พระพุทธไสยาสน์ วัดคูหาภิมุข

 

“วัดคูหาภิมุข” หรือ “วัดหน้าถ้ำ” ต.หน้าถ้ำ อ.เมือง จ.ยะลา วัดเก่าแก่โบราณของจังหวัด โดยชาวบ้านได้ขออนุญาตต่อพระยายะลาสร้างวัดขึ้นบริเวณริมเขาหน้าถ้ำ เพื่อใช้เป็นสถานที่ในการประกอบศาสนพิธี ในปีพ.ศ.2390 ชื่อ “วัดหน้าถ้ำ” ต่อมาเปลี่ยนเป็น “วัดคูหาภิมุข” นับเป็นหนึ่งใน 3 ปูชนียสถานสำคัญของภาคใต้

ซึ่งประกอบด้วย พระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช และพระบรมธาตุไชยาที่สุราษฎร์ธานี อันแสดงถึงความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาในแถบนี้มาตั้งแต่สมัยอาณาจักรศรีวิชัย กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มี.ค.2478

ปูชนียวัตถุสำคัญ โดดเด่นและศักดิ์สิทธิ์ คือ พระพุทธไสยาสน์โบราณ ซึ่งประชาชนทั่วไปเรียกว่าพระนอน วัดคูหาภิมุข หรือ พระนอน วัดหน้าถ้ำ ซึ่งประดิษฐานภายในถ้ำที่มีลักษณะคล้ายห้องโถงใหญ่ มีปล่องที่เพดานถ้ำยามแสงแดดส่องลงมาดูสวยงามมาก เชื่อกันว่าผู้มากราบสักการะขอพรมักได้ผลสำเร็จสมปรารถนาเสมอ ทั้งยังเป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่ที่สุดองค์หนึ่งของไทย จากหลักฐานประวัติความเป็นมาอันยาวนานตั้งแต่ครั้งราชอาณาจักรศรีวิชัยเจริญรุ่งเรือง

พุทธลักษณะเป็นพระพุทธไสยาสน์ พุทธศิลปะสมัยศรีวิชัย ความยาว 81 ฟุต 1 นิ้ว รอบองค์พระประมาณ 35 ฟุต พระบาททั้งสองซ้อนกันสูงประมาณ 10 ฟุต เดิมองค์พระพุทธปฏิมาปั้นด้วยดินดิบ มีไม้ไผ่สานเป็นโครง ลักษณะกลวง สามารถเดินลอดเข้าไปในองค์พระได้ ต่อมาเกิดชำรุดเสียหายจากน้ำบนเพดานถ้ำหยดลงมาถูกพระอุระทะลุ เจ้าอาวาสสมัยนั้นจึงบูรณะ โดยการผูกเหล็กประสานไว้ข้างใน แล้วโบกปูนทับหุ้มไว้ภายนอกในปีพ.ศ.2464

มีลักษณะพิเศษต่างไปจากพระนอนองค์อื่น คือ มีพญานาคแผ่พังพานอยู่เหนือเศียร ทำให้มีผู้สันนิษฐานว่า เดิมอาจจะเป็นเทวรูป ‘พระนารายณ์บรรทมสินธุ์’ ตามศาสนาพราหมณ์ ต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาเผยแผ่เข้ามาจึงได้ดัดแปลงให้เป็น ‘พระพุทธไสยาสน์’ ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

วัดคูหาภิมุขนี้ยังเป็นที่ตั้งของ “พิพิธภัณฑ์ศรีวิชัย” ซึ่งมีวัตถุโบราณที่ขุดค้นได้จากถ้ำต่างๆ ในตำบลหน้าถ้ำ อันได้แก่ ‘บริเวณภูเขากำปั่น’ กรมศิลปากรค้นพบพระพิมพ์ดินดิบ สมัยศรีวิชัย สถูป เม็ดพระศก อิฐฐานพระพุทธรูป ขวานหินขัด และบริเวณสนามบินท่าสาป ได้ค้นพบโคกอิฐ เนินดิน ซากกำแพงเมืองโบราณ เครื่องถ้วยชาม เทวรูปพระนารายณ์สำริด และพระพุทธรูปสมัยศรีวิชัย สมัยสุโขทัย และสมัยอู่ทอง เป็นต้น

ส่วน ‘บริเวณถ้ำคนโท’ พบภาพสลักเป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นรูปนูนต่ำในแผ่นหิน 3 องค์ มีทั้งที่สมบูรณ์และชำรุดบ้าง และพระพุทธรูปสำริดอีกจำนวนมาก เป็นต้น ซึ่ง ผู้ค้นพบได้นำมาถวาย ทางวัดจึงจัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ขึ้น เพื่ออนุรักษ์ไว้ซึ่งปูชนียวัตถุโบราณให้คงอยู่ โดยจากบันทึกของนักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ และนักวิชาการที่ลงพื้นที่ตรวจสอบ ทำให้ทราบว่าพื้นที่ในบริเวณนี้เคยเป็นแหล่งชุมชนโบราณมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และพัฒนาเรื่อยมาจนเข้าสู่สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์

“วัดคูหาภิมุข” หรือ “วัดหน้าถ้ำ” และ “พระพุทธไสยาสน์” ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญทางพระพุทธศาสนาและโบราณสถานในลำดับต้นๆ ของจังหวัดยะลา ที่พุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศแวะเวียนเข้าชมความงดงามภายในอาณาบริเวณ กราบสักการบูชาพระพุทธไสยาสน์ และเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์อันแสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองในอดีตของดินแดนแห่งนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน