อริยะโลกที่ 6 : พระธรรมวรนายก วัดพระนารายณ์มหาราช

พระธรรมวรนายก “พระธรรมวรนายก” (โอภาส นิรุตติเมธี) พระเถระชั้นผู้ใหญ่อีกรูปหนึ่ง ที่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธา

ปัจจุบัน อายุ 84 ปี พรรษา 64 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา และที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา

นามเดิม โอภาส ถือกำเนิดในตระกูล “โรจนฉิมพลี” เมื่อวันที่ 5 ม.ค.2477 ที่บ้านเลขที่ 120 บ้านงิ้ว
หมู่ที่ 3 ต.งิ้ว อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา บิดา-มารดาชื่อ นายปั่นและนางมา

เมื่ออายุ 12 ปี บรรพชาที่วัดตะกรุด ต.งิ้ว อ.ปักธงชัย

กระทั่งวันที่ 11 ก.ค.2498 เข้าพิธีอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดทองนพคุณ เขตคลองสาน กรุงเทพฯ
มีพระสังวรวิมล (ชุ่ม) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระภัทรมุนี (อิ๋น ภัทรมุนี) เป็นพระกรรมวาจาจารย์
และพระกิตติสารโสภณ (กี มารชิโน) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ซึ่งพระเถระทั้งสามล้วนเป็นปราชญ์ในวงการพระพุทธศาสนา

ได้รับฉายานาม นิรุตติเมธี อันมีความหมายว่า ผู้ชำนาญด้านภาษา

ศึกษาพระธรรมวินัยจนจบนักธรรมชั้นเอก และเปรียญธรรม 6 ประโยค

ไม่เพียงหลักแหลมแต่เฉพาะในด้านปัญญา แต่งานปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นช่างไม้-งานปูน ก็สามารถทำงานนวกรรมได้ไม่มีที่ติ

ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2500 เป็นเจ้าอาวาสวัดพรหมราช แต่เพิ่งมารับตราตั้งอย่างเป็นทางการ เมื่อปี พ.ศ.2517 พ.ศ.2512 เป็นเจ้าคณะอำเภอปักธงชัย พ.ศ.2519 เป็นเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา

พ.ศ.2535 เป็นเจ้าอาวาสวัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2512 เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะอำเภอชั้นเอกที่ พระครูธวัชชัยมุนี พ.ศ.2518 เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอชั้นพิเศษ ในราชทินนามเดิม

พ.ศ.2520 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญที่ พระสีหราชสมาจารมุนี พ.ศ.2530 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสีมาภรณ์

พ.ศ.2537 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพสีมาภรณ์

พ.ศ.2545 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมวรนายก

ความเคร่งครัดของท่านเป็นที่รับรู้เลื่องลือ มีกฎสำหรับพระภิกษุ-สามเณรและศิษย์วัด ทั้งที่เป็นข้อห้ามและข้อปฏิบัติ อาทิ ผู้จะเข้ามาอยู่วัดต้องมีผู้ปกครองนำมาฝาก ต้องเคารพเชื่อฟังคำสั่งสอนของ
เจ้าอาวาส เจ้าคณะปกครอง ต้องใส่ใจปฏิบัติกิจวัตรร่วมกัน พระภิกษุ-สามเณรต้องออกบิณฑบาต ทำวัตร ปฏิบัติธรรม

ศิษย์วัดทุกคนต้องอยู่เพื่อการศึกษาเท่านั้น เมื่อจบมีการงานทำแล้วต้องออกไปจากวัด และตลอดเวลาที่อยู่ในวัดต้องเข้ารับการศึกษาอบรมศีลธรรมและปฏิบัติธรรมด้วย

อีกทั้งใส่ใจยิ่งในด้านการศึกษา เริ่มจากเป็นครูสอนพระปริยัติธรรม สำนักเรียนวัดทองนพคุณ เมื่อปี 2497 แล้วกลับไปพัฒนาบ้านเกิด ทั้งสำนักศาสนศึกษาวัดบึง วัดตะกุด วัดวังวารีวน วัดพรหมมหาราช จนกระทั่งเป็นเจ้าสำนักเรียนจังหวัด

เป็นประธานกรรมการสอบธรรมบาลีสนามหลวง เป็นวิทยากรโรงเรียนพระสังฆา ธิการ ประธานสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครราชสีมาด้วย

ส่งเสริมและอุดหนุนศิษย์ด้วยการให้รางวัลทุนการศึกษา ถวายนิตยภัตรครูสอน อุปถัมภ์ ดูแลทุกข์สุขของพระเณร แนะแนว และผลักดันให้เรียนในสถาบันชั้นสูงทั้งในและต่างประเทศ

วิธีการอบรมคนทำอย่างง่ายๆ ยึดหลักพุทธพจน์ “นิคคัณเห นิคคหารหัง ปัคคัณเห ปัคคหารหัง” ชมผู้ที่ควรชม ข่มผู้ที่ควรข่ม ใครประพฤติผิดนอกลู่นอกทางท่านตำหนิติเตียน ทั้งดุทั้งด่าว่ากล่าวต่อหน้าที่ประชุม แต่ไม่มีการว่าลับหลัง

ด้านนวกรรมและบูรณปฏิสังขรณ์ ท่านก็มีภูมิรู้และชำนาญการทั้งงานช่างและงานปูน มีหลายวัดที่อยู่ในความอุปถัมภ์โดยเฉพาะที่ อ.ปักธงชัย ซึ่งเป็นถิ่นเกิด

กับมหาจุฬาฯวิทยาเขตนครราชสีมานั้น ได้ฝากผลงานไว้มากมาย ทั้งสร้างกุฏิไม้ทรงไทยประยุกต์ 6 หลัง ศาลาการเปรียญไม้ทรงไทย ศาลาปฏิสันถาร ห้องสมุด อุโบสถทรงไทย และศูนย์วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ที่เป็นไม้ทรงไทยประยุกต์ อาคารปฏิบัติธรรม สร้างลานโพธิ์เฉลิม พระเกียรติ สถูปเจดีย์ย่อไม้ อาคารพิพิธภัณฑ์ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฯ ปลูกสวนสมุนไพรและไม้หายาก เนื้อที่ 8 ไร่

ยิ่งงานการศึกษาสงเคราะห์ก็ไม่แพ้กัน ทั้งสร้าง ทั้งแจก ทั้งช่วยเหลือ ทั้งตั้งทุนมูลนิธิ ทุนผ้าป่าการศึกษา ทำอย่างต่อเนื่องให้กับโรงเรียนต่างๆ ทั่วอำเภอปักธงชัย

นอกจากนี้ ยังระดมทุนสร้างถนน ต่อน้ำประปา จัดซื้อที่ดิน ตั้งมูลนิธิปักธงชัยประชานิรมิต ตั้งศูนย์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นปักธงชัย เพื่อแสดงภูมิปัญญาท้องถิ่น และเป็นพิพิธภัณฑ์ของเก่าปักธงชัย

 

อ่าน “อริยะโลกที่ 6” เรื่องอื่นๆ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน