พระเทพวิสุทธิคุณ วัดบุพพาราม เชียงใหม่

 

 

พระเทพวิสุทธิคุณ (กุศล คันธวโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดบุพพาราม อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ เป็นที่เคารพนับถือ มีบทบาทและผลงานเพื่อมวลชนโดยแท้

นามเดิมคือ “กุศล” เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของ นายบุญมี มณีรัตน์ และเจ้าแม่ศรีนวล ณ น่าน เกิดเมื่อวันที่ 2 พ.ย.2468 ที่บ้านหมู่ที่ 1 ต.แม่สะเรียง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

อายุ 12 ปี บรรพชา เมื่อวันที่ 12 มี.ค.2480 ณ วัดศรีบุญเรือง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน พระครูอนุสรณ์ศาสนเกียรติ วัดศรีบุญเรือง เป็นพระอุปัชฌาย์

อายุ 20 ปี เข้าอุปสมบทที่วัดเชียงมั่น อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2488 มี เจ้าอธิการหมวก สุภาโร เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการอินตา อินท จักโก วัดล่ามช้าง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอินถา นารโท วัดเชียงมั่น เป็นพระอนุสาวนาจารย์

พ.ศ.2495 สอบไล่ได้นักธรรมเอก จากสำนักเรียนวัดพันอ้น อ.เมือง จ.เชียงใหม่

การศึกษาพิเศษ วิชาลูกคิด พิมพ์ดีด และการบัญชี และมีความชำนาญการด้านนวกรรม สถาปัตยกรรมล้านนา นอกจากนี้ ยังมีความเป็นนักประพันธ์ โดยเขียนหนังสือ บทกลอน กวี คติธรรมคำสอน ที่ไพเราะน่าฟังไว้จำนวนมาก

พระเทพวิสุทธิคุณ นับเป็นพระสังฆาธิการรูปหนึ่งซึ่งใส่ใจและทรงความรู้ ทั้งงานปกครอง ศาสนศึกษา ศึกษา เผยแผ่ สาธารณูปการ แต่ที่โดดเด่นที่สุด คือ งานด้านสาธารณสงเคราะห์

เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอดอยสะเก็ด ท่านจัดตั้งศูนย์ศาสนสงเคราะห์ชุมชน พัฒนาชนบท อ.ดอยสะเก็ดขึ้น โดยอนุญาตให้ใช้สถานที่ของวัดต่างๆ ในเขตปกครอง ตั้งหน่วยสงเคราะห์บริการจัดอบรมประชาชน

โดยให้เจ้าอาวาสแต่ละวัดเป็นที่ปรึกษาจัดอบรมวิชาชีพให้ประชาชน และเยาวชนที่มีความรู้น้อย อาทิ วิชาการเกษตร, ทอผ้า, ตัดเย็บเสื้อผ้า, ประดิษฐ์ดอกไม้, โภชนาการการถนอมอาหาร, ช่างยนต์เล็ก-ใหญ่

จัดตั้งธนาคารข้าว ธนาคารโค-กระบือ แก่ประชาชนที่ยากจน, จัดตั้งศูนย์อบรมเด็กก่อนวัยเรียนต่างๆ ในเขตปกครอง

ตั้งโครงการร้านสหกรณ์รวมใจ เพื่อระดมความคิดและรวมทุนจากประชาชนในหมู่บ้าน จัดตั้งกองทุนสหกรณ์หมู่บ้าน โดยใช้สถานที่วัดเป็นที่ตั้งสหกรณ์ในรูปแบบ “สหกรณ์สังฆพัฒนา”

ตั้งกองทุนสงเคราะห์การศึกษาแก่เด็กนักเรียนอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา แก่โรงเรียนต่างๆ ในเขตปกครอง

ฤดูหนาว ท่านจัดเครื่องอุปโภคบริโภค อาทิ ข้าวสารอาหารแห้ง เสื้อผ้า ผ้าห่มเครื่องกันหนาวไปมอบให้เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ตามแนวชายแดน และประชาชนในถิ่นทุรกันดารเป็นประจำทุกปี ตลอดมาจนปัจจุบัน

ทั้งยังจัดหาหนังสือและยาสามัญประจำบ้านมอบให้แก่ศาลารวมใจต่างๆ ให้บริการแก่ประชาชน ระดมปัจจัยส่วนตัวจัดสร้างสำนักสงฆ์ สถานีอนามัย สาธารณสุขชุมชน ป้อมยามตำรวจ ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังจัดตั้งศูนย์เผยแผ่ธรรม จ.เชียงใหม่ ส่งพระภิกษุ-สามเณรเปรียญเข้าไปอบรมศีลธรรมตามสถานศึกษาต่างๆ ใน จ.เชียงใหม่ ฯลฯ

ลำดับงานปกครอง พ.ศ.2499 เป็นเจ้าอาวาสวัดบุพพาราม พ.ศ.2519 เป็นเจ้าคณะอำเภอดอยสะเก็ด พ.ศ.2530 เป็นรองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ.2542 เป็นเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่

พ.ศ.2552 เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2501 เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นตรี ที่ พระครูมงคลศีลวงศ์ พ.ศ.2510 เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นโท ในราชทินนามเดิม พ.ศ.2517 เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นเอก ในราชทินนามเดิม

พ.ศ.2520 เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะอำเภอชั้นพิเศษที่ พระครูมงคลศีลวงศ์ พ.ศ.2530 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระอุดมกิตติมงคล

พ.ศ.2540 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชพุทธิญาณ

พ.ศ.2546 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพวิสุทธิคุณ

จากผลงานสำคัญหลากหลาย ทำให้ท่านได้รับประกาศเกียรติคุณยกย่องมากมาย อาทิ โครงการ แผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง และช่วยกิจกรรมโครงการหลวง ต.ป่าเมี่ยง อ.ดอยสะเก็ด และศูนย์พัฒนาห้วยฮ่องไคร้

พ.ศ.2532 สำนักงานศึกษาธิการ จ.เชียงใหม่ ถวายโล่เชิดชูเกียรติคุณด้านส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม

พ.ศ.2533 รับพระราชทานเสาเสมาธรรมจักรทองคำ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะบุคคลดีเด่นด้านการพัฒนาชุมชน โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา

ด้วยสังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยง เมื่อวันที่ 6 เม.ย.2559 ละสังขารภายในกุฏิวัดบุพพาราม

สิริอายุ 90 ปี พรรษา 70

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน