ชมรมพระเครื่อง : พระปิดตาพิชัย

 

พระปิดตาพิชัย – สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน พระปิดตาพิชัย ประวัติความเป็นมาก็ยังไม่มีหลักฐานบันทึกหรือการพบที่ กรุพระเจดีย์ของวัดใด เนื่องจากพบกระจัดกระจายพร้อมกับพระกริ่งคลองตะเคียน ตามบริเวณทุ่งนาที่แถวคลองตะเคียน

และบริเวณที่พบนั้นเป็นโคกดินยังพบเศษอิฐเก่าอยู่ปะปนในบริเวณนั้นด้วย สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวัดเก่าเล็กๆ ที่เสื่อมสภาพลงภายหลังจากการเสียกรุงครั้งที่สอง พระทั้งสองแบบนี้มีเนื้อหาและลักษณะการจารที่องค์พระแบบเดียวกัน จึงทำให้สันนิษฐานว่า ผู้ที่สร้างน่าจะเป็นคนเดียวกัน และสร้างในคราวเดียวกัน

ชมรมพระเครื่อง : พระปิดตาพิชัย

ก็มีคำถามอยู่เรื่องหนึ่งว่าทำไม จึงตั้งชื่อพระปิดตาแบบนี้ว่า พระปิดตาพิชัย ทำไมไม่ตั้งชื่อว่าพระปิดตาคลองตะเคียน หรือพระยาพิชัยดาบหักมีส่วนในการสร้างพระไว้เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการสู้รบกับพม่า แต่พระกริ่งคลองตะเคียนทำไมไม่ตั้งชื่อว่า พระกริ่งพิชัยด้วยเล่า เรื่องนี้ก็คงต้องค้นคว้าศึกษาต่อไปนะครับ

ครับเราลองมาดูประวัติของท่านพระยาพิชัยดาบหักโดยย่อกันสักหน่อยนะครับ ท่านเป็นชาวเมืองพิชัยโดยกำเนิด ซึ่งท่านได้รับราชการทำการกู้ชาติ สร้างวีรกรรมอย่างห้าวหาญในการกอบกู้อิสรภาพฐานะทหารเอกคู่พระทัยของพระเจ้ากรุงธนบุรี จนมีความดีความชอบได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าเมืองพิชัย

ครั้นถึงปี พ.ศ.2314 เมื่อสมเด็จพระเจ้า ตากสินมหาราชเพิ่งเสร็จศึกทางด้านเขมรลงมาใหม่ๆ กองทัพพม่าที่ตั้งอยู่เชียงใหม่ได้รุกดินแดนทางเหนือลงมาอีกครั้ง จนถึงกับตั้งล้อมเมืองพิชัยเอาไว้ (เมืองพิชัยเดิมคือเมืองอุตรดิตถ์ปัจจุบัน) พระยาพิชัยได้จัดการป้องกันเมืองอย่างเต็มความสามารถ และเจ้าพระยาสุรีสีห์ผู้สำเร็จราชการเมืองพิษณุโลก ได้ยกกองทัพขึ้นไปช่วยการรบในครั้งนั้น ไทยกับพม่าได้ต่อสู้โรมรันกันถึงขั้นตะลุมบอน กองทัพพม่ามิอาจจะทนทานได้ก็แตกทัพกลับไป พระยาพิชัยท่านได้รบอย่างสุดกำลังด้วยดาบสองมือ ได้ห้ำหั่นบั่นคอข้าศึกเสียเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งดาบในมือขวาถึงกับหักสะบั้น จึงได้รับสมญานามว่า “พระยาพิชัยดาบหัก” เป็นเกียรติประวัติสืบมา ด้วยคุณความดีและวีรกรรมของท่านชาวจังหวัดอุตรดิตถ์จึงพร้อมใจกันจัดสร้างอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ขึ้นไว้เป็นอนุสรณ์เพื่ออนุชนรุ่นหลังจะได้จดจำสืบต่อไป และได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ.2513

จะเป็นด้วยชื่อเสียงเกียรติคุณของท่าน ซึ่งเป็นนักรบที่กล้าหาญกรำศึกมาอย่างโชกโชน มีน้ำใจเด็ดเดี่ยว ซึ่งการรบพุ่งในสมัยนั้นถึงขั้นประชิดตัวกันเข้าทำนองมึงทีกูที ดังนั้นในสมัยก่อนเมื่อทำการศึก ก็ต้องรบประชิดติดตัวกัน จะอาศัยกำลังฝีมือแต่ประการเดียวเห็นทีจะเอาตัวรอดยาก เข้าทำนองสาดน้ำรดกันย่อมจะต้องเปียกมากหรือเปียกน้อยด้วยกันทั้งคู่ แต่ท่านพระยาพิชัยท่านก็ปลอดภัยมาโดยตลอด นอกจากท่านจะมีฝีมือเพลงดาบแล้ว ท่านก็คงมีวิชาดี หนังเหนียวเป็นเยี่ยมเช่นกัน แต่ท่านจะอยู่คงด้วยคาถาหรือเครื่องรางอันใดนั้นคงไม่ทราบ

แต่ก็มีพระเครื่องปิดตาของอยุธยาแบบหนึ่ง ที่คนรุ่นเก่าๆ ต่างขนานนามว่า “พระปิดตาพิชัย” สันนิษฐานว่า เมื่อมี ผู้พบพระเครื่องชนิดนี้ และมีประสบการณ์ทางด้านอยู่คง อย่างมากจนเป็นที่ประจักษ์ กล่าวขวัญเล่าลือกันไปทั่วคุ้งน้ำ หลวงพ่อกลั่นวัดพระญาติฯ ท่านยังกล่าวว่า ท่านเองก็ยังเห็นกับตา และยกย่องพระกริ่งคลองตะเคียนและพระปิดตาพิชัยว่า เชื่อถือได้จริง ด้วยสาเหตุนี้กระมังคนโบราณจึงนำชื่อท่านพระยาพิชัยมาเป็นเกียรติในการตั้งชื่อพระเครื่องชนิดนี้ว่า “พระปิดตาพิชัย”

ครับ พระปิดตาพิชัยนั้น ประวัติความเป็นมาถึงผู้สร้างยังไม่ชัดเจนนัก แต่ประสบการณ์ที่ประจักษ์นั้นแน่นอนนัก เป็นที่ยอมรับกันถ้วนหน้าครับ พระปิดตาพิชัยมีทั้งที่เป็นแบบหน้าเดียว สองหน้า สามหน้าและสี่หน้าครับ โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นสีดำสนิท และที่พบเป็นสีออกแดงก็มีบ้างแต่พบน้อยครับ

พระปิดตาพิชัยในปัจจุบันสนนราคาก็ยังไม่สูงมากนักครับ แต่พระแท้ๆ ก็หาไม่ง่าย วันนี้นำรูปพระปิดตาพิชัยมาให้ชมกันครับ

ด้วยความจริงใจ

แทน ท่าพระจันทร์

 

อ่านข่าวพระเครื่องเพิ่มเติม

ชมรมพระเครื่อง : พระปิดตา หลวงปู่นาค

วงการพระสุดสัปดาห์

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน