็จพระราชาคณะที่ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์

พ.ศ.2506 เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

พ.ศ.2517 พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก องค์ที่ 18 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

เจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงมีคุณูปการแก่พระพุทธศาสนา และพุทธศาสนิกชนเป็นอเนกอนันต์ สมัยที่ยังทรงพระชนม์ เสด็จไปทรงบำเพ็ญศาสนกิจ เพื่อเจริญศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนในที่ต่างๆ โดยมิได้ว่างเว้น

แม้จะทรงมีพระชนมายุสูง แต่ก็ทรงทันสมัย มีเหตุผลและรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น

กล่าวได้ว่าทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์แรกที่เสด็จเยี่ยมพุทธศาสนิกชนครบทุกจังหวัด และไม่ว่าจะเสด็จไปจังหวัดใด สิ่งที่ทรงให้ความสำคัญอันดับแรก คือ การศึกษา แต่ละปีจะทรงใช้งบประมาณส่วนพระองค์ช่วยเกื้อกูลเด็กนักเรียนเป็นจำนวนไม่น้อย

เด็กบางคนไม่มีเงินและไม่มีที่เรียน พระองค์จะทรงรับไว้อุปการะเสมอ

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ชื่อว่าเป็นพระ ธรรมกถึกที่เทศนาด้วยเสียงอันแจ่มใส ชัดเจน ได้จังหวะจะโคน และเรียบเรียงพระธรรมเทศนาด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย

ในด้านพระนิพนธ์ ทรงได้รับการยกย่องในความเชี่ยวชาญ มีพระปรีชาในการใช้ภาษาและใช้คำ ทรงสดับทรงอ่านคำประพันธ์อันเป็นวรรณคดีของชาติ จึงทรงโปรดการกวีนิพนธ์และเรียบเรียงพระธรรมเทศนา บันทึกข้อความและบทประพันธ์ต่างๆ ร้อยแก้วและร้อยกรองบทความต่างๆ

ที่สำคัญ คือ ทรงแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก เพื่อให้ง่ายต่อการอ่านและทำความเข้าใจ ซึ่งนับเป็นประโยชน์แก่เยาวชนอย่างยิ่ง

ปี พ.ศ.2531 ในงานฉลองพระชันษาครบ 90 ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงถวายพัดยศพิเศษเป็นพัดแฉกงาประดับพลอย ซึ่งพระราชทานเฉพาะเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายธรรมยุตที่เป็นพระ ราชวงค์ชั้นผู้ใหญ่ และพัดรัตนาภรณ์ ภปร.ชั้น 1 ซึ่งเป็นพัดประจำรัชกาลแด่พระองค์

หลังจากนั้นพระองค์ประชวรด้วยพระปัปผาสะอักเสบ ต่อมาทรงมีภาวะพระหทัยวายจากเส้นโลหิตตีบและกล้ามเนื้อพระหทัยบางส่วนไม่ทำงาน

วันเสาร์ที่ 27 ส.ค.2531 สิ้นพระชนม์ด้วยพระอาการสงบ สิริพระชันษา 90 ปี 5 เดือน 25 วัน

ตามระเบียบของสำนักพระราชวัง จะได้รับพระราชทานพระโกศกุดั่นน้อยทรง พระศพ แต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระเกียรติยศเป็นพระราชทานพระโกศกุดั่นใหญ่

พระราชทานเพลิงวันที่ 18 มี.ค.2532 ณ เมรุหลวง วัดเทพศิรินทราวาส

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน