“พระภาวนาวิศาลเถร” หรือ “หลวงปู่บุญมี โชติปาโล” อดีตเจ้าอาวาสวัดสระประสานสุข (วัดบ้านนาเมือง) ต.ไร่น้อย อ.เมือง จ.อุบลราชธานี พระสายวิปัสสนากัมมัฏฐาน และพระนักพัฒนาที่ชาว เมืองอุบลให้ความเลื่อมใสศรัทธา

เกิดในตระกูล “กุศลคุณ” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 ก.พ.2452 ที่บ้านเลขที่ 136 หมู่ที่ 2 ต.ไร่น้อย อ.เมือง จ.อุบลราชธานี

ในช่วงวัยเยาว์ สำเร็จชั้นประถมปีที่ 4 จากโรงเรียนบ้านนาเมือง อ.เมือง จ.อุบลฯ เมื่อปี พ.ศ.2465

อายุครบ 22 ปี เข้าพิธีอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 1 พ.ค.2474 ตรงกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือ วันวิสาขบูชา โดยมีพระศาสนดิลก (เสน ชิตเสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระมหาสว่าง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์เพ็ง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “โชติปาโล”

มุ่งมั่นศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ.2480 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ตามลำดับ

ด้านการศึกษาพิเศษ ก็ศึกษาอักษรขอมจนอ่านออกเขียนได้ มีความชำนาญในการอ่านหนังสืออักษรธรรมโบราณ อีกทั้งมีความรอบรู้ในเรื่อง “ผญา” หรือภาษิตอีสาน เป็นอย่างยิ่ง ครั้งใดที่ท่านพูดออกมา จะมีภาษิตอีสานแทรกอยู่ในคำสอนนั้นๆ ทุกครั้งไป

เรื่องที่สอนส่วนใหญ่จะเน้นให้รู้ถึงคุณค่าของธรรมะ ให้รู้คุณของบิดามารดาซึ่งท่านเรียกว่าพระแก้ว 2 องค์ ให้กตัญญูและกตเวทีต่อท่าน และสอนให้รู้สึกในพระคุณของแผ่นดิน โดยให้รักและหวงแหนยิ่งชีวิต พร้อมกับให้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในองค์พระประมุขของชาติ

ครั้นเมื่อท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ “พระภาวนาวิศาล” และเป็นเจ้าอาวาสวัดสระประสานสุข ตั้งแต่ปี พ.ศ.2480 จึงเริ่มพัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรืองขึ้น

มีญาติโยมที่เคารพนับถือส่งบุตรหลานมาอุปสมบทและจำพรรษาอยู่กับท่านทุกปี ข้าราชการทหารอากาศที่มีอาณาเขตของสนามบินติดกับวัด ก็มีศรัทธาร่วมอุปสมบทและจำพรรษาอยู่กับท่านมิได้ขาด

คุณลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งของท่าน คือ เป็นพระคามวาสีที่เน้นปฏิปทาแนวทางพระอรัญวาสี เป็นพระบ้าน แต่ยึดแนวทางการปฏิบัติแบบพระป่า

“พระผู้มีแต่ให้” เป็นคำขานยกย่องเกียรติคุณของท่านในหมู่ชาวอีสาน เพราะมีผลงานที่ปรากฏเป็นรูปธรรมนับไม่ถ้วน ด้วยท่านเมตตาบริจาคเงินสนับสนุนโครงการอาหารกลางวันแก่โรงเรียนที่ขาดแคลน และแจกทุนการศึกษานักเรียนยากจนปีละ 20 ทุน

บริจาคโค-กระบือ โดยการไปไถ่ขอซื้อมาจากโรงฆ่าสัตว์มอบให้ชาวนา นำไปเลี้ยงและใช้แรงงานประกอบอาชีพ

บริจาคเสื้อผ้า อาหารแห้งให้แก่ศูนย์ชาวเขาแม่ฟ้าหลวง ตลอดจนอุปกรณ์การเรียนแก่โรงเรียนชาวเขาต่างๆ

บริจาคเครื่องมือแพทย์ให้แก่โรงเรียน และโรงพยาบาลหลายแห่ง เช่น ร.พ.สรรพสิทธิประสงค์ และอำเภอใน จ.อุบลราชธานี, ร.พ.จังหวัดศรีสะเกษทุกอำเภอ, ร.พ.จังหวัดเชียงใหม่, ร.พ.น้ำยืน, ร.พ.เขมราฐ ฯลฯ

ทั้งยังได้ให้ทุนทรัพย์ และเป็นประธานจัดสร้าง บูรณะถาวรวัตถุ และศาสนวัตถุมากมาย อาทิ สร้างพระใหญ่ที่เขาพระงามร่วมกับพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) สร้างพระนาคปรกร่วมกับพ่อท่านลี ที่วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ ฯลฯ

ส่วนการสร้างวัด กล่าวได้ว่าแทบทุกอำเภอในเมืองอุบลด้วยสังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยง หลวงปู่บุญมีมีอาการอาพาธด้วยโรคปอดอักเสบ เกิดโรคแทรกซ้อน ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค.2546 ประกอบกับสังขารอันชราภาพมากแล้ว คณะแพทย์ตรวจอาการแล้วลงความเห็นว่า ควรให้หลวงปู่กลับมาพักรักษาตัวที่กุฏิวัดสระประสานสุขต่อไป โดยมีการส่งแพทย์และพยาบาลไปดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด

กระทั่งเมื่อวันศุกร์ที่ 4 มิ.ย.2547 เวลา 09.00น. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชา ทินัดดามาตุ เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ เข้ากราบนมัสการเยี่ยมอาการอาพาธที่วัดสระประสานสุข

ทรงเฝ้าดูอย่างใกล้ชิดโดยไม่ถือพระองค์นานกว่า 2 ชั่วโมง ระหว่างนั้นมีพระปฏิสันถารสอบถามถึงอาการอาพาธเป็นระยะๆ

จากนั้นเวลา 11.40 น. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ เสด็จไปทรงประกอบพระภารกิจเป็นการส่วนพระองศ์ แต่คล้อยหลังได้เพียง 5 นาที คือ เมื่อเวลา 11.45 น. หลวงปู่บุญมีถึงแก่มรณภาพด้วยอาการอันสงบ สิริอายุ 95 พรรษา 73

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน