พระครูพิทักษ์นันทคุณ วัดอรัญวาสเมืองน่าน

คอลัมน์ : อริยะโลกที่ 6

พระครูพิทักษ์นันทคุณ วัดอรัญวาสเมืองน่าน – เมืองน่าน เป็นเมืองที่ปิดล้อมด้วยขุนเขาและป่าทึบ แต่ปัจจุบันป่าไม้ถูกตัดทำลาย หลายชุมชนร่วมต่อสู้รักษาได้ และอีกหลายชุมชนได้เรียนรู้พิษภัยจากการสูญเสียป่ารอบชุมชน จึงเริ่มหันมาอนุรักษ์ป่าประยุกต์พิธีกรรมความเชื่อทางศาสนา

การบวชต้นไม้ (พญาไม้) การทอดผ้าป่าต้นไม้สู่ชุมชนการสืบชะตาน้ำ-ป่า เป็นกุศโลบายสร้างความอุดมสมบูรณ์กลับคืนสู่ป่าเขา สู่ขุนน้ำลำห้วยต่างๆ อีกครั้งหนึ่ง

หนึ่งในคณะที่เอาจริงเอาจังกับการนี้เป็นอย่างยิ่งคือกลุ่ม ฮักเมืองน่าน มี “พระครูพิทักษ์นันทคุณ” (สงวน จารุวัณโณ) เจ้าอาวาสวัดอรัญวาส ต.ในเวียง อ.เมือง จ.น่าน เป็นประธาน

พระครูพิทักษ์นันทคุณ วัดอรัญวาสเมืองน่าน

“พระครูพิทักษ์นันทคุณ” (สงวน จารุวัณโณ)

เป็นชาวบ้านกิ่วม่วง ต.ดู่พงษ์ อ.สันติสุข จ.น่าน มีนามเดิมว่า สงวน พันธ์ชา เกิดวันที่ 25 พ.ย.2501 เป็นบุตรของ นายมา พันธ์ชา อาชีพเป็นพรานป่าล่าสัตว์ และทำการเกษตรพื้นที่สูง

ชีวิตในวัยเด็ก เติบโตในสภาพแวดล้อมของภูเขาป่าไม้ และความสมบูรณ์ของพืชพรรณ-สัตว์ป่า และมักติดตามพ่อเข้าป่าล่าสัตว์อยู่เสมอ

อยู่มาวันหนึ่ง พ่อไปป่ายิงค่างแม่ลูกอ่อนตกลงมาจากยอดไม้ เมื่อมาถึงบ้านก็จัดการลอกหนังค่างตัวแม่เอาออกไปตากแดดที่หน้าบ้าน ส่วนลูกค่างจับขังไว้ในกรง

ลูกค่างไม่ยอมกินอาหารเอาแต่ร้องอยู่ตลอดเวลา ด้วยความสงสารท่านจึงปล่อยออกจากกรง ทันทีที่เป็นอิสระลูกค่างกลับวิ่งไปกอดจูบหนังแม่ค่างที่ตากเอาไว้ เห็นแล้วรู้สึกหดหู่ใจ อยากบอกพ่อให้เลิกล่าสัตว์ก็ทำไม่ได้ เพราะครอบครัวอยู่ได้ด้วยอาชีพนี้

ภาพติดอยู่ในสำนึกและความทรงจำตลอดมา ทำให้ไม่อยากเบียดเบียนให้ชีวิตใดเดือดร้อน

เมื่อยังเป็นเด็ก คณะพระธรรมทูตจะเวียนไปในหมู่บ้านปีละ 2 หน ชอบตามแม่ไปฟังธรรมแล้วนำมาเล่าให้ญาติๆ ฟังต่อที่บ้าน จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ก็ถวายตัวเป็นศิษย์ที่วัดดอนใหม่ ต.พงษ์ อ.แม่จริม จ.น่าน

ในปี พ.ศ.2514 บวชเป็นสามเณร จากนั้นจึงได้เดินทางกลับมาอยู่วัดดู่พงษ์ เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรมชั้นตรี และจบนักธรรมชั้นเอกใน 3 ปี ต่อมาเมื่ออายุได้ 17 ปี ช่วยเป็นครูสอนนักธรรมชั้นตรีและชั้นโทที่โรงเรียนดู่พงษ์ ระหว่างนี้ชาวบ้านกิ่วม่วงได้นิมนต์ให้กลับมาอยู่บ้านเกิดโดยมอบที่ดินให้สร้างอาศรม

เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2521 ณ วัดป่าอ้อย ต.ดู่พงษ์ มีพระครูนันทรัตนญาณ เจ้าคณะอำเภอเมืองน่าน เป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.2522 จำพรรษาอยู่ที่วัดอรัญญาวาส ต.ในเวียง อ.เมืองน่าน เพื่อศึกษาปริยัติธรรมบาลีจนสอบได้ประโยค 1-2 ที่สำนักเรียนวัดพญาภู ต.เวียงใต้ อ.เมืองน่าน

ในปี พ.ศ.2525 ดำรงตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาส แทนเจ้าอาวาสที่มรณภาพ และไม่นานนักก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระฐานานุกรม ตำแหน่งที่ พระปลัดสงวน จารุวัณโณ และตำแหน่งเจ้าคณะตำบลท่าน้าวในปีเดียวกัน

พ.ศ.2530 บ้านกิ่วม่วงเกิดภาวะขาดแคลนน้ำเป็นเวลาร่วมเดือน ถึงขนาดต้องขอให้รถน้ำจากอำเภอนำน้ำมาส่ง เพราะป่าที่หมดไป ท่านจึงขอให้ชาวบ้านรักษาต้นไม้ที่เหลือ ไม่ไปตัดฟัน

อีกทั้งยังจัดแบ่งหมวดหมู่ความรับผิดชอบป่า ทั้งออกกฎระเบียบว่าหากมีผู้ตัดไม้ จะปรับต้นละ 10-200 บาท รวมทั้งของกลางและเลื่อยตัดไม้ไว้เป็นสมบัติกลาง

ในช่วงต้นชาวบ้านบางคนเกิดความไม่เข้าใจ หาว่าท่านไปเบียดเบียนที่ทำกิน จึงไม่ยอมทำตามและต่อต้าน ท่านก็ใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ อาศัยการเทศน์และพูดชี้แจงบ่อยๆ จนสร้างความเข้าใจได้ในที่สุด และบ้านกิ่วม่วง กลายเป็นหมู่บ้านป่าชุมชน หมู่บ้านแรกในจังหวัดน่าน

นอกจากนี้ ยังใช้กุศโลบายต่างๆ มาเพื่อการอนุรักษ์ป่า อาทิ พิธีบวชต้นไม้ และนำเอาพระพุทธรูปไปเป็นประธานป่าในเขตหวงห้าม สำหรับชาวบ้านทั่วไปที่ยังนับถือผีอยู่ก็เอาศาลพระภูมิมาตั้งไว้คู่กันด้วย

ดังภาษิตที่ว่า “พระดี ผีดุ ช่วยกันรักษาป่า”

นับแต่เริ่มพิธีกรรมบวชป่าครั้งแรกที่บ้านกิ่วม่วงในเดือนพฤษภาคม 2533 ป่าบริเวณนั้นก็ไม่ค่อยมีคนเข้าตัดฟันต้นไม้

พ.ศ.2534 พิธีกรรมบวชป่าก็ขยายครอบคลุมพื้นที่ป่าขุนน้ำพงษ์นับแสนไร่

วันที่ 5 ธ.ค.2535 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบลชั้นตรี ที่พระครูพิทักษ์นันทคุณ

พ.ศ.2536 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดอรัญญาวาส

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน